เมื่อไม่นานมานี้เกิดเป็นประเด็น ๆ ที่หลายคนตั้งคำถามกันอีกครั้งว่าบริเวณสยามสแควร์ห้ามถ่ายคลิปจริงเหรอ จากการที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์รายหนึ่งไปถ่ายทำบริเวณดังกล่าวแล้วถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามาห้ามเอาไว้ พร้อมจับตาดูต่อเนื่อง จนหลายคนก็วิพากย์วิจารณ์กันถึงข้อห้ามดังกล่าว
เพราะที่ผ่านมาสยามสแควร์ก็ถือเป็นย่านยอดนิยมของชาวกทม. มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากเป็นแหล่งรวมห้างร้านดัง ๆ มากมายทั้งไทยและเทศ กลายเป็นแหล่งพบปะยอดนิยมมาอย่างยาวนาน และกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหลังมีการปรับโฉมใหม่ ให้เป็นถนนคนเดินที่สวยงาม จนหลายคนมองว่าให้บรรยากาศเหมือนอยู่เกาหลีเลย ทำให้ผู้คนมากมายหลั่งไหลไปสยามกันอยู่เสมอ รวมถึงเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เลือกไปถ่ายบริเวณนี้เนื่องจากมีภูมิทัศน์ที่ดี และมีผู้คนคับคั่ง ทำให้สยามสแควร์ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีกจากการเผยแพร่คอนเทนต์เหล่านี้
อันที่จริงแล้วทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU ผู้ดูแลพื้นที่สยามสแควร์ ก็มีกฎห้ามถ่ายอยู่แล้ว หากต้องการถ่ายทำวิดีโอหรือถ่ายภาพต้องไปขออนุญาตกับทางสำนักงานฯ ก่อน โดยเฉพาะถ้าถ่ายทำเพื่อใช้เชิงพาณิชย์ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาเรามักเห็นคอนเทนต์ที่มีฉากหลังเป็นสยามสแควร์จำนวนมาก โดยเฉพาะคอนเทนต์สัมภาษณ์ ทำให้เห็นว่าทางสำนักงานอาจไม่ได้เคร่งกฎนี้นัก
ในทางกลับกันก็พบว่ามีชาวเน็ตจำนวนมากที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเคยโดนเจ้าหน้าที่เข้ามาห้ามถ่าย และจะต้องไปขออนุญาตทางสำนักงานฯ ทุกครั้ง และถ้าใช้เชิงพาณิชย์ก็มีค่าใช้จ่ายราว 50,000 บาท รวมถึงบอกว่าวงการช่างภาพจะรู้กันดีว่านอกจากถ่ายรับปริญญา ก็จะต้องขออนุญาตตลอด
นั่นหมายความว่าอย่างไรกันแน่ สรุปแล้วห้ามไม่ห้าม กฎนี้ใช้อย่างทั่วถึงหรือเปล่า
จริง ๆ แล้วถ้าจะให้ตอบชัด ๆ ก็ห้ามนั่นแหละครับ เพียงแต่ว่าข้อห้ามก็มีไว้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพื้นที่และควบคุมไม่ให้เกินการรบกวนผู้มาใช้บริการในพื้นที่ แต่ในช่วงที่คนเยอะ ๆ ก็อาจไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมดและทำให้หลายคนถ่ายได้ แต่มาปีนี้เหมือนจะมีคนโดนห้ามเยอะขึ้น อาจเป็นเพราะมาตรการที่เคร่งขึ้นด้วย
แล้วเป็นแบบนี้ความนิยมจะลดลงมูลค่าจะร่วงไหม
ความนิยมของสยามสแควร์สามารถถูกมองในแง่ของมูลค่าด้วยเช่นเดียวกัน เพราะตั้งแต่มีการก่อสร้างอาคารพาณิชน์ เปลี่ยนย่านนี้ให้เป็นศูนย์การค้าแนวราบในปี 2507 พื้นที่บริเวณสยามก็มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังมีการเข้ามาของรถไฟฟ้าในปี 2542 มูลค่าของที่ดินบริเวณนั้นก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จนทุกวันนี้สยามสแควร์จัดเป็นย่านทำเลทองที่มีมูลค่าสูงที่สุดย่านหนึ่งในกทม. ตารางวาละ 3 ล้านกว่าบาท ประมาณไร่ละ 1,000 กว่าล้านบาทเลย และค่าเช่าร้านหรือห้องแถวก็ตกเดือนหลักแสนบาท และสูงกว่านั้นตามแต่ละโซน ซึ่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาก็มีการปรับขึ้นค่าเช่าอยู่หลายครั้ง
ยิ่งหลังจากมีการเริ่มแผนพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์ ก็ทำให้พื้นที่บริเวณนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ในขณะเดียวกันก็ดูจะทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วย จนผู้เช่าหลายรายก็มองว่าไม่คุ้มและเลือกจะถอนตัวไป มีเพียงเจ้าใหญ่ที่สายป่านยาวพอ ที่จะจ่ายไหวและปักหลักย่านนี้ได้
แสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วสยามสแควร์นั้นมีมูลค่าเติบโตอย่างแข็งแรงได้ด้วยปัจจัยด้านการใช้พื้นที่เชิงพาณิชน์มาอย่างยาวนานแล้ว และยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกฎเรื่องการห้ามถ่ายเองก็ไม่ได้เพิ่งจะใช้ แต่มีมานานแล้ว เพราะฉะนั้นหลังจากนี้เรื่องมูลค่าและความนิยมของสยามคงไม่ได้รับผลกระทบอะไร และคนส่วนใหญ่ที่ถ่ายรูปถ่ายคลิปกันก็ไม่ได้ใช้เชิงพาณิชย์ ดังนั้นสยามเองจะยังคงได้รับความนิยมต่อไป เพียงแต่ว่าหากใครอยากถ่ายทำคอนเทนต์อะไรก็ควรได้รู้ไว้ว่าต้องเพิ่มการขออนุญาตไปอีกหนึ่งขั้นตอน อาจไม่สะดวกนัก แต่อย่างน้อยจะได้สบายใจกันทุกฝ่าย
ที่มา: https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/100645