ล่าสุดมีข่าวสาวชาวสกลนครเปิดรับบริจาคค่าเทอมเรียนแพทย์มอเอกชน หลังพยายามสอบมาแล้ว 7 ครั้งจนติด แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม หลังจากที่ก่อนหน้านี้เพียงสองสัปดาห์ก็เพิ่งมีนักศึกษาคณะทันตแพทย์จากมหาวิทยาลัยเดียวกันมาขอรับบริจาคจ่ายค่าเทอม จนสังคมเริ่มระอา ตั้งแง่กับคนที่ขอโอกาสด้วยวิธีนี้ เพราะนี่เป็นครั้งที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้ที่มีคนออกมาขอเงินเรียน ลองไปดูกันว่าที่ผ่านมามีเคสไหนบ้าง และอะไรคือเหตุผลที่ไม่ควรสนับสนุนการกระทำแบบนี้
ย้อนไปก่อนหน้านั้นในปี 2560 ก็มีกรณีแบบเดียวกันของนักเรียนชายชาวบุรีรัมย์ที่สอบติดวิศวะเคมีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ออกมาเล่าชีวิตรันทด แม่ตาย พ่อทิ้ง ไม่มีเงินเรียน จนมีคนรับอุปการะ และบริจาคถึง 8 แสนบาท แต่ปรากฎว่าโดนแฉ ไม่ได้ยากจนจริง ใช้เงินฟุ้งเฟ้อ พ่อยังอยู่ด้วย และเป็นเสาหลักของครอบครัว
ในปี 2564 ก็มีนักเรียนหญิงชาวกาฬสินธุ์ สอบติดแพทย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอรับบริจาคเพราะฐานะยากจน รับไปทั้งหมด 3 ล้านกว่าบาท แต่ภายหลังมีคนพบว่าน้องใช้ทั้ง iPad Pro และน้ำหอม Dior ซึ่งแม้ทางเจ้าตัวจะออกมาชี้แจงว่าไอแพดซื้อเพราะต้องเรียนออนไลน์ เลือกรุ่นดีเพราะอยากใช้ยาว ๆ น้ำหอมซื้อขวดเหลือมือสองมา และมีแผนนำยอดบริจาคส่วนเกินส่งต่อเป็นทุนให้รุ่นน้องต่อไป สังคมก็ยังคงคาใจอยู่ดี
ถ้ายังจำกันได้เมื่อต้นปี 2566 ก็มีกรณีของนักเรียนชายม.6 ที่จังหวัดพัทลุงสอบติดแพทย์ได้ที่มหาวิทยาลัยสงขลา แต่ขาดทุนทรัพย์ ครอบครัวยากจน จึงขอรับบริจาค ต่อมามีคนออกมาแฉว่าได้ยอดรวมหลักล้าน แต่ไม่มีการเปิดที่ชัดเจน และครอบครัวไม่ได้ยากจนจริง มีหลักฐานว่าทั้งแม่และตัวน้องนักเรียนเองใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ มีข้าวของราคาแพง
พอมาถึงกรณีของนักศึกษาทันตแพทย์ปี 5 มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ที่มาขอรับบริจาคค่าเทอม หลายคนก็ตั้งประเด็นว่าเรียนมาตั้ง 5 ปี จ่ายค่าเทอมละเกือบ 5 แสนมาได้ตลอด จะมาขออะไรเอาตอนใกล้จบ แม้ว่าเจ้าตัวจะชี้แจงว่ากู้จ่ายมาตลอด แต่พอเจอโควิด ทางบ้านเริ่มมีปัญหาจนจ่ายไม่ไหว
มาเคสล่าสุดของสาวสกลนครที่สอบติดแพทย์ ก็ปรากฏว่าเป็นมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นเหมือนเคสก่อนหน้า เหมือนทำตามกันมาเลย และเจ้าตัวเองก็จบสาธารณสุขมาก่อนแล้วด้วย ทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วการเรียนแพทย์ของเขาไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่เป็นความฝันอยากช่วยเหลือคน และเลือกสอบมหาวิทยาลัยเอกชนที่ค่าเทอมแพงกว่ามาตั้งแต่แรก โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายมาก่อน น่าจะเป็นเพราะการแข่งขันที่ต่ำกว่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังสอบตั้ง 7 ปี ระหว่างนี้กลับไม่เคยประเมินความพร้อมของครอบครัวเลย
ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าปัญหาหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่พอใจคือความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงิน รวมถึงภูมิหลังของผู้รับบริจาค ที่หลายคนนำเงินไปใช้นอกเหนือจากการศึกษา และอาจไม่ได้อยู่ในฐานะที่ลำบากจริง ๆ ถึงอย่างนั้นประเด็นนี้ก็เบาไปเลยเมื่อเทียบกับเหตุผลสำคัญอย่างเรื่องของความมักง่าย
ความฝันของเด็กสักคน มันคือ “เรื่องส่วนตัว” ของเขา และมันเป็นภาระของครอบครัวที่จะต้องจัดการ หากทำไม่ได้ควรรู้จักประมาณตน รู้ว่าตัวเองเหมาะหรือไม่เหมาะกับอะไร ถ้าหากอยากได้ทุนทรัพย์เพื่อการศึกษาจริง ๆ ประเทศเรามีทุนมากมายรองรับอยู่แล้ว ทั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่นักศึกษาคณะแพทยศาสต์สามารถยื่นขอได้ง่ายมากเมื่อเทียบกับคณะอื่น ๆ ได้วงเงินถึง 2 แสนบาทต่อปี และยังมีทุนย่อยมากมายตามหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งการสมัครขอรับทุนเหล่านี้คือสิ่งที่คนขาดโอกาสจริง ๆ เขาทำกัน
อีกเรื่องที่เราไม่ควรมองข้ามคือการให้ความสำคัญกับอาชีพ เพราะยังมีเด็กไทยมากมายที่ไม่มีโอกาสได้ทำตามความฝันของตัวเอง ไม่ได้เรียนในคณะที่พวกเขาอยากเรียน เพียงเพราะเขาไม่ได้อยากเป็นหมอแบบที่สังคมให้คุณค่า มีทุนรองรับสำหรับนักเรียนแพทย์เยอะไปหมด แต่น้อยมากสำหรับอาชีพอื่น ๆ อาชีพหมอเป็นอาชีพที่มีเกียรติก็จริง แต่อาชีพอื่นก็ไม่ได้ด้อยกว่ากัน ทุกอาชีพมีคุณค่าต่อสังคม แล้วทำไมเด็กที่อยากเป็นหมอถึงควรจะได้โอกาสที่ดีกว่าเด็กที่ทำอาชีพอื่นล่ะ
นี่แหละคือเหตุผลที่สังคมควรเลิกสนับสนุนการขอรับบริจาคค่าเทอมได้แล้ว ถ้าหากอยากช่วยต่อยอดอนาคตให้เด็กไทยจริง ๆ บริจาคเข้าไปที่หน่วยงานหรือกองทุนที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะจะดีกว่า เพราะมีการจัดการเรื่องเงินอย่างโปร่งใสและเป็นไปตามระบบ แถมยังช่วยกระจายโอกาสให้กับเด็กอีกมากมายที่เขาต้องการจริง ๆ ด้วย
สุดท้ายนี้ทุกคนคิดเห็นกับเรื่องนี้กันอย่างไรลองคอมเมนต์บอกกันหน่อยนะครับ ไม่มีผิดไม่มีถูก แลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ครับ