แม้ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปลายฝนแล้ว แต่ยังคงมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนร่มหรือเสื้อกันฝนกลายเป็นของใช้ที่ต้องพกติดตัวไว้แทบตลอด
ตกนิดตกหน่อยมันก็พอได้ชื่นใจกันแหละครับ แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่อง PM 2.5 อีก แต่พอตกหนักเป็นพายุเข้าทีไรมันก็กระทบชีวิตไม่น้อยเลย
มากกว่านั้นคือภาคการท่องเที่ยวไทยที่หน้าฝนทีไรก็กลายเป็น Low Season ทุกปี
และไม่ใช่แค่นั้น เพราะจริง ๆ แล้วฝนตกหนักส่งผลกระทบภาพใหญ่ ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจอ่อนแอได้เลยนะ
เมื่อปี 2022 มีงานวิจัยตีพิมพ์บนนิตยสารวิทยาศาสตร์ในหัวเรื่องว่า “Rain Stops Gain” ได้ทำการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของฝนตก ในกว่า 1,500 พื้นที่ ใน 77 ประเทศ ในช่วงเวลากว่า 40 ปี พบว่าวันที่มีฝนตกส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศจริง
และยิ่งตกนานตกหนัก ระบบเศรษฐกิจก็ยิ่งหดตัวและส่งผลกับทั่วโลก
ในประเทศที่ร่ำรวยกว่าได้รับผลกระทบจากพายุฝนหนักกว่า เพราะรายได้หลัก ๆ ของประเทศเหล่านี้มาจากภาคอุสาหกรรมการผลิต และภาคบริการ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากฝนตก
โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมอย่างอเมริกา เยอรมนี หรือญี่ปุ่น ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้น้อยซึ่งพึ่งพารายได้จากเกษตรกรรมเป็นหลัก ก็ได้รับผลกระทบจากฝนเช่นกัน แต่ในระดับที่น้อยกว่า
งานวิจัยของ แม็กซิมิเลียน ค็อตซ์ (Maximilian Kotz) ยังพบว่า ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นในแต่ละวัน แม้เพียง 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร ก็สามารถทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจุลภาคลดลงได้อย่างมาก แปลว่าถ้าวันไหนตกหนักหน่อย เศรษฐกิจอาจตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ค่อยดีนัก
ทำไมถึงเป็นแบบนั้นล่ะ จริง ๆ แล้วถ้าฝนตกมันควรจะดีไม่ใช่เหรอ โดยเฉพาะกับภาคการเกษตร ที่เกษตรกรเขามากันขอให้ฝนตกน่ะ มันไม่ดีหรืออย่างไร
จะว่าดีมันก็ดีแหละครับ โดยทั่วไปแล้ว ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้นส่งผลดีต่อภาคการเกษตรอยู่แล้ว แต่ประเด็นน่ะมันอยู่ที่จะตกบ่อยตกถี่แค่ไหน ฝนตกจะดีต่อภาคการเกษตรได้จะต้องมีการเว้นช่วงที่พอดี แต่ถ้าหากตกหนักติดต่อกันหลายวันจนเกิดน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลากล่ะก็ อันนี้ซวยแล้วครับ และต่อให้ไม่ต้องถึงขั้นน้ำท่วม การที่ฟ้าครึ้มตลอด พืชผลได้รับแสงไม่พอ หรือชื้นเกินไปก็ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ฝนที่ตกหนักมันไม่ได้แค่ทำให้เราเปียก แต่ทำให้เดินทางลำบาก ถนนลื่น น้ำท่วม หรือไฟดับ ซึ่งมันลำบากกันทั้งผู้ขายและผู้บริโภคในแทบทุกธุรกิจ และโดยเฉพาะถ้าเกิดน้ำท่วม เศรษฐกิจในพื้นที่นั้นอาจโดนแช่แข็งไปเลยก็ได้ และมีแนวโน้มที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากน้ำท่วมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 17% ในอีก 20 ปีข้างหน้า
ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เป็นภาพคุ้นตาเลยคือเวลาเราไปเดินตลาดนัดกลางแจ้งช่วงเย็น ๆ แล้วฝนเกิดตกลงมา หลายคนก็หลบฝนกัน เดินซื้อของต่อไม่ได้ คนที่อยู่บ้านก็ไม่อยากออกไปไหน ถ้าตกหนัก พ่อค้าแม่ค้าก็พากันเก็บร้านไปเลย ทำให้รายได้หดหายไปในแต่ละวันไม่ใช่น้อย ๆ หรืออาชีพอย่างรถรับส่งและเดลิเวอรี่ ก็ทำงานยาก และอาจต้องแบกรับความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นด้วย
โดยรวมก็คือ การที่ต้องเผชิญกับฝนตกหนักมากติดต่อกัน มันไม่ดีต่อระบบเศรษฐกิจเลย โดยเฉพาะในระดับจุลภาคซึ่งอ่อนไหวและได้รับผลกระทบสั้น ๆ ได้ง่าย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ประเทศที่มั่งคั่งกว่ากลับได้รับผลกระทบที่มากกว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดูมีความยืดหยุ่น ผู้วิจัยกล่าวว่านั่นก็อาจเป็นเพราะระบบของประเทศเหล่านั้นเป็นไปโดยอัตโนมัติและอัดแน่นด้วยประสิทธิภาพสูงจนไม่เหลือที่ว่างในฟันเฟืองของระบบ ให้เศษปัญหาเล็ก ๆ เข้ามาติดขัดได้ พอเจอเรื่องฝนเข้าไป แม้ในช่วงสั้น ๆ ทั้งระบบจึงสั่นคลอน
ทั้งนี้งานวิจัยต่าง ๆ ก็ชี้ว่าปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบกับหลาย ๆ พื้นที่ทั่วโลกนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาพอากาศของโลกที่อุ่นขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังคงต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังต่อไป