ผลพวงจากพายุยางิ ที่พัดเข้าถล่มเวียดนามเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แม้จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ และพัดเข้าสู่ประเทศไทย ทว่า ความรุนแรงกลับไม่ได้น้อยลง ซ้ำยังสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ 13 จังหวัดที่ต้องประสบอุทกภัย ได้แก่ เชียงราย พิจิตร สกลนคร เลย หนองคาย อุดรธานี นครพนม สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสตูล
น้ำท่วมปีนี้เกิดจากฝนตกในพื้นที่ จนเกิดน้ำป่าไหล และน้ำที่ไหลทะลักมาจากเมียนมา ทำให้มีมวลน้ำประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร นี่เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงในรอบ 80 ปี พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีทั้งที่อยู่อาศัย ภาคเกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม และภาคบริการ
ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่า พื้นที่ที่สาหัสที่สุด คือ เชียงราย น้ำท่วมกินพื้นที่ 17,785 ไร่ หนองคาย 78,732 ไร่ อุดรธานี 4,600 ไร่ และนครพนม 5,200 ไร่ ข้อมูลจากกรมชลประทาน
ปัจจุบันหลายจังหวัดมวลน้ำได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทว่ายังทิ้งดินโคลนและเศษซากแห่งความเสียหายเอาไว้ สร้างรอยคราบน้ำตาให้เกิดขึ้นจากผู้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หลายครัวเรือนยังไม่สามารถระบุมูลค่าความเสียหายได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ได้ประชุมกับ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย และจังหวัดภาคเหนือตอนบน ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและผู้ประกอบการในภาคเหนือตอนบนไว้ที่ 25,000-27,000 ล้านบาท
ด้านวิจัยกรุงศรี ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมไว้ที่ 46,500 ล้านบาท กระทบ GDP 0.27% และยังประเมินพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 8.6 ล้านไร่ ขณะที่สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่าความเสียหายจะเกิน 200,000 ล้านบาท กระทบ GDP 0.1-0.3% บนสมมติฐานที่ว่า การจัดการปัญหาน้ำท่วมกินเวลา 1-3 เดือน
หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า ความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาวะหนี้ครัวเรือนไทย 2657 ล่าสุดสูงถึง 99.7% จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,300 คน โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และยังพบว่า หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 606,378.38 บาท สัดส่วนนี้เป็นหนี้นอกระบบ 30.1% และหนี้ในระบบ 69.9%
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในห้วงยามที่หลายฝ่ายประเมินว่า ยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เมื่อตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูง ส่งผลให้กำลังซื้อถดถอย และเคราะห์ซ้ำกรรมซัดให้ไทยยังต้องประสบกับภัยธรรมชาติที่สร้างให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ มูลค่าความสูญเสียเบื้องต้นนับหมื่นล้าน
ล่าสุด คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กรณีฉุกเฉิน กรณีอุทกภัย จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน วงเงินกว่า 3 พันล้านบาท
อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีนี้ อาจมีคำถามและข้อกังวลว่า น้ำท่วมครั้งนี้จะซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่
ย้อนกลับไปในปี 2554 ไทยต้องรับมือกับพายุถึง 5 ลูกด้วยกัน และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่าปกติถึง 24% กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุว่า ในปี 2554 มี 74 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 5,247,125 ครัวเรือน เสียชีวิต 1,026 คน มูลค่าความเสียหายประมาณ 23,839 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามปี 2567 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนในไทยยังคงต่ำกว่าค่าปกติ 4% และต่ำกว่าปี 2554 นอกจากนี้เขื่อนหลักอย่าง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 12,071 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่รองรับได้อีกเพียง 4,647 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น
แต่นั่นยังไม่อาจสรุปได้ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมปีนี้จะซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่ เมื่อยังต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญอย่าง พายุจร ที่หน่วยงานด้านพยากรณ์อากาศจากต่างประเทศคาดการณ์กันว่าปีนี้ทั่วโลกจะมีพายุ 14-15 ลูก จากนี้คงต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดซ้ำซ้อน คงยากที่จะฟื้นตัว และนั่นอาจทำให้ไทยต้องสูญเสียทั้งงบประมาณและเศรษฐกิจ