ทุกวันนี้มีความสุขกันไหมครับ เคยถามตัวเองกันดูไหมครับว่า “วันนี้ฉันมีความสุขหรือเปล่า” จริง ๆ คงดูเป็นคำถามเชิงจิตวิทยาหรือปรัชญามากกว่า ไม่น่าจะมาเกี่ยวอะไรกับเรื่องการเงิน
แต่ความจริงที่น่าเศร้าคือ “ความสุข” กับ “เงิน” มันดันเกี่ยวข้องกันอย่างเลี่ยงไม่ได้นี่สิครับ และยิ่งถ้าคุณเป็นคนไทยที่อยากมีความสุข คุณอาจต้องมีเงินมากถึงหลักล้านเลย ความสุขกับเงินมันมีผลต่อกันอย่างไร และการมีความสุขในไทยมันอยากง่ายแค่ไหน มาสำรวจกันกับ Connect the Dots ครับ
คุณอาจเคยได้ยินที่ไลฟ์โคชหรือมหาเศรษฐีเขาพูดกันว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้” ซึ่งก็มักจะมีแต่กลุ่มคนที่ไม่เดือดร้อนเรื่องเงินแล้วนี่แหละที่ออกมาพูดอะไรแบบนี้ได้ ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อยากจะบอกว่าวลีนี้ “เป็นจริง” ในเชิงตรรกะและภาษาศาสตร์ เพราะความสุขคือสิ่งที่เป็นนามธรรม คุณไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างความสุขได้
แต่ในชีวิตจริง เราสามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขได้ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เงินเกี่ยวข้องกับความสุขโดยตรง
เรื่องนี้ยืนยันได้จากงานเขียนของของ Harvard University เรื่อง ‘ถ้าเงินไม่ทำให้คุณมีความสุข คุณอาจกำลังใช้มันไม่เป็น (If Money Doesn’t Make You Happy Then You Probably Aren’t Spending It Righ)’ ได้บอกเอาไว้ว่าแม้เงินกับความสุขจะไม่ได้มีผลต่อกันมากเท่าที่หลายคนคิด แต่เงินมากขึ้นก็ช่วยให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ได้นานขึ้น สุขภาพดีขึ้น ใช้เวลาคุณภาพและกิจกรรมดี ๆ กับเพื่อและครอบครัว ควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และซื้อสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งที่มาของความสุขได้
การที่บางคนมีเงินมากแต่ไม่มีความสุข อาจเป็นเพราะเขาไม่ได้ใช้มันอย่างถูกต้องต่างหาก พร้อมทั้งแนะนำแนวทางการใช้เงินเพื่อให้มีความสุขมากขึ้น เช่น การซื้อประสบการณ์มากกว่าสิ่งของ ใช้จ่ายกับความพอใจเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่าอะไรที่ทำให้รู้สึกดีมากในทีเดียว หรือแม้แต่การใช้จ่ายกับประกันให้น้อยลง
นั่นก็นำไปสู่อีกคำถามสำคัญว่า “แล้วต้องมีเงินเท่าไรถึงจะมีความสุข”
การศึกษาของ Purdue University ใช้ข้อมูลบุคคลกว่า 1.7 ล้านคนจาก 164 ประเทศทั่วโลก โดย Gallup World Poll พบว่ารายได้ต่อปีเฉลี่ยทั่วโลก 95,000 ดอลลาร์สหรัฐจะทำให้คนหนึ่งคนมีชีวิตโดยรวมที่ดีได้ และเพื่อจะให้มีสภาวะทางอารมณ์ที่ดี หรือเรียกง่าย ๆ ก็ความสุข จะต้องมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 60,000-75,000 ดอลลาร์สหรัฐต่างกันไปในพื้นที่ โดยส่วนที่เกินมาจากนั้นจะไม่ได้ส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์
แต่นี่คือภาพใหญ่ ๆ เท่านั้น ความเป็นจริงของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันมาก ว่าแต่ ถ้าจะมีความสุขได้ในประเทศไทย ต้องมีเท่าไรถึงจะพอ
S Money บริษัทแลกเปลี่ยนสกุลเงินในออสเตรเลีย ได้ต่อยอดการศึกษาของ Purdue University ด้วยการเทียบอัตราส่วนค่าครองชีพในแต่ละเมือง แต่ละประเทศด้วยค่าเงินท้องถิ่น เพื่อให้ได้ตัวเลข “ราคาความสุข” ของคนแต่ละประเทศ ซึ่งพบว่าความสุขของคนไทยมีมูลค่า 36,745 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว ๆ 1,317,308 ล้านบาท ตัวเลขนี้คือรายได้ต่อปีที่คนหนึ่งคนจะต้องมีเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัว ตามข้อมูลจาก IMF ระบุว่าในปี 2022 ไทยมี GDP per Capita อยู่ที่ 7,650 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 274,600 บาท ต่ำกว่าราคาความสุขราว 5 เท่าตัว แปลว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่มีรายได้ขนาดนั้น
ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นเลยว่าการใช้ชีวิตในไทยสำหรับ “คนไทย” มันไม่ง่ายเลย เพราะแม้ 1.3 ล้านจะไม่ใช่ราคาที่ต้องจ่าย แต่มันคือ ราคาที่ต้องมี เพื่อจะอยู่อย่างมีความสุข ฐานข้อมูลค่าครองชีพทั่วโลก Numbeo ระบุว่าค่าครองชีพไทยเฉลี่ยหัวละประมาณเกือบ 20,000 บาท แบบไม่รวมค่าที่พัก เป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป ซึ่งรายได้ต่อหัวที่หารแล้วตกเดือนละประมาณ 22,800 เหลือเก็บ ใช้จ่ายกับอย่างอื่น หรือกรณีฉุกเฉินค่อนข้างน้อย หรือจริง ๆ แล้วนอกจากความมั่งมี นี่จะเป็นอีกเหตุผลที่คนไทยมักไขว่าคว้า และนิยามชีวิตดี ๆ ด้วยเงินหลักล้านอยู่เสมอ เพราะมันคือราคาของความสุขนั่นเอง
กลับกันสำหรับชาวต่างชาติที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีมากกว่าไทย ก็มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ ด้วยปัจจัยสำคัญอย่างค่าครองชีพที่ไม่ได้สูงเลยใน “สายตาของพวกเขา” เป็นหนึ่งเหตุผลที่ไทยมักเป็นจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ หรือแม้แต่ติดท็อป 10 ประเทศที่คนอยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสะดวกสบาย จากการจัดอันดับโดย Astons บริษัทการลงทุนข้ามชาติและการย้ายประเทศ นั่นก็เพราะสำหรับพวกเขา มันไม่ได้ยากเลยที่จะมีความสุขได้ในประเทศไทย
นอกจากไทยแล้ว หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีราคาความสุขใกล้เคียงกัน และจัดว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ ในขณะที่ประเทศอื่นมีราคาความสุขที่สูงกว่านี้มาก โดยประเทศที่มีราคาความสุขสูงที่สุดในโลกคือ อิหร่าน ที่ 239,700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.6 ล้านบาท มหาอำนาจอย่างอเมริกาเอง อยู่ที่ 110,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.9 ล้านบาท ส่วนประเทศที่มีราคาความสุขต่ำที่สุดในโลกคือ เซียร์ราลีโอน อยู่ที่ 8,658 ดอลลาร์สหรัฐ หรือแค่ 3 แสนบาทต้น ๆ เท่านั้น
ทั้งนี้ไม่ได้กำลังจะบอกว่าถ้าคุณหาเงินไม่ได้เท่านี้คุณจะไม่มีความสุข เพราะความสุขของแต่ละคนแตกต่างกันไป และความสุขยังเกิดได้จากหลากหลายปัจจัยอีกด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงแค่ดัชนีบ่งบอกความสุขที่วัดได้ในรูปแบบของเงินเท่านั้น และแม้ว่าเงินจะทำให้มีชีวิตที่ดีได้ แต่สุดท้ายความสุขคือสิ่งที่เราต้องสร้างและนิยามมันด้วยตัวเอง ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขนะครับ
ที่มา:
https://www.imf.org/external/datamapper/profile/THA
https://www.numbeo.com/cost-of-living/country_result.jsp?country=Thailand
https://www.smoney.com.au/blog/the-price-of-happiness-in-every-country/?fbclid=IwAR1tYmifk_WmrKPLXY9dGVNtXDkkwf9br06KxrMT8OckC9ElLfMRT5PiZxk
https://scholar.harvard.edu/files/danielgilbert/files/if-money-doesnt-make-you-happy.nov-12-20101.pdf
https://www.purdue.edu/newsroom/releases/2018/Q1/money-only-buys-happiness-for-a-certain-amount.html
https://www.astons.com/about-us/