#มาเก็ทThought ถอดความคิดให้เก็ททุกไอเดียเบื้องหลัง
ผมเพิ่งมีโอกาสไปดูคอนเสิร์ต “ไมโคร The Last ร็อคเล็กเล็ก” ที่อิมแพคอารีน่ามา โดยเฉลี่ยแล้วคนที่มาร่วมงานนี่คือพวกอายุปลาย 30 ขึ้นไป ความทรงจำของผมกับวงไมโครคือเป็นวงแรกที่ผมอดค่าขนมในการไปซื้อเทปอัลบั้ม “เต็มถัง” ที่มีเพลงดังอย่าง เติมน้ำมัน และส้มหล่น
.
การไปงานแบบนี้มันเหมือนเป็นการแชร์ “ความทรงจำร่วม”กับหลายๆคน บางคนอาจมีแฟนคนแรกเพราะเพลงไมโคร บางคนอกหักครั้งแรกก็ฟังเพลงไมโคร หรือบางคนมีเพลงไมโครอยู่ในบางท่วงทำนองของชีวิต คอนเสิร์ตทั้งสองรอบนั้นบัตรขาย sold out ได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ
.
ก่อนหน้านี้สัก 2 เดือนเพิ่งมีปรากฏการณ์ในวงการบันเทิงไทย ก็คือการจับมือกันระหว่างสองค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ อาร์เอส – แกรมมี่ ที่ถ้าย้อนไป20ปีก่อนไม่มีทางเกิดภาพแบบนี้ขึ้นได้ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่มันเกิดแบบนี้เพราะเทคโนโลยีมันเข้ามามีส่วนเปลี่ยนแปลง
.
ลองนึกภาพว่าสมัยก่อนระยะห่างระหว่างเรากับศิลปินนั้นมีค่อนข้างมาก สมมุติคุณอยู่ที่ห่างไกล คุณอาจจะเคยซ้อมเต้นเพลงพี่มอสอยู่ในสวนยางแถวสุราษฎร์ เวลาจะดูรายการเพลงคุณต้องตั้งเวลาเพราะมันไม่สามารถดูย้อนหลังได้ อยากอ่านเรื่องราวคนที่ชอบก็ต้องรอนิตยสารรายเดือน ถ้าซื้อเทปมาฟังอยากฟังเพลงฮิตก็ต้องเอาปากกามาควงๆเพื่อกรอเทป เรื่องนี้มันเกี่ยวกับเรื่อง พื้นที่และเวลา (space and time) ที่แตกต่างกัน
.
แต่ในวันนี้คุณสามารถเข้าถึงศิลปินทีไม่ว่าจะดูผ่านทาง YouTube หรือจะฟังผ่านสตรีมมิ่งเพลงอย่าง Spotify ทุกอย่างดูง่ายไปหมด และเรายังสามารถติดตามเรื่องราวส่วนตัวของพวกเขาได้ทางโซเชียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้นอกจากลดระยะห่าง เข้าถึงได้รวดเร็วแล้ว ยังฟรีเสียด้วย เพราะปัจจุบันคงไม่มีศิลปินใดที่หวังรวยได้จากยอดขายการขายซีดีกันอีกแล้ว ดังนั้นการนับชื่อเสียงผ่านยอดวิว ยอดไลค์และแฮชแท็กจะสร้างมูลค่าให้กับตัวศิลปิน
.
ดังนั้นการจัดคอนเสิร์ตจัดโชว์จึงเป็นการแสวงหารายได้หลักของศิลปิน ไม่เว้นแม้กระทั่งศิลปินที่อาจจะไม่ได้มีผลงานใหม่ให้ชมแล้ว ก็พบว่ามันเป็นโอกาสที่เขาจะได้รายได้ที่ดี และอยู่ในบรรยากาศที่คนที่เคยรักเคยชอบพวกเขาได้กลับมาพบปะอีกครั้ง อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือมุมมองในเชิงประชากรศาสตร์ของประเทศไทย ทำไมถึงพูดเช่นนี้?
.
ยกตัวอย่างให้ชัดสมมุติว่าถ้าบัตรคอนเสิร์ตศิลปินไทยในปัจจุบัน ราคาเริ่มต้นที่ 2000 บาทมันแปลว่ากลุ่มคนที่สามารถสนับสนุนได้ต้องอยู่ในกลุ่มวัยทำงาน ที่มีรายได้ระดับหนึ่งที่สามารถจ่ายเงิน 2000 บาทในระดับที่ไม่เดือดร้อน ก็ต้องประมาณว่ามีรายได้ระดับ 15000 บาทซึ่งเป็นเงินเดือนของวุฒิปริญญาตรีจบใหม่ ที่สามารถจ่ายได้
.
ดังนั้นไม่แปลกใจว่าคอนเสิร์ตรียูเนียนจึงถูกผลิตขึ้นเพื่อมารองรับกลุ่มคนดังกล่าว และถ้าสังเกตจะพบว่ามีการกระจายเก็บในทุกกลุ่มช่วงอายุ ตั้งแต่ยุควัยรุ่น 80 เช่น สาวสาวสาว, วงเดอะพาเลซ หรือ แกรนด์เอ็กซ์ ซึ่งปัจจุบันแฟนคลับกลุ่มนี้คือวัยใกล้เกษียณแล้ว กลุ่มวัยรุ่นยุค 90 สาวกแกรมมี่และอาร์เอส ที่ปัจจุบันเติบโตไปเป็นผู้บริหาร และล่าสุดสดๆร้อนๆเมื่อปลายปีก่อนกับคอนเสิร์ตKamikaze ที่เป็นกลุ่มเพิ่งเข้าสู่วัยตลาดแรงงาน ซึ่งถ้าย้อนไป5ปีก่อน กลุ่มแฟนคลับนี้อาจจะยังอยู่ในวัยมหาวิทยาลัยไม่ได้มีรายได้
.
ดังนั้นเรื่องเหล่านี้ Key success ที่สำคัญก็คือว่าเราต้องรู้สถานะของกลุ่มแฟนคลับเราในปัจจุบัน ว่ามีความพร้อมในเชิงทุนทรัพย์และพฤติกรรมการดูคอนเสิร์ตแบบใดด้วย ไม่แน่ว่าถ้าหากผ่านไปอีก 10 ปีเราอาจจะได้เห็นคอนเสิร์ตรวมตัวของวงอย่าง BNK48 ในช่วงเวลาที่พวกเหล่าเมมเบอร์กลายเป็นแม่คนแล้วก็ได้
.
เพราะความทรงจำนั้นมีค่า และมี “มูลค่า” เสมอ ดังนั้นผู้เห็นโอกาสทางการตลาด คือผู้ที่สามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ได้
ที่มา
https://atime.live/efm/news/4543
https://www.thairath.co.th/entertain/news/2691257
https://www.thairath.co.th/entertain/news/2528395
เขียนโดย : พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ