คงจะดีใช่ไหมถ้ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ได้มีพื้นที่ได้เฉิดฉายในแบบที่เป็นตัวเอง นี่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ The Voice Thailand จัดรายการซีซั่นพิเศษ The Voice Pride ขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศผ่านเสียงเพลง แต่ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่าทางรายการไม่เข้าใจว่า “ความหลากหลาย” คืออะไร จนอาจกลายเป็นการสาดสีรุ้งใส่แค่นั้น
เกณฑ์การแข่งขันของ The Voice Pride มีข้อสำคัญคือ “ผู้สมัครต้องอยู่ในเกณฑ์ LGBTQ+” ซึ่งทางรายการก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ตรงนี้จึงนับเป็นเกณฑ์ที่กำกวมมาก และยังสะท้อนถึงสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความหลากหลายอย่างการแบ่งแยกได้ชัดเจนมาก ๆ อีกด้วย
ความเป็น LGBTQ+ นั้นนิยามได้ไม่ยากและไม่ง่าย แต่ที่สำคัญคือมันไม่ตายตัว เพราะคำนี้ถูกใช้พูดถึงมากกว่าแค่ หญิง-ชายข้ามเพศ หรือคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงเพศกำเนิดเท่านั้น แต่มันมีความซับซ้อนหลายชั้นอย่างการแสดงออกทางเพศ และรสนิยมทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
โดยทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเลยก็ได้ อย่างที่เรียกกันว่า “ความลื่นไหลทางเพศ” หรือแม้แต่ นอนไบนารี (Non-binary) ผู้ที่ไม่ได้นิยามตัวเองแค่ชายหรือหญิงก็นับเป็น LGBTQ+ แล้ว โดยที่ลักษณะทางกายภาพและการแสดงออก หรือแม้แต่รสนิยมทางเพศไม่ต่างจากเพศกำเนิดเลย เพียงแค่รู้สึกว่าชายหรือหญิง ไม่ใช่ตัวตนของพวกเขา เพราะฉะนั้นต้องถามต่อไปว่า จริง ๆ แล้วเกณฑ์ LGBTQ+ ของ The Voice Pride คืออะไรกันแน่
นอกจากนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรายการ หลัก ๆ เลยคือการแบ่งแยกด้วยธีมหลากหลายทางเพศนี่แหละ ซึ่งเป็นอะไรที่ขัดแย้งกันในตัวสุด ๆ เพราะเดิมที The Voice ก็เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันทุกเพศเข้าร่วมได้โดยไม่แบ่งแยกอยู่แล้ว และก็เคยมีผู้เข้าแข่งขัน LGBTQ+ เข้าร่วมมาแล้วหลายคน ซึ่งนั่นคือแนวคิดสำคัญของการมีส่วนร่วม การปฏิบัติต่อทุกเพศอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งแยก อันเป็นหัวใจสำคัญของความหลากหลายทางเพศที่แท้จริง แต่การสงวนพื้นที่ไว้ให้แค่คนเพียงกลุ่มเดียวต่างหากที่มันสวนทางกับความหลากหลาย กลายเป็นว่าหญิงชายไม่มีสิทธิ์บนเวทีนี้ ในขณะที่ LGBTQ+ สมัครได้ทั้งสองรูปแบบ
ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่สังคมจะอดสงสัยไม่ได้ว่า The Voice Pride เข้าใจความหลากหลายทางเพศดีพอหรือยัง และที่จัดซีซั่นพิเศษนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการเฉลิมฉลองให้ความหลากหลายทางเพศ หรือแค่กำลังหากินกับมันด้วยการตลาดแบบฟอกสีรุ้ง (Rainbow Washing) กันแน่
ถ้าถามว่า “แบบนี้ก็ทำการตลาดเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะไม่ได้เลยเหรอ” ไม่อย่างนั้นจะถูกหาว่าแบ่งแยกและฟอกสีรุ้งอีก คำตอบคือ ได้สิ แต่ต้องทำอย่างเข้าใจและใส่ใจจริง ๆ
แบรนด์ที่ทำเรื่องความหลากหลายออกมาได้ดีมาก ๆ แบรนด์หนึ่งคือ วาสลิน (Vaseline) ด้วย Vaseline Transition Body Lotion ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับคนข้ามเพศที่ต้องพบเจอกับปัญหาผิวระหว่างการเปลี่ยนผ่านโดยเฉพาะ ซึ่งทางแบรนด์ได้ค้นคว้าวิจัยสูตรกับหญิงข้ามเพศนานกว่า 2 ปี ก่อนจะเริ่มวางขายใน Pride Month ปี 2024 ทำให้สาวข้ามเพศได้รู้สึกว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อพวกเขาจริง ๆ ไม่ได้มีแค่ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงหรือผู้ชายตามท้องตลาด
แคมเปญนี้ถูกแสดงกว่า 158 ล้านครั้ง ผู้บริโภคให้การตอบสนองเชิงบวก 100% และที่สำคัญคือไม่ได้ทำขายแค่ช่วงเทศกาล แต่ยังทำให้เป็นสินค้าประจำที่จะวางขายตลอดไป
*ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้สนับสนุนคอนเทนต์ของเพจ*
ย้อนกลับมาที่ The Voice Pride เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่รายการต้องการจัดซีซั่นพิเศษด้วยธีมนี้ ในฐานะที่เป็น The Voice Thailand หนึ่งในประเทศที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากที่สุดในโลก แต่หากต้องการจะเฉลิมฉลองให้ LGBTQ+ จริง ๆ การจัดประกวดรวมดาว LGBTQ+ เชิญผู้เข้าแข่งขัน LGBTQ+ กลับมาประกวดแบบ All Star หรือเชิญศิลปินมาจัดโชว์พิเศษ อาจเป็นแนวทางที่เชิดชูความหลากหลายได้ดีกว่าการหยิบยื่นโอกาสที่ไม่หลากหลายจริง ๆ ก็ได้