ณ ทศวรรษ 2020 โลกที่พ้นโควิดไปก็ยังพบ “ความท้าทายทางนโยบาย” อีกมากมายของภาครัฐ แน่นอนเรื่องหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็คือเรื่องโลกร้อนทั้งหลาย แต่จริงๆ นั่นก็เป็นปัญหาที่เกิดจากการกดดันจากนานาชาติเป็นหลัก แต่ “ปัญหา” ที่เกิดในชาติส่วนใหญ่ในโลกที่แย่ลงทุกวันคือปัญหาสังคมผู้สูงอายุ
สังคมผู้สูงอายุเกิดขึ้นจากเหตุผลสองอย่าง อย่างแรกคือคนอายุยืนขึ้น อย่างที่สองคือเด็กเกิดน้อยลง แก้ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง สังคมผู้สูงอายุจบลง
แน่นอน ไม่มีชาติไหนบ้าพอที่จะจงใจพยายามทำให้คนอายุสั้นลง ดังนั้นเค้าเลยมองว่ามันมีวิธีเดียวคือทำให้เด็กเกิดมากขึ้น และจริงๆ เราก็คงเคยได้ยินข่าวนโยบายลดแลกแจกแถมสวัสดิการต่างๆ เพื่อเป็น “รางวัล” ให้กับผู้หญิงที่มีลูกในหลายๆ ประเทศ
คำถามคือมันได้ผลมั้ย? คำตอบเร็วๆ คือไม่ได้ผลเลย และชาติหนึ่งที่เทเงินอย่างมหาศาลในการ “อัดฉีด” ให้คนมีลูกก็คือเกาหลีใต้ โดยเกาหลีใต้พยายามมาราว 20 ปี ขณะที่ประเทศกำลังรวย มีเงินมากมาย อัดเงินเข้าไปกระตุ้นให้คนมีลูกระดับบ้าบอ
..แต่สุดท้ายผลคือ อัตราการมีลูกของผู้หญิงก็ต่ำลง และผ่านมา 20 ปี เกาหลีใต้ก็กลายเป็นชาติที่ผู้หญิงมีลูกน้อยที่สุดในโลก ทั้งที่ทุ่มงบประมาณรัฐอย่างมหาศาล และนี่คือ “ความล้มเหลวทางนโยบาย” ระดับมหากาพย์ แทบจะเป็นด้านตรงข้ามกับ “นโยบายส่งออกศิลปะวัฒนาธรรม” ที่ทำในช่วงเดียวกันซึ่งกลายมาเป็น “ความสำเร็จทางนโยบาย” ระดับมหากาพย์
และก็ไม่มีใครเข็ด พวกสิงคโปร์ ญี่ปุ่นเห็นเกาหลีใต้ล้มเหลวก็ยังจะทำตาม และสุดท้ายก็ไม่มีใครกระตุ้นให้ผู้หญิงมีลูกได้ด้วยนโยบายตระกูล “แจกเงิน”
..ว่าแต่มันไม่เวิร์คจริงๆ เหรอ แล้วนโยบายไหนเวิร์ค
เอาจริงๆ พวกงานวิจัยมันจะบอกกันว่าพวกนโยบาย พวกนี้มัน “เวิร์คกับผู้หญิงบางกลุ่ม” เท่านั้น เช่น ถ้าผู้หญิงมีลูกคนนึงแล้ว นโยบายพวกนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีลูกคนที่สองได้ แต่สำหรับผู้หญิงที่ไม่ได้มีลูกอยู่แล้ว มันไม่มีผลใดๆ ทั้งนั้น ซึ่งนี่คือไอเดียแบบพวกยุโรปตะวันออก แต่โดยรวมๆ เค้าก็จะบอกว่าวิธีคิดแบบนี้มันกระตุ้นให้ผู้หญิงมีลูกได้ในช่วงสั้นๆ แต่ในระยะยาว การมีลูกก็ลดลงอยู่ดี เค้าเลยไม่นิยมใช้เพราะนโบายแบบนี้มันเป็นภาระทางกลางคลังมาก กล่าวคือมัน “เปลืองเงิน” ของรัฐแบบสุดๆ
อย่างไรก็ดี มันก็มีอีกโมเดลอย่างโมเดลของสวีเดน ที่ไม่ได้เน้นเงินอัดฉีดให้คนมีลูก แต่ไปเน้นพวกสวัสดิการครอบครัว เช่น การให้แม่ลาคลอดได้นานๆ ให้พ่อลาไปช่วยแม่ดูลูก ไปจนถึงการมีสถานดูแลเด็กในเวลากลางวันในราคาย่อมเยาให้บริการ และนั่นก็ยังไม่ต้องนับพวก “สวัสดิการการศึกษา” สำหรับลูกที่โตมาได้เรียนหนังสือฟรีอีก
ทั้งหมดทำให้สวีเดนนั้น อัตราการเกิดไม่ลดลงแบบชาติอื่นๆ ที่เศรษฐกิจพัฒนาไปไกล และทำให้โมเดลของสวีเดนแทบจะเป็นโมเดลต้นแบบของพวกชาติเจริญแล้วที่อยากเพิ่มสวัสดิการผู้หญิงไปพร้อมๆ กับช่วยให้ผู้หญิงมีลูกมาขึ้นไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ดี ปัญหาก็คือ แม้แต่สวีเดนเองที่ถือว่ามี “นโยบายที่ดีที่สุด” ก็ยังไม่สามารถจะพลิกให้ผู้หญิงในประเทศของตนมีลูกมากขึ้นได้
พูดง่ายๆ คือมัน “สิ้นหวัง” สุดๆ และไม่มีนโยบายไหนในโลกที่ใช้ๆ กันจะทำให้มนุษย์มีลูกมากขึ้นได้
..แต่อะไรคือสาเหตุ?
จริงๆ ถ้าไปดูพวกสถิติเทียบหลายๆ ประเทศ ภาพมันชัดมากว่าประเทศยิ่งร่ำรวยขึ้น ผู้หญิงยิ่งมีการศึกษามากขึ้น อัตราการเกิดจะน้อยลง
ซึ่งเอาจริงๆ สองอย่างมันเรื่องเดียวกัน เพราะประเทศที่จะพัฒนาเศรษฐกิจได้ ก็ต้องเปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงจากแม่บ้านและแม่ มาเป็นแรงงานในตลาดแรงงาน ซึ่งแรงงานจะเพิ่มมูลค่าได้ ก็ต้องมีการศึกษาเพิ่มขึ้น และนี่ก็คือไอเดียพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา
และจริงๆ ตลอดช่วงสงครามเย็นสิ่งที่เราจะเห็นก็คือการที่ชาติต่างๆ ให้การศึกษาผู้หญิงมากขึ้นเพื่อให้ผู้หญิงเข้าร่วมกับตลาดแรงงานและระบบทุนนิยมแบบที่ผู้ชายเคยทำมาก่อน และมันก็ได้ผลจริงๆ ชาติต่างๆ มีรายได้มากขึ้น มีรายได้ต่อหัวมากขึ้น
แต่ “ผล” ที่ไม่มีใครคาดก็คือ ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง หน้าที่การงานดี ก็ต้องการจะมีลูกน้อยลง และเราไม่ได้พูดถึงคนรุ่นหลังๆ ที่เลือกจะโสดกันเยอะๆ แบบคน Gen Y สมัยนี้ เพราะจริงๆ ปรากฎการณ์มีลูกน้อยลงนี่ปรากฎมาตั้งแต่รุ่น Baby Boomer แล้ว และเหตุผลหลักๆ ที่มีลูกน้อยลงก็คือ ผู้หญิงต้องทำงาน และพอผู้หญิงทำงานมีเงินแล้ว มันก็ “ใช้เงิน” ทำสิ่งต่างๆ แทน “ใช้ลูก” ได้
กล่าวคือมันไม่ต้อง “มีลูกไว้ใช้” แบบคนรุ่นก่อนหน้าที่มีลูกกัน 5-6 คนเป็นปกติ แต่มันมีลูกไว้เพื่อให้ “ครอบครัวสมบูรณ์” ก็พอ ดังนั้นมีเพียง 1-2 คนก็พอแล้วถ้าคิดจะมี
หรือพูดง่ายๆ “การศึกษา” ได้เปลี่ยนผู้หญิงจากผู้ทำหน้าที่ผลิตซ้ำมนุษย์มาเป็น “แรงงาน” ให้กลายไปเป็น “แรงงาน” ในตลาดซะเอง และเป็น “แรงงาน” ที่มีประสิทธิภาพมากด้วย หรือพูดอีกแบบ การศึกษาทำให้ผู้หญิงหาเงินได้มากขึ้น และไม่มีความจำเป็นใดๆ จะต้องมีลูกหลายๆ คนเพื่อให้ลูกๆ หาเงินมาเลี้ยงตัวเองแบบคนรุ่นก่อนๆ และภาวะนี้ “การมีลูก” มันก็เลยหมดสิ้นหน้าที่ทางเศรษฐกิจไป
และก็นี่เอง ผลของ “การศึกษา” อย่างถาวรกับโครงสร้างประชากรมนุษย์ เพราะผู้หญิงที่มีการศึกษาโดยทั่วๆ ไปไม่มีใครอยากมีลูกเกิน 2 คน และหลายๆ คนไม่อยากจะมีลูกด้วยซ้ำ ซึ่งนี่คือปรากฎการณ์ระดับสากลในแทบทุกชาติ ทำให้เหลือชาติที่ผู้หญิงยังมีลูกเยอะๆ เพียงแค่ชาติที่ไม่ยอมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือไปจนถึงทำงานเท่านั้น
ซึ่งก็แน่นอน อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจมีความคิดพิเรนทร์ว่า ถ้างั้นการหยุดให้ผู้หญิงเรียนหนังสือเยอะๆ หรือหยุดให้การศึกษาผู้หญิง มันอาจจะพลิกสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุได้หรือเปล่า?
ก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่ไม่มีใครบ้าพอจะเสนอนโยบายแบบนี้ แต่เราก็อาจจะยัง “โชคดี” ที่เรามีอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบันที่ทุกวันนี้ดูจะ “ไม่ให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ” กันแล้ว นี่เลยทำให้ “อัฟกานิสถาน” อาจบังเอิญเป็น “ห้องทดลองทางสังคม” ที่จะทำให้เราเห็นว่านโยบาย “ลดการศึกษาผู้หญิง” นั้นจะส่งผลให้คนมีลูกเพิ่มขึ้นหรือไม่? ซึ่งเราก็อาจต้องรอดูผลสักราว 10 ปีหลังจากนี้
เขียนโดย อนาธิป จักรกลานุวัตร