เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยประสบปัญหาจากพฤติกรรมการขับรถแย่ ๆ ของคนใช้รถใช้ถนนกันอยู่บ้าง ไม่ว่าคุณจะขับเอง เป็นผู้โดยสาร หรือแม้แต่คนเดินเท้า หนึ่งในพฤติกรรมยอดฮิตที่สุดจะทนของคนขับรถแย่ ๆ คือ การไม่เปิดไฟเลี้ยว หรือไฟสัญญาณ รวมถึงการใช้งานแบบแปลก ๆ จนต้องนึกสงสัยว่า “แบบนี้ก็ได้เหรอ” ซึ่งเป็นพฤติกรรมการขับรถที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อผู้อื่นมาก เพราะไม่รู้ว่าคนขับจะเคลื่อนรถไปทางไหนกันแน่ และแน่นอนว่าหลายครั้งเราอาจเคยเห็น เคยได้ยิน หรือแม้แต่เคยลั่นออกมาด้วยตัวเองว่า “ซื้อรถไม่แถมไฟเลี้ยวเหรอ” เป็นปฏิกิริยาตอบโต้การขับขี่แบบนี้ แต่คุณรู้หรือเปล่า ว่าเมื่อก่อนเวลาซื้อรถเขาไม่ได้แถมไฟเลี้ยวจริง ๆ นะ ก็เพราะว่ามันยังไม่มีไฟเลี้ยวยังไงล่ะ
แรกเริ่มเดิมทีไฟเลี้ยวไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาพร้อมรถยนต์ อย่างที่ถูกประกอบมาพร้อมรถทั้งคันเหมือนทุกวันนี้ แต่ถูกคิดค้นขึ้นมาภายหลังอีกหลายสิบปี เคยมีความพยายามในการสร้างยานพาหนะที่เคลื่อนที่ได้เองขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่18 เป็นรถพลังงานไอน้ำ และรถยนต์ไฟฟ้าช่วงต้นศตวรรษที่ 19 แต่ก็ไม่สะดวกในการใช้งานจริง จนรถยนต์เครื่องสันดาปคันแรกถูกคิดค้นขึ้นในปีค.ศ. 1885 โดยวิศวกรชาวเยอรมัน คาร์ล เบนซ์ (Karl Benz) เป็นรถยนต์สามล้อที่เกิดจากการนำเครื่องยนต์ไปใส่ไว้ในรถม้า และได้รับสิทธิบัตรมาในปี 1886 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นรถยนต์ที่เป็นต้นแบบของการสร้างรถต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เวลาต่อมาคนเริ่มใช้รถยนต์มากขึ้นบนท้องถนน แน่นอนว่ามันเกิดปัญหาอย่างการที่ไม่รู้ว่ารถคันหน้า หรือคันที่สวนมาจะไปทางไหน กะจังหวะเบรกจังหวะเร่งกันไม่ถูกเลย เมื่อก่อนเขาก็เลยใช้สัญญาณมือกันเอาครับ จนช่วงต้นของยุค 1900s มีการเข้ามาของ ‘ทราฟฟิเคเตอร์ (Trafficator)’ อุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นก้านติดไว้ที่เสาขอบประตูรถ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการให้สัญญาณของรถไฟ ทราฟฟิเคดตอร์ทำงานด้วยระบบกลไกหรือระบบอัดอากาศ ต้องกดให้เด้งออกมาข้างที่จะเลี้ยว โดยชาวอิตาเลียน อัลเฟรโด บาร์ราคินี (Alfredo Barrachini) ได้ติดไฟหลอดเล็ก ๆ เพิ่มเข้าไปในปี 1908 และในปี 1918 บริษัท เนลลิก มอเตอร์ ซิกนอล (Naillik Motor Signal Company) ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไปเพื่อต่อยอด โดยเจ้าทราฟฟิเคเตอร์นิยมใช้อยู่อีกราว 2 ทศวรรษเลย รวมถึงในรถเต่าของ โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ยุคแรก ๆ อีกด้วย เว้นก็แต่ฟอร์ด (Ford) ที่ดื้ออยู่ เพราะไม่คิดว่ารถจำเป็นต้องติดเครื่องให้สัญญาณเข้าไป รุ่นที่ผลิตในอเมริกาจึงไม่มีทราฟฟิเคเตอร์แถมมาด้วย แต่รุ่นที่ผลิตในเยอรมันนั้นประกอบมาพร้อมจากโรงงาน
ระหว่างนั้นก็มีหลายคนคิดค้นอุปกรณ์อื่น ๆ ขึ้นมา ในปี 1907 หนุ่มชาวอังกฤษชื่อ เพอร์ซี ดักลาส-แฮมิลตัน (Percy Douglas-Hamilton) ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์เป็นก้านไฟให้สัญญาณที่มีลักษณะคล้ายมือขึ้นมา และได้สิทธิบัตรในปี 1909
อีกหนึ่งคนที่พยายามคิดค้นอุปกรณ์ให้สัญญาณการขับรถ คือ นักแสดงสาวดาวรุ่ง ฟลอเรนซ์ ลอว์เรนซ์ (Florence Lawrence) เธอชื่นชอบรถมากและได้คิดค้น ‘ก้านให้สัญญาณอัตโนมัติ’ ขึ้นมาในปี 1914 ติดท้ายบังโคลน ทำงานด้วยปุ่มไฟฟ้า และเธอยังคิดค้นสัญญาณเบรกแบบกลไกขึ้นมาด้วย ซึ่งจะทำงานอัตโนมัติเมื่อแป้นเบรกถูกเหยียบลงไป แต่เธอก็ไม่ได้จดสิทธิบัตรไว้
ในปี 1925 เอ็ดการ์ เอ. วอลซ์ จูเนียร์ (Edgar A. Waltz, Jr.) ได้จดสิทธิบัตรไฟสัญญาณรูปลูกศรและไฟเบรก ฮุบไว้แต่เพียงผู้เดียว หวังบุกตลาดให้ผู้ผลิตรายใหญ่มาซื้อไปติดตั้งรถยนต์ แต่ท้ายที่สุดจนสิทธิบัตรหมดอายุก็ไม่มีใครสนใจเลย แต่ก็นับว่าเป็นอุปกรณ์สมัยใหม่ตัวแรก
ผู้คนก็ยังคงคิดค้นการให้สัญญาณรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป ปี 1929 ออสการ์ เจ. ซิมเลอร์ (Oscar J. Simler) ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ให้สัญญาณคล้าย ๆ กันออกมา มีลูกศรสองข้างและไฟเบรก พร้อมป้ายเขียนว่า “Stop” และได้จดสิทธิบัตร ตัวนี้เริ่มใกล้เคียงกับการในปัจจุบันมากขึ้น
จนช่วงปลาย 30s โจเซฟ เบล (Joseph Bell) ได้คิดค้นและจดสิทธิบัตรอุปกรณ์ไฟกระพริบ และในปี 1939 บูอิค (Buick) แบรนด์รถยนต์สัญชาติอเมริกัน ได้เปิดตัวไฟสัญญาณกระพริบแบบมาตรฐาน พร้อมชื่อสุดเท่อย่าง “Flash-Way Directional Signal” แปลได้ว่า “สัญญาณบอกทางวิบวับ” โดยเริ่มแรกจะมีไฟกระพริบแค่ด้านท้ายของรถ แต่ในปี 1940 ก็ได้เพิ่มไฟสัญญาณเข้าไปที่ไฟหน้าด้วย กลายเป็นมาตรฐานการผลิตในหลายรุ่นของบูอิคและอีกหลายแบรนด์ แต่กับบางแบรนด์อย่าง พอนทิแอค (Pontiac) ฮัดสัน (Hudson) หรือ ดอดจ์ (Dodge) ต้องจ่ายเพิ่มเป็นออปชั่นเสริม ไม่ได้แถมให้นะ
พอหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไฟสัญญาณหรือไฟเลี้ยว เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในอเมริกา และกลายเป็นแฟชั่นที่รถใครไม่มีก็พากันไปติดเพิ่มให้รถดูหรูดูแพงขึ้นมาได้
จนทุกวันนี้ไฟเลี้ยวกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญที่รถทุกคันที่ขับบนถนนต้องมีเพื่อความปลอดภัย และยังคงได้รับการพัฒนาเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เสมอมาไม่ว่าจะเป็นชนิดของหลอดไฟ ฝาครอบ เสียงคลิ๊กไฟเลี้ยวที่มีความโดดเด่นเฉพาะ รูปแบบการกระพริบที่มีความแตกต่างกันในแต่ละรุ่น
จะเห็นได้ว่ากว่าจะมาเป็นไฟเลี้ยวแบบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้ก็ผ่านการพัฒนาและคิดค้นมายาวนาน ตั้งแต่รูปแบบที่ต่างออกไปจนไม่คิดว่าจะออกมาเหมือนในปัจจุบันได้ และในตอนที่มีแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะแถมกันมาให้ใช้ทุกรุ่นอีก ในเมื่อบุคคลเหล่านี้เขาอุตส่าห์ตั้งใจคิดค้นมันขึ้นมาจนใช้งานได้ง่ายดายและผู้ผลิตรถยนต์ก็ใจดีแถมมาให้ทุกคันแล้ว ก็มาช่วยกันใช้ให้คุ้มค่าและให้เกียรติความพยายามของพวกเขาเหล่านี้กันเถอะครับ และที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนด้วย สุดท้ายก็ขอให้ทุกคนขับขี่ปลอดภัย และเดินทางโดยสวัสดิภาพเสมอนะครับ