สินค้าของไทย ที่เมื่อศิลปินและคนดังระดับโลก มีการถือหรือใช้ แม้ไม่ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ แต่ก็ทำให้สินค้าของไทยชิ้นนั้นๆ ได้ถูกพูดถึง และมียอดขายที่ดี
•
ล่าสุด ขนมมะเขือเทศ ยี่ห้อ เอฟเอฟของไทย ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง เมื่อ คิม จีซู สมาชิก Blackpink ชื่นชอบ และโพสต์บนอินสตาแกรมความอร่อยของขนมมะเขือเทศนี้ โดยคิม จีซู มีผู้ติดตามบนไอจีกว่า 73.3 ล้านบัญชี
•
และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พระเอกชื่อดังอย่าง คิม ซอนโฮ จากผลงานเรื่อง Home Town Cha Cha Cha และ Start Up ที่มาจัดแฟนมีตติ้งที่ประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และแบกขนมมะเขือเทศ ยี่ห้อ FF อันโด่งดัง กลับเกาหลีไปด้วยเป็นลัง แสดงถึงความนิยมของขนมมะเขือเทศที่ว่านี้
•
สำหรับ ขนมอบกรอบรสมะเขือเทศ แบรนด์ FF (เอฟ เอฟ) เป็นสินค้าภายใต้ บริษัท แฟชั่นฟู้ด จำกัด เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ด้วยทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท และได้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 70 ล้านบาท เป็น 140 ล้านบาทเมื่อเมษายน 2548 ต่อมาในปี 2549 ได้เพิ่มทุนอีก 70 ล้านบาท เป็น 210 ล้านบาท
•
แฟชั่นฟู้ด เริ่มต้นจากการผลิตขนมขบเคี้ยวประเภทข้าวเกรียบรสต่าง ๆ เปิดตัวสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อปี 2532 โดยแบรนด์ “เอฟเอฟ” เป็นแบรนด์ของขนมอบกรอบ รสมะเขือเทศ และรสพริกหยวก จุดเด่นที่คุณภาพและปริมาณที่เหมะสมกับราคาคุ้นตาคนไทย มีให้เลือกทั้งแบบ 13 กรัม 5 บาท ราคาย่อมเยา รวมทั้งชนิดซอง 20 บาท และแบบ บิ๊พแพ็ค ไซซ์ใหญ่ รวมทั้งยังมีแบรนด์อื่น ๆ อาทิ ตอร์ปิโด (ข้าวเกรียบรสผัก) สามพราน (ข้าวเกรียบรสข้าวโพดปิ้ง)
•
จากนั้น ในปี 2545 แฟชั่นฟู้ด แตกไลน์ธุรกิจสู่การเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ “เอฟเอฟ” ทั้งแบบซอง แบบชาม และแบบแพ็กบรรจุ
•
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของ แฟชั่นฟู้ด ทั้งเอฟเอฟ และแบรนด์อื่น ๆ มีจำหน่ายทั้งในประเทศไทย และส่งออกไปจำหน่ายตามประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา ลาว กัมพูชา
•
เป็นที่น่าสังเกตว่า เอฟเอฟ แทบไม่ได้ทำการตลาดทั้งโฆษณา และสื่อสารการตลาดเหมือนแบรนด์อื่นๆ ทั้งแบรนด์ต่างประเทศและแบรนด์ไทย รวมทั้งแม้แต่ถุงขนม หรือ Packaging Design ที่ไม่เคยเปลี่ยนกว่า 34 ปี และยังสามารถอยู่ในตลาดธุรกิจขนมขบเคี้ยวของไทย ซึ่งในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยประเมินว่ามีมูลค่าตลาดประมาณ 37,500 ล้านบาท
•
มีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ขนมมะเขือเทศของ FF ประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ น่าจะมาจากปัจจัยสำคัญ คือ “ความคุ้มค่า” จากปริมาณและราคา ที่ขนมมะเขือเทศจะให้ปริมาณที่มากกว่า
•
ตามมาด้วย “การกระจายสินค้า” เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายต่อผู้บริโภค ทั้งการค้าแบบดั้งเดิม คือ ร้านโชห่วย ไปจนถึง ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ อย่างร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต โดยแบ่งขนาดให้เหมาะสมกับช่องทางการจำหน่าย เช่น ขนาด 5 บาท จำหน่ายในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-eleven หรือ แพ็กไซส์ขนาดใหญ่ ขายใน “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” และระบบค้าส่ง
•
และ “การไม่เปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์”ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของขนมมะเขือเทศและขนมพริกหยวก โดยใช้สีเงิน ตัดกับสีแดงของมะเขือเทศ และ สีเงิน ตัดกับสีเขียวของพริกหยวก ทำให้สามารถสื่อสารได้ทันทีว่าเป็นขนมรสชาติอะไร และไม่ต้องมีคำอธิบายมาก
•
ส่วนผลประกอบการของ บริษัท แฟชั่นฟู้ด จำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานดังนี้
ปี 2561 รายได้ 871 ล้านบาท กำไร 27 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 898 ล้านบาท กำไรสุทธิ 26 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 939 ล้านบาท กำไร 13 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 935 ล้านบาท กำไร 20 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 953 ล้านบาท ขาดทุน 27 ล้านบาท
•
แม้จะเป็นแบรนด์ขนาดเล็ก ไม่ได้มีการโฆษณา ทุ่มงบการตลาดจำนวนมาก แต่หากมีกลยุทธ์ที่เหมาะสม จุดยืนทางการตลาดที่ชัด รักษาคุณภาพสินค้าและคงเอกลักษณ์แบรนด์ ทำให้เอสเอฟ ยังสามารถแข่งขันและอยู่ในตลาดได้ยาวนาน และหลายคนบอกว่า จำชื่อแบรนด์ไม่ได้ แต่รู้ว่า ถ้าขนมถุงลักษณะแบบนี้ต้องคือ ขนมมะเขือเทศ และขนมพริกหยวกแน่นอน
•
รวมทั้งหากได้คนดังระดับโลก หรือ ศิลปินเกาหลี ศิลปิน K-Pop ด้วยแล้ว ยิ่งกว่าการใช้พรีเซ็นเตอร์ใดๆ เพราะทำให้คนรู้จักมากขึ้น และถือเป็นการเผยแพร่ Soft Power ของไทยให้ไปไกลทั่วโลกอีกด้วย
•
ที่มา :
https://www.facebook.com/FF.Fashionfood
https://www.matichon.co.th/social/news_3823050
https://thethaiger.com/th/news/852768/