ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง วันที่ ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับถึงประเทศไทยจริง ๆ เสียที หลังจากที่ประกาศกลับบ้านอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่ได้กลับ จนวันนี้ 22 สิงหาคม 2566 คุณทักษิณก็มาถึงสนามบินดอนเมืองเรียบร้อย ตามที่ได้โพสต์แจ้งผ่าน เอ็กซ์ (X) ส่วนตัวว่า “พรุ่งนี้9โมงเช้า ผมขออนุญาตกลับไปอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยและร่วมอากาศหายใจกับพี่น้องคนไทยด้วยคนน้ะครับ” เป็นการกลับมาไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยล่าสุดที่กลับมาคือ 11 สิงหาคม ปี 2551 ซึ่งก็มีทั้งนักข่าวและชาวเสื้อแดงมากมายไปรอต้อนรับ และหลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปยังศาลฎีกา เพื่อรับหมายและเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป
อย่างที่ใครหลายคนรู้ดี เรารู้จักทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีระดับตำนาน เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองมาตลอดช่วง 20 ปีนี้ แต่อีกหนึ่งบทบาทของทักษิณที่หลายคนจดจำคือ นักธุรกิจมากความสามารถ ที่เคยนำบริษัทของตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์ 3 ตัวรวด ทั้ง ชินคอร์ป แอดวานซ์ และ ชินแซทเทลไลท์ ซึ่งแม้ปัจจุบันได้รับการเปลี่ยนมือไปแล้ว แต่เป็นธุรกิจที่ทักษิณปั้นมากับมือ และความหลักแหลมในด้านธุรกิจของเขาเหมือนเป็นสิ่งที่ส่งต่อกันในครอบครัว เพราะคนในครอบครัวชินวัตรต่างมีบทบาทสำคัญด้านธุรกิจ ในตอนนี้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทย มี 2 บริษัทที่ครอบครัวชินวัตรถือหุ้นใหญ่เอาไว้ วันนี้ Connect the Dots จะพาไปสำรวจทั้ง 2 บริษัทนี้กัน
บริษัทแรกคือ เอสซี แอสเสท คอเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SC ASSET CORPORATION PUBLIC COMPANY LIMITED) มีกลุ่มครอบครัวชินวัตรถือครองหุ้นใหญ่ในบริษัทรวม 60.27% โดยมี คุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุด 1,216,149,870 หุ้น ตามด้วยคุณเอม พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ จำนวน 1,176,915,495 หุ้น คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จำนวน 117,109,887 หุ้น และคุณโอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร จำนวน14,000,000 หุ้น รวม 2,524,175,252 หุ้น
เอสซี แอสเสท ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 แรกเริ่มเดิมทีชื่อ เอฟ เอฟ พี จำกัด เริ่มดำเนินธุรกิจด้วยการให้เช่าสำนักงานในอาคาร โดยปี 2538 ได้ลงทุนสร้าง ชินวัตรทาวเวอร์ 3 เป็น ซูเปอร์สมาร์ตบิลดิง (Super Smart Building) ตึกอัจฉริยะที่มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2542 และได้เปิดทำการในปี 2543
หลังจากชินวัตรทาวเวอร์ 3 ประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลอาคารดีเด่นด้านการประหยัดพลังงานทั้งในและต่างประเทศ ปี 2545 บริษัทก็มีการปรับเปลี่ยนบทบาทและทิศทางสู่การดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อพักอาศัย ทั้งแนวดิ่งอย่างคอนโดมิเนียม และแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม ตอบโจทย์ทุกรูปแบบการใช้ชีวิตโดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
ความน่าสนใจอยู่ที่การหันมาพัฒนาคอนโดมิเนียม เพราะก่อนหน้านั้นประเทศไทยเพิ่งพ้นวิกฤติต้มยำกุ้งที่กระทบภาคอสังหาฯ อย่างหนักหน่วง จนทำให้คนที่ลงทุนในอสังหาฯ อย่างคอนโดมิเนียมที่เพิ่งจะเป็นที่รู้จักในไทยได้ไม่นาน ต้องเสียหายกันหลายล้าน ก่อนที่การมาถึงของรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ในปี 2542 จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนเมือง และประคองให้คอนโดมิเนียมกลับมาตั้งได้อีกครั้ง เพราะกลายเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยซึ่งตอบโจทย์ชีวิตคนกรุงเทพฯ อีกทั้งการเข้ามาของ เอ็มอาร์ที (MRT) ในปี 2547 ก็ทำให้คอนโดมิเนียมเป็นอสังหาฯ ที่บูมอีกครั้งในกทม.
ในปี 2546 มีการปรับโครสร้างครั้งใหญ่ เข้าไปลงทุนในกองทุนรวมแอสเสทเน็ตเวิร์ค และอีก 3 บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท โอเอไอ แอสเสท จำกัด บริษัท อัพคันทรี่ แลนด์ จำกัด และบริษัท วี.แลนด์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จากครอบครัวชินวัตร จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนด้วยทุน 3,500 ล้านบาท และดำเนินธุรกิจมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เอสซี แอสเสทได้เติบโตและขยายธุรกิจมาโดยตลอด ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วยประเภทธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เพื่อขาย ธุรกิจพัฒนาอสังหาเพื่อให้เช่าและให้บริการ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจให้บริการที่ปรึกษาและการจัดการ รวมถึงธุรกิจตัวแทนหรือนายหน้า รวมบริษัทในเครือทั้งหมด 22 บริษัท
หากมาดูที่ผลประกอบการจากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ เอสซี แอสเสท ทำกำไรได้ดีมาโดยตลอด ในปีล่าสุด 2565 ทำรายได้รวม 21,684 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,556 ล้านบาท และในครึ่งแรกของปีนี้ทำรายได้รวม 10,259 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,127 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันเอสซี แอสเสทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 59,736 ล้านบาท
อีกหนึ่งธุรกิจที่ครอบครัวชินวัตรถือหุ้นใหญ่คือ โรงพยาบาลพระรามเก้า มีคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 292,062,500 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 37.14 โดยลูก ๆ ทั้ง 3 คนถือครองคนละ 5 ล้าน หุ้น คิดเป็นคนละ 0.64%
โดยโรงพยาบาลพระรามเก้า เดิมมากจากบริษัท สแปค จำกัด ที่ได้เพิ่มทุนจดทะเบียน รวมทุนจากผู้ถือหุ้นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ในปี 2532 ก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการในอีก 2 ปีต่อมา
โรงพยาบาลพระรามเก้าให้บริการรักษาครอบคลุมทั้งโรคทั่วไปและเฉพาะทาง โดยเป็นโรงพยาบาลแรก ๆ ที่นำเอาเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ เข้ามาให้บริการ อย่างเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง 640 สไลซ์ และเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ 4 มิติ นอกจากนี้ยังมีชื่อเสียงเรื่องสถาบันโรคไตที่มีสถิติการเปลี่ยนไตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโรงพยาบาลเอกชนในไทย และตลอดการดำเนินการ โรงพยาบาลพระรามเก้าได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลและรางวัลมากมาย ทำให้ในปี 2565 โรงพยาบาลพระรามเก้าเป็นอันดับ 8 โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในไทย จากการจัดอันดับของนิตยสาร นิวส์วีก (Newsweek) ของสหรัฐอเมริกา และก่อนหน้านั้นก็ติดหนึ่งในสิบอันดับโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในการจัดอันดับจากหลายที่มาโดยตลอด
ในปี 2561 ถือเป็นการเติบโตครั้งสำคัญ เพราะโรงพยาบาลพระรามเก้ามีการปรับโครงสร้าง เพิ่มทุนจดทะเบียน ปรับราคาหุ้นและเข้าตลาดหลักทรัพย์ แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) และมีชื่อของคุณหญิงพจมานถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่ตอนนั้น
ในด้านของผลประกอบการของโรงพยาบาลพระรามเก้า ถือว่าสร้างกำไรต่อเนื่อง โดยในปีล่าสุด 2565 มีรายได้รวม 4,159 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 567 ล้านบาท และในครึ่งแรกของปีนี้ทำรายได้รวมไปแล้ว 1,995 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 229 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันจ่ายปันผลที่ 0.29 บาท/หุ้น หมายความว่าครึ่งปีนี้คุณหญิงพจมานอาจรับปันผลไปถึง 84 ล้านบาทเลย ปัจจุบันโรงพยาบาลพระรามเก้ามีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 5,522 ล้านบาท
นอกจากนี้หุ้นของทั้งสองธุรกิจก็เป็นหุ้นที่รับกับกระแสของการเมือง เพราะในวันนี้ที่มีการโหวตนายกซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นวันเดียวกันกับที่คุณทักษิณกลับบ้าน ราคาหุ้นของทั้งสองธุรกิจเด้งขึ้นมาทั้งคู่ โดยราคาหุ้น SC สูงสุดวันนี้อยู่ที่ 4.36 บาท ส่วนหุ้น PR9 สูงสุดอยู่ที่ 17.20 บาท
ในการกลับมาครั้งนี้ของทักษิณ คงต้องรอดูกันว่านอกจากแรงสั่นสะเทือนในเรื่องการเมืองแล้ว จะส่งผลอย่างไรกับภาคธุรกิจบ้าง ทั้งธุรกิจของครอบครัวชินวัตรและธุรกิจอื่น ๆ ในส่วนของการเมือง เจ้าตัวเคยบอกชัดเจนแล้วว่าอยากกลับบ้านมาเลี้ยงหลานเท่านั้น คงต้องรอดูว่าจะจริงอย่างว่าหรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือแคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยเรียบร้อย ต้องติดตามกันว่าเมื่ออดีตเจ้าพ่ออสังหาฯ จากพรรคที่ได้รับอิทธิพลของทักษิณมาเต็ม ๆ ได้ก้าวขึ้นมานั่งตำแหน่งสำคัญ ทิศทางของประเทศและเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร