คุณคิดว่าตัวเอง “ติดแกลม” หรือเปล่า คนรอบตัวคุณมีใครเป็นแบบนั้นไหม
ทุกวันนี้คนใช้ชีวิตที่ติดแกลมกันเยอะมาก ด้วยความที่โซเชียลมีเดียมันเข้าถึงทุกคนได้ง่าย จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะได้เห็นการกินหรูอยู่แพงของใครต่อใครบนโลกออนไลน์ และยังส่งผลให้หลายคนอยากจะมีไลฟ์สไตล์ที่หรูหราแบบนั้นไปด้วย แต่ความจริงแล้ว นั่นอาจเป็นแค่ภาพลวงตาที่เราให้ค่ามันแบบผิด ๆ และกำลังส่งผลเสียร้ายแรงต่อการเงินและการใช้ชีวิตของเรา
“ติดแกลม” ศัพท์ใหม่สุดไวรัล มีความหมายว่า ติดหรู ติดสวย ชอบใช้ของสวย ๆ แพง ๆ มีที่มาจากคำว่า “Glamorous” ที่มีความหมายว่ามี “มีเสน่ห์” ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหรูหราเลยในด้านภาษา แต่เป็นคำที่ถูกใช้ไนทางเวทมนตร์เสียด้วยซ้ำ เพราะ “Glamor” ใช้ในความหมายว่า “มนตร์คาถา” ได้
แต่ที่ติดแกลมมันดันไปมีความหมายว่าติดหรูดูแพงได้ มันมาจากวงการแฟชั่น ที่ในแฟชั่นโชว์ต่าง ๆ มักบรรยายลุคที่ดููสวยมีเสน่ห์ดั่งต้องมนตร์เอาไว้ด้วยคำว่า Glamorous ซึ่งลุคแบบนั้นก็มักจะประกอบไปด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับ และเมคอัพ ที่หรูหรา ดูแพง จนกลายเป็นการใช้คำว่าติดแกลมกันในความหมายที่เกี่ยวข้องกับความหรูหราไปด้วย
การใช้ชีวิตติดแกลมก็มีตั้งแต่การแต่งหน้าแต่งตัวในลุคที่ดูสวย แพง มีเสน่ห์ หรือมากกว่านั้นก็คือการใช้ของหรูของแพงจริง ๆ อย่างกระเป๋า เสื้อผ้าแบรนด์เนม ใช้รถแบรนด์ยุโรปราคาหลักล้าน นอกจากนี้ยังรวมถึงไลฟ์สไตล์การบริโภค การทานอาหารมื้อละเป็นพัน หรือกาแฟแก้วหลักร้อย ก็สามารถถูกนิยามด้วยคำว่าติดแกลมได้หมด ถ้าจริง ๆ แล้วคุณไม่ได้พร้อมสำหรับมัน
อย่างเช่น คุณเป็นคน Gen Z เพิ่งทำงานมาได้ไม่นาน เงินเดือนสองหมื่นต้น ๆ แต่เลือกอยู่คอนโดค่าเช่าหมื่นกว่า ดื่มกาแฟแก้วละร้อยกว่าบาทแทบทุกวัน กินข้าวในห้างบ่อย ๆ มื้อละร้อยสองร้อย นัดเพื่อนกินซูชิสายพานประจำหมดครั้งละเกือบพันเพราะจานดำ และออกสังสรรค์ทุกสุดสัปดาห์ พอสิ้นเดือนมาก็โอดโอยว่า “เงินไม่พอ”
หรือถ้าเป็น Gen Y ที่พอมีฐานะขึ้นมาหน่อย เงินเดือนสัก 4-5 หมื่น คุณอาจอยู่ในสังคมที่คนรอบตัวแต่งงาน มีบ้าน มีรถเป็นของตัวเอง ก็เลยตัดสินใจผ่อนบ้านเดี่ยวย่านชานเมืองกับแฟนไปคนละสองหมื่นกว่าต่อเดือน จ่ายค่าผ่อนรถยุโรปให้ดูมีหน้ามีตาอีกเดือนละสองหมื่นกว่าบาท ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมมาใช้ให้ดูสมระดับซีเนียร์ ในขณะเดียวกันก็ยังต้องวางแผนเก็บเงินจ่ายค่าจัดงานแต่ง รู้ตัวอีกทีก็ชักหน้าไม่ถึงหลังไม่ต่างจาก Gen Z แล้ว
ซึ่งก็ส่งผลให้คุณไม่สามารถจัดการสภาพคล่องของตัวเองได้ และเกิดปัญหาหนี้ในที่สุด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั้ง Gen Y และ Gen Z ต่างก็เป็นวัยที่ก่อหนี้สูงมาก Gen Y มีหนี้เสียสูงที่สุด เกือบ 2.5 แสนล้านบาทในไตรมาสแรกของปี และ Gen Z เองก็เริ่มมีปัญหาหนี้มากขึ้น มีหนี้ในระบบเครดิตบูโรรวม 1.1 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่ใช้ไปกับการอุปโภคบริโภค หอการค้าสำรวจพบกว่า Gen Z 58% มีค่าใช้จ่ายเท่า ๆ กับรายได้เลย และยังมีอีกเกือบ 25% ที่ค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งต้องไปยืมเงินพ่อแม่ ยืมเพื่อน หรือแม้แต่กู้นอกระบบ
แต่ผู้คนจะยอมลำบากขนาดนั้น ซื้อของที่พวกเขาไม่มีเงินจ่าย หรือใช้ชีวิตแบบเกินตัวไปทำไม เหตุผลหลัก ๆ มันเป็นเรื่องของจิตวิทยาล้วน ๆ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ตรงกันว่าผู้คนใช้จ่ายกับสินค้าราคาแพงเพราะต้องการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง และได้รับการยอมรับจากสังคม โดยเฉพาะหากต้องเปรียบเทียบกับคนรอบตัวที่ร่ำรวยกว่า ก็จะพยายามใช้ของหรู ๆ เพื่อให้ดูทัดเทียมกับคนเหล่านั้น แม้ว่าจะไม่สามารถจ่ายได้จริง ๆ
แม้การใช้ชีวิตแบบนี้จะช่วยให้คุณเป็นที่ยอมรับจากคนรอบตัวมากขึ้น แต่ในทางกลับกันมันไม่ดีกับการเงินของตัวคุณเอง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะแม้มันจะทำให้คุณดูรวยขึ้น แต่คุณไม่ได้กำลังรวยจริง ความมั่งคั่งมันไม่ได้วัดกันที่ว่าคุณหาเงินได้เท่าไร หรือคุณใช้เงินได้เท่าไร แต่วัดกันว่าคุณเหลืออยู่เท่าไรต่างหาก
คุณอาจพยายามหารายได้มากขึ้นเพื่อให้ซื้อของแพงขึ้นได้ แต่คุณต้องไม่ลืมว่าความต้องการของมนุษย์มีไม่สิ้นสุด แต่ความสามารถในการหาเงินของคุณนั้นมีขีดจำกัดไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหน วิธีที่ดีที่สุดคือการประมาณตนให้ได้ ถามตัวเองให้ดีว่าคุณต้องการอะไรกันแน่ คุณอยากรวยขึ้นจริง ๆ หรือแค่อยากให้คนมองว่าคุณรวย
ท้ายที่สุดแล้ว การใช้ชีวิตแบบกินหรูอยู่แพงหรือติดแกลมมันไม่ได้แย่เลย และเป็นชีวิตแบบที่คนจำนวนหนึ่งใช้กันเป็นปกติด้วยซ้ำ เพียงแต่พวกเขาหาเงินได้มากพอและเหลือมากพอโดยไม่เดือดร้อนแม้จะใช้ชีวิตแบบนั้น แต่ถ้าคุณยังไปไม่ถึงจุดนั้นมันก็ไม่เป็นไรเลย คุณแค่ต้องรู้ตัวเองว่าการใช้ชีวิตแบบไหนที่เหมาะกับคุณ ทำให้คุณมีความสุขและมั่นคงได้จริง ๆ