การต่อยอดเรื่องราวที่มีศักยภาพในเกมให้กลายมาเป็นสื่อบันเทิงยอดนิยมอย่างภาพยนตร์อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และเกิดขึ้นหลายครั้งในสองทศวรรษมานี้ แต่แม้จะผู้สร้างและผู้กำกับหลายคนจะพยายามอย่างเต็มที่ การนำเอาเรื่องราวจากเกมมาเล่าใหม่ในรูปแบบของภาพยนตร์นั้นก็ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย และน้อยคนที่จะทำสำเร็จ ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้จึงเกิดเป็นกระแสใหม่ที่เหมือนจะตอบโจทย์มากกว่า นั่นคือการดัดแปลงเรื่องราวจากเกมเป็นซีรีส์
กระแส Movie Adaptation ทำให้เราได้เห็นหนังจากเกมดี ๆ หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Sonic the Hedgehog ทั้งสองภาค ที่ถูกใจทั้งนักวิจารณ์และผู้ชม รวมถึงยังตอบโจทย์ด้านรายได้ ภาคแรกเก็บไป 300 ล้านดอลลาร์ ส่วนภาคสองเก็บไป 400 ล้านดอลลาร์ จากทุนสร้างไม่ถึง 100 ล้าน หรือจะเป็น The Super Mario Bros. Movie ที่ถูกใจแฟน ๆ และกวาดไป 1.3 พันล้านดอลลาร์จากทุนสร้างเพียง 100 ล้าน และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Detective Pikachu ที่ได้คะแนนวิจารณ์ดี แถมรายได้งาม 450 ล้านดอลลาร์จากทุนสร้าง 150 ล้าน
ถึงอย่างนั้นจะสังเกตได้ว่าเนื้อเรื่องและตัวเกมที่ว่ามาค่อนข้างจะเป็นโทนเบา ๆ ตัวละครน่ารัก ดูได้ทุกเพศทุกวัย แต่ในฝั่งเกมที่มีเนื้อหาจริงจัง ติดเรต ออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนมากมักจบไม่สวยเมื่อต้องมาอยู่ในรูปแบบของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์ Resident Evil ที่ได้มะเขือเน่า ถังป๊อปคอร์นหกแทบทุกภาค แม้จะรายได้พอไปรอด หรือจะเป็น Tomb Raider ที่คะแนนออกมาเละไม่ต่างกัน ก็สะท้อนให้เห็นเลยว่าการดัดแปลงเกมโทนจริงจังให้กลายเป็นหนังนั้นไม่ง่าย
การดัดแปลงเรื่องราวหม่น ๆ ในเกมให้ถูกใจแฟน ๆ และผู้ชมที่ไม่ใช่แฟน จึงไปหาทางออกใหม่ไปสู่การทำเป็นซีรีส์ อย่าง The Witcher ที่เปิดมาซีซันแรกก็ถูกใจทั้งนักวิจารณ์และผู้ชม จนได้ไปต่อถึงตอนนี้ 4 ซีซัน ต่อมาก็มี Arcane: League of Legends ที่ได้คะแนนวิจารณ์เต็ม 100% มะเขือสด แถมยังถูกใจคนดู ป๊อปคอร์นเต็มถังถึง 99% จากนั้นก็ถึงคราวของซีรีส์น้ำดีแห่งปี 2023 ซึ่ง HBO ยังเผยว่ามีผู้ชมต่อตอนมากกว่า 32 ล้านคน
แล้วในที่สุดปีนี้ก็ถึงเวลาของเกม Open World เอาชีวิตรอดสุดฮิตอย่าง Fallout ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ฉายทาง Prime Video ให้เราได้ชมกัน ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่คะแนนวิจารณ์และเสียงของผู้ชมเป็นเครื่องการันตีว่าซีรีส์แบบนี้ถูกใจ ได้คะแนนมะเขือสดไป 94% และป๊อปคอร์นเต็มถัง 89% เข้าถึงจิตวิญญาณของเกมและเล่าเรื่องได้สนุกในแบบฉบับของซีรีส์
สาเหตุที่การดัดแปลงเป็นซีรีส์ดูจะได้ผลดีมากกว่าก็มาจากความยาวของเรื่องที่เปิดโอกาสให้ได้เล่าเรื่องราวที่ทั้งลึกและหลากหลายมากกว่าภาพยนตร์ ทำให้มีเวลาผูกและแก้ปมเรื่องราวต่าง ๆ ได้แยบยลมากขึ้น รวมถึงการสอดแทรกความเป็นเกมเข้าไปให้แฟน ๆ ได้สัมผัส และนั่นยังส่งผลต่อการสำรวจตัวละครในหลากหลายแง่มุม ชวนให้คนดูผูกพันธ์และเห็นพัฒนาการของตัวละครที่มากกว่า
ที่มากกว่านั้นคือการปลุกกระแสของเกมในระยะเวลาที่ยาวกว่า เพราะถึงแม้ว่าภาพยนตร์จะมีการโปรโมตอยู่เรื่อย ๆ แต่เวลาในการรับชมนั้นสั้น และอาจลืมมันไปได้รวดเร็ว แต่ซีรีส์บางเรื่องจะไม่ได้ปล่อยรวดเดียวจบ อาจเว้นระยะปล่อยทุกสัปดาห์ คนที่ดูก็จะอยู่ในกระแสนานขึ้นไปด้วย และนั่นอาจให้ประโยชน์ต่อการตลาดของเกม ที่อาจดึงลูกค้าจากซีรีส์มาสู่เกมได้อีก
ถึงอย่างนั้นแม้จะพิสูจน์กันมาแล้วว่า “วิธีการ” มันได้ผล แต่ฝีมือของผู้สร้างและความซื่อตรงต่อเกมถือเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ และนี่เป็นกับดักที่ผู้สร้างบางรายอาจมองข้าม อย่างกรณีของซีรีส์ The Witcher ที่แม้ภาคแรกจะเปิดตัวมาดี แต่ภาค 2-3 เนื้อเรื่องเริ่มหลุดจากเกมไปไกลและไม่เคารพต้นฉบับ จนถังป๊อปคอร์นคว่ำไม่ถูกใจแฟน ๆ และทำให้นักแสดงนำซึ่งเป็นแฟนเกมอย่าง เฮนรี่ แควิลล์ (Henry Cavill) ถอนตัวจากแฟรนไชส์ไปอีกด้วย
โดยสรุปแล้ว การดัดแปลงเรื่องราวจากเกมเป็นซีรีส์นั้นดูจะเป็นวิธีที่ได้ผลดีและมีข้อได้เปรียบกว่าการทำเป็นภาพยนตร์อยู่ โดยเฉพาะจากเกมที่มีเนื้อเรื่องโทนจริงจังสำหรับผู้ใหญ่ แต่ก็มีข้อควรระวังอย่างความซื่อตรงต่อต้นฉบับ ที่ควรคงไว้ไม่ต่างจากการทำเป็นภาพยนตร์ เพื่อให้สุดท้ายแล้วจะสามารถตอบโจทย์แฟนเกมได้ และดึงดูดผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ มาสู่แฟรนไชส์ต่อไป