โรเบิร์ต วอลเทอร์ส (Robert Walters) ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก ได้เผยผลสำรวจล่าสุดเรื่อง ‘การทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในประเทศไทย’ จากการสำรวจบุคลากรและองค์กรกว่า 5,000 แห่ง ใน 11 ประเทศในเอเชีย เกี่ยวกับแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน
ในมุมของพนักงาน ผลสำรวจพบว่า 95% ของพนักงานในประเทศไทย ต้องการทดลองทำงาน 4วัน/สัปดาห์ และ 58%ของคนที่เห็นด้วย เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
ในมุมของบริษัท องค์กรในประเทศไทย 77% มองกว่าการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ มีความเป็นไปได้ แต่ยังลังเลหากต้องนำมาใช้จริง ทั้งนี้มีองกรค์ 26% เท่านั้นที่มีแผนจะปรับใช้นโยบายนี้ใน 1-2 ปี
จะเห็นว่าในภาพรวม ทั้งองค์กรและพนักงาน มีแนวคิดเป็นบวกต่อนโยบายนี้ แต่ก็ยังสะท้อนถึงความกังวลขององค์กรต่อนโยบายเช่นกัน
องค์กรที่มองว่าการทำงาน 4วัน/สัปดาห์ไม่สามารถทำได้จริง กังวลมากที่สุดเรื่องผลกระทบต่อการให้บริการลูกค้า เพราะคนไม่พอ (67%) กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากงานที่ล้าช้ารองลงมา (50%) และความยุ่งยากในการปรับใช้ จนอาจทำให้พนักงานไม่พอใจ (42%)
อย่างไรก็ตาม 90%ขององค์กรในไทยที่มองว่านโยบายนี้เป็นไปได้ เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาคที่ 66% ส่วน 77% คิดว่าจะช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานได้ และ 46% เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน
ด้านพนักงาน แม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วย แต่ก็มีส่วนที่มีความกังวลอยู่เช่นกัน 36% ของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย กังวลว่าอาจเกิดความเครียดเพราะจำนวนวันทำงานน้อยลง แต่งานยังเยอะเหมือนเดิม อาจต้องโหมงานหนักมากขึ้น และ 27% กังวลว่าอาจได้ค่าจ้างลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ 18% ก็กลัวว่าวันว่างมากขึ้นอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และต้องการใช้เวลาเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพมากกว่า
ส่วนในฝั่งพนักงานไทยที่เห็นด้วย 59% ถึงกับบอกว่า ยอมทำงานเพิ่มอีกวันละ 2 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ทำงานแค่ 4วัน/สัปดาห์ และ 45% ก็บอกว่า หยุดแบบไฮบริดเอาแล้วกัน
ในภาพรวมคือ ทั้งพนักงานและองค์กรในไทยต่างก็เห็นถึงความเป็นไปได้ แต่จะทำให้เกิดขึ้นจริงนั้นยังมีความท้าทายหลายอย่าง ทั้งนี้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวกับนโยบายนี้แบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า แม้จะเปิดกว้าง พูดง่าย ๆ คือ “ได้นะ แต่ไปช้าหน่อยแล้วกัน”
ผลสำรวจในไทยก็นับว่าสอดคล้องกับองค์กรและพนักงานในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทั้งมาเลเซียและฮ่องกง แต่อย่างเกาหลีและอินโดนีเซียก็มีแนวโน้มจะผลักดันนโยบายอื่นแทน อย่างโครงการสนับสนุนสุขภาพจิต หรือการเรียนรู้และพัฒนาทักษะพนักงาน
คุณปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการประจำประเทศไทยของโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ได้ให้ความเห็นว่า
“ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ใด ๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญคือการพิจารณาทางเลือกที่หลากหลายที่จะได้รับประโยชน์ทั้งในมุมองค์กรและในมุมพนักงาน ซึ่งการปรับใช้รูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก โดยให้ผลลัพธ์ในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานและการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อย่างไรก็ตาม องค์กรเองก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของความท้าทายและผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นด้วย”