เมื่อเปิดงบประมาณส่งเสริม Soft Power ของรัฐบาลเศรษฐามาที่ 5164 ล้านบาท ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย ว่าจะเป็นงบอีเวนท์ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ งบส่วนนี้มากเกินไป งบส่วนนั้นน้อยเกินไป ซึ่งการทำงานยังต้องได้รับการพิสูจน์อีกในระยะยาว ว่าเงินที่ตั้งไว้จะถูกใช้อย่างคุ้มค่าได้มากแค่ไหน
เราอาจลองมาดูตัวอย่างจากสองประเทศที่ใช้งบประมาณส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรมกัน
ประเทศที่เป็นต้นแบบและถูกพูดถึงเสมอในการส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรม คือสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
องค์กรที่เป็นหัวหอกในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าวัฒนธรรม คือ Korea Creative Content Agency (KOCCA) ซึ่งเป็นต้นแบบของ Thailand Creative Content Agency (THACCA) องค์กรคล้ายกันที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังพยายามจัดตั้งขึ้น
KOCCA เริ่มต้นในปี 1978 ด้วยการรวบรวมเอาหน่วยงานอิสระภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรมเข้ามารวมกัน โดยในปีแรก KOCCA ได้รับงบประมาณจากการโยกย้ายถ่ายโอนภารกิจและเงินจากองค์กรที่ถูกควบรวมประมาณ 5.5 พันล้านวอน คิดเป็น 0.15% จากงบประมาณประเทศ 3.517 ล้านล้านวอน และในปีล่าสุด 2023 KOCCA ได้รับงบประมาณที่ 623.8 พันล้านวอน คิดเป็นเกือบ 0.1% ของงบประมาณประเทศที่ 638.7 ล้านล้านวอน เป็นการเพิ่มขึ้นเชิงปริมาณ 113 เท่า ในระยะ 35 ปี
เมื่อพิจารณาเทียบกับงบประมาณที่อนุมัติล่าสุดของไทย 5,164 ล้านบาท ต่อร่างงบประมาณแผ่นดินปี 2567 ที่ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 0.2% อาจถือได้ว่าการรวบรวมเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องแต่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ มีมากกว่า KOCCA ตอนเริ่มต้น แต่ยังห่างไกลจาก KOCCA ในปัจจุบันหลายเท่า อย่างไรก็ตาม ภารกิจของคณะกรรมการซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติ มีมากถึง 11 สาขา ซึ่งครอบคลุมไปถึงอาหาร กีฬา เทศกาลและการท่องเที่ยว มีภารกิจมากกว่า KOCCA ที่ดูแลในส่วนของภาพยนตร์ สื่อบันเทิงมัลติมีเดีย เกม เพลง แฟชั่น อนิเมชั่น คาแรกเตอร์ คอมิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยีสร้างสรรค์อย่างมาก
นอกจากนี้ งบประมาณส่วนใหญ่ของ KOCCA ในปี 2023 ทุ่มให้กับการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์เพื่อฉายในระบบสตรีมมิ่งมากกว่ากึ่งหนึ่ง ตามด้วยโทรทัศน์ นิวมีเดีย และโพสต์โปรดักชั่น โดยเน้นการเผยแพร่สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา (IP) เพื่อดัดแปลงไปในประเทศต่างๆ
ในอีกประเทศหนึ่ง ญี่ปุ่นมีแผน Cool Japan เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยเริ่มขึ้นในปี 2011 ด้วยงบประมาณ 1.9 หมื่นล้านเยน (0.18% ของงบประมาณแผ่นดิน) จนเป็น 5.5 หมื่นล้านเยนในปี 2021 (คิดเป็น 0.05% ของงบประมาณแผ่นดิน) จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีการเพิ่มจำนวนเม็ดเงินเป็นตัวเลข แต่อัตราส่วนเมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินที่เพิ่มขึ้นนั้นถือว่าลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม แผนงาน Cool Japan ถูกมองว่าใช้เงินไม่ตรงกับเป้าหมาย และไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ การเผยแพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเกิดจากการส่งเสริมของหน่วยงานเอกชน หรือธุรกิจ หรือองค์กรท้องถิ่นเช่น จังหวัด เทศบาลมากกว่าจะเกิดจากโครงการ Cool Japan นี้
แผนงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือการใช้งบประมาณไปเปิดร้านขายสินค้าผลไม้ญี่ปุ่นหรูหราที่กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย โดยไม่มีลูกค้าชาวมาเลย์สนใจนับเป็นปีๆ
ในทางตรงกันข้าม การสนับสนุนแผนงานส่งเสริมวัฒนธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนที่แข่งขันกันรณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวและความสนใจในวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ กลับประสบความสำเร็จ
เช่น โครงการแสวงบุญตามรอยอนิเมะ 88 แห่งทั่วประเทศ แผนงานสนับสนุนการถ่ายทำละครและอนิเมะที่มีฉากในจังหวัดของจังหวัดซากะ ซึ่งทำให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวจังหวัดซากะที่คนญี่ปุ่นยังแทบจะไม่นิยมขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ.
ความล้มเหลวของ Cool Japan ที่ภาครัฐใช้ข้าราชการซึ่งไม่เข้าใจสินค้าทางวัฒนธรรมมากำหนดนโยบาย อาจเป็นบทเรียนที่ดีกับประเทศไทยในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี
(เนื้อหาเพิ่มเติม)
เมื่อแจกแจงตามรายละเอียดของแต่ละกลุ่มงาน Soft Power ไทย เราอาจจะแจกแจงอัตราส่วนมูลค่าตลาดต่องบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในปี 2567 ดังนี้
จะเห็นได้ว่า สัดส่วนมูลค่าตลาดกับงบประมาณที่จัดสรรให้มีความแตกต่างกันไปตามแผนงานที่อนุกรรมการแต่ละฝ่ายได้เสนอขึ้นมาในกรอบงบประมาณเดิมของปี 2567 เมื่อคำนวณเฉลี่ยงบประมาณที่ใช้ 0.2% ของงบประมาณแผ่นดินประจำปีนั้น คิดเป็น 0.17% ของมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในกลุ่ม Soft Power ที่รัฐบาลกำหนดซึ่งน้อยกว่าเกาหลี แต่มากกว่าญี่ปุ่น ในชอบเขตที่กว้างกว่า หากจะดำเนินการอย่างจริงจัง ต้องใช้งบประมาณเพื่อลงรายละเอียดอีกมากมายมหาศาลเพื่อให้ได้รับผลตอบรับตามแผนที่คาดหวังไว้แบบเกาหลีใต้ และยังต้องพิจารณาถึงผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานจริง เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยความไม่สำเร็จของญี่ปุ่น
เขียนโดย ธีรภัทร เจริญสุข