ทุกวันนี้ใช้เงินกันเดือนละเท่าไร แล้วรายได้ล่ะ หาได้กันเดือนละเท่าไร แล้วคุณคิดว่าเงินที่ใช้อยู่ทุกวันนี้พอหรือเปล่า คุณถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองบ่อยไหมครับ แน่นอนว่าเรื่องเงินมันเป็นเรื่องสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เวลาจะใช้จ่ายหรือหามาได้เราก็มักจะคิดให้ดีและรอบคอบอยู่เสมอ แต่กับหลาย ๆ คนก็ยากยิ่งกว่านั้นครับ เพราะรายจ่ายพื้นฐานอย่าง “ค่าครองชีพ” อาจเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนมากกว่าแค่ถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง การใช้ชีวิตให้อยู่รอดไปวัน ๆ ในประเทศไทย ก็อาจไม่ใช่อะไรที่ง่ายนัก
เพราะถ้าลองมาดูเทียบค่าแรงขั้นต่ำกับค่าครองชีพจะพบว่ามันอยู่ยากมาก ๆ คนไทยมีค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งแต่ 328-354 บาท แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ คิดง่าย ๆ ว่า วันละ 350 บาท ถ้าเป็นพนักงานประจำก็จะได้รับทุกวันใน 1 เดือน คิดง่าย ๆ ก็ เดือนละ 10,500 บาท แต่ถ้าเป็นพนักงานรายวัน หยุด สัปดาห์ละ 1 วันจะได้เพียง 9,100 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าครองชีพนั้นสูงกว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าได้ออกมาเผยว่าค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนของไทยปี 2566 อยู่ที่ 18,130 บาท ต่อครัวเรือน สูงเกือบเท่าตัวของค่าแรงขั้นต่ำ และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติชาติ พบว่ากว่า 40% ของครัวเรือนไทยมีรายได้ไม่เกิน 16,852 ซึ่งต่ำกว่าค่าใช้จ่ายมาก ทำให้คน 40% เหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอย่างดิ้นรนและยากลำบาก
ทีนี้เรื่องค่าครองชีพกับค่าแรงขั้นต่ำก็คงเป็นเรื่องที่สังคมเราถกเถียงกันมานานแล้วแหละครับ และก็เห็นตรงกันว่าคนไทยเริ่มใช้ชีวิตในไทยประเทศไทยยากขึ้นทุกวัน จนหลายคนก็ตั้งประเด็นที่ว่าย้ายเลยไหม ต่างประเทศค่าแรงดีกว่าตั้งเยอะ แต่หลายคนก็จะแย้งมาว่า ค่าครองชีพเขาก็สูงตามด้วยนะ แล้วแบบนี้สรุปมันดีหรือไม่ดีอย่างไร ลองไปสำรวจกันดูสักหน่อยครับ
เริ่มจากประเทศที่คนไทยนิยมไปทำงาน ประเทศมหาอำนาจที่บางคนเขาหวั่นเหลือเกินว่าจะครอบงำไทย และเป็นประเทศที่หลายคนมักนำมาเปรียบเทียบรายได้อยู่เสมอ อย่างสหรัฐอเมริกา ที่อเมริกามีค่าครองชีพต่อเดือนอยู่ประมาณ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 80,000 บาท อื้อหือ… แค่เห็นตัวเลขก็เข่าอ่อนแล้ว แต่ถ้าลองมาดูค่าแรงขั้นต่ำในอเมริกา ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ มีตั้งแต่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงจนถึง 17 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เฉลี่ยง่าย ๆ ที่สัก 12 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ทำสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง จะได้เดือนละ 2,720 ดอลลาร์ หรือประมาณเดือนละ 95,200 บาท เรียกได้ว่า เหลืออยู่บ้างแต่ก็ยังพอแหละวะ ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะพอกินกันแบบนี้ทุกคน อย่างที่ว่า รายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละรัฐจะแตกต่างกันไป ซึ่งอเมริกาเป็นประเทศที่กว้างใหญ่มาก มีการปกครองแบบที่แทบจะเป็นอิสระในแต่ละรัฐ ทำให้ก็มีกลุ่มคนที่รายได้น้อยเกินไปหรือค่าใช้จ่ายสูงจนไม่พอกินอยู่เช่นกัน
มาดูอีกหนึ่งประเทศที่คนไทยชอบไปทำงานมาก ๆ อย่าง ออสเตรเลีย ซึ่งหลัง ๆ มาเริ่มจ่ายค่าแรงดีกว่าที่อเมริกาแล้วจนหลายคนบอกว่าถ้าจะไปล้างจาน ไปออสเตรเลียดีกว่า โดยที่นี่มีค่าครองชีพต่อคนประมาณเดือนละ 2,212 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 77,400 บาท และในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะอยู่ที่ชั่วโมงละ 23.33 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ทำงานสัปดาห์ละ 38 ชั่วโมง จะตกเดือนละ 3,531.2 ดอลลาร์ เท่ากับประมาณ 123,600 บาท ถือว่าเพียงพอต่อการใช้ชีวิตได้และยังคงเหลือเก็บไปทำอย่างอื่นหรือเป็นเงินออมอยู่ไม่น้อย
และลองมาดูที่สหราชอาณาจักรที่เด็กไทยชอบไปเรียนต่อจนหลายคนก็ทำงานที่นั่นเลย สำรวจกันหน่อยว่าเมืองผู้ดีเขาใช้เงินค่าครองชีพในแต่ละเดือนกันเท่าไร ค่าครองชีพในสหราชอาณาจักรก็แตกต่างกันไปในแต่ละโซนเช่นกัน แต่มีการประมาณไว้ว่าอยู่ที่ 2,017 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อเดือน หรือ 1,591 ปอนด์ เป็นเงินไทยราว 70,500 บาท ในขณะที่มีค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนอายุ 23 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 10.42 ปอนด์ ต่อชั่วโมง ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงจะมีรายได้เดือนละประมาณ 1,667.2 ปอนด์ หรือ ประมาณ 74,000 บาท เรียกได้ว่าโดยรวมก็ยังเหลือนิด ๆ หน่อย ๆ ให้ได้หายใจหายคอกันบ้าง
โดยรวมแล้วจะเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้เขามีค่าครองชีพที่สูงกว่าไทยจริง แต่ก็มีค่าแรงขั้นต่ำที่รองรับค่าครองชีพได้มากพอ โดยการสำรวจ เวจอินดิเคเตอร์ (WageIndicator) ในเดือนสิงหาคมปี 2022 พบว่าประเทศส่วนใหญ่มีค่าแรงขั้นต่ำไม่มากพอสำหรับค่าครองชีพ โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีค่าแรงขั้นต่ำรองรับค่าครองชีพได้น้อยกว่า 80% เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน แต่ในกลุ่มประเทศที่เราเอาข้อมูลคร่าว ๆ มาฝาก เป็นกลุ่มที่ค่าแรงขั้นต่ำรองรับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตได้ตั้งแต่ 100-120% ขึ้นไป ทำให้เห็นได้ชัดว่าความเป็นอยู่ของคนในประเทศเรายังตามหลังอยู่มากแค่ไหน
ปัญหาปากท้อง ปัญหาค่าครองชีพ จึงยังเป็นปัญหาเรื้อรังของไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขสักที และในตอนนี้ประเทศเราก็มีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คือ นายเศรษฐา ทวีสิน พร้อมทั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาทำหน้าที่ ปัญหานี้จึงเป็นความท้าทายสำคัญที่รัฐบาลจะต้องแก้ไข โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทยที่เคยหาเสียงไว้ด้วยนโยบายเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่าง เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ยืนยันว่าจะแจกไตรมาสแรกปีหน้า หรือการลดค่าใช้จ่ายอย่างรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเศรษฐาได้อัปเดตไว้ว่า กำลังพิจารณารายละเอียด พิจารณางบประมาณโดยรวมก่อน เพราะแม้จะเป็นนโยบายของพรรคแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว และเรื่องสำคัญอย่างการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ป.ตรี 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 4 ก็เป็นเรื่องที่น่าจับตาม เพราะถ้าเทียบดู 4 ปีค่าเงินและเศรษฐกิจ รวมถึงต่างประเทศเขาจะขึ้นไปแค่ไหนแล้วก็ไม่รู้
พอเป็นแบบนี้ ไม่ว่าใครจะเลือกหรือไม่ได้เลือกคุณเศรษฐาหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ เข้ามา ก็คงต้องคาดหวังว่ารัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทยต่อไป