แม้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 จะได้จบลงแล้วอย่างเป็นทางการ โอลิมปิกครั้งนี้ก็ได้ฝากตำนานไว้มากมาย นับเป็นหนึ่งในโอลิมปิกที่ดีที่สุดที่เคยมีมา แต่หนึ่งในตำนานของโอลิมปิกครั้งนี้คือ “มีม”
โอลิมปิกปารีส 2024 เป็นการแข่งขันกีฬาที่น่าจะมีมีมเกิดขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว ไม่ว่าจะเป็น
ท่ายิงปืนสุดเท่ของ คิม เยจี (Kim Ye-ji)
การลั่นไกไร้อุปกรณ์พร้อมท่าทางสุดชิลของ ยูซุฟ ดิเคช (Yusuf Dikeç)
กระโดดน้ำ 10 เต็มของ ฉวน หงฉาน (Quan Hongchan)
เจ้าหญิงนิทรา ยาโรสลาวา มาฮูชิคห์ (Yaroslava Mahuchikh) ที่นอนหลับรอ ตื่นมากระโดดคว้าเหรียญทอง
หรือจะเป็นพ่อหนุ่ม อ็องตอนี อัมมิราตี (Anthony Ammirati) ที่โดดไม้ค้ำข้ามคานไม่ผ่าน เพราะ “เจ้าหนูไม่น้อย” ของเขาไปเกี่ยวคานหล่นเสียอย่างนั้น
และแน่นอนว่ามีมีมจากนักกีฬาไทยเช่นกัน อย่าง วิว กุลวุฒิ พร้อมพุทธคุณเลิศล้ำ หรือจะเป็น หงส์ไทย อาวุธลับความสำเร็จของทีมยกน้ำหนักไทย
ทำไมถึงเป็น “มีม”
มีมเหล่านี้ได้รับการแชร์อย่างแพร่หลายบนโลกอินเทอร์เน็ต และถูกพูดถึงมาก จนสร้างการรับรู้มหาศาลให้กับทั้งปารีสโอลิมปิก และตัวนักกีฬาเอง จริง ๆ แล้วในโอลิมปิกครั้งก่อน ๆ หรือการแข่งขันกีฬาอื่น ๆ ก็มีเหตุการณ์ที่โดดเด่นหรือเรื่องฮา ๆ เกิดขึ้นไม่น้อย แต่สาเหตุที่โอลิมปิกปีนี้มันเกิดมีมมากมาย และเป็นกระแสไวรัลได้มากขนาดนี้ ส่วนหนึ่งต้องยกให้การพัฒนาของเทคโนโลยี และการเติบโตของโซเชียลมีเดีย
อย่างที่พอจะทราบกันคือ ทางทีมงานของปารีสโอลิมปิก เขาได้มีการใช้ AI ช่วยในการเผยแพร่ และสร้างสรรค์คอนเทนต์ของโอลิมปิกอยู่แล้ว นั่นทำให้อะไรเด่นอะไรดัง ก็จะยิ่งเด่นยิ่งดัง และถูกพูดถึงมากขึ้นได้
และอีกปัจจัยหนึ่งคือโซเชียลมีเดียหลากหลายช่องทางที่เข้าถึงผู้คนทั่วโลกได้มากกว่าที่เคย ทั้ง TikTok, Facebook, Instagram, X, YouTube ฯลฯ ทุกแพลตฟอร์มมีการพูดถึงโอลิมปิกมหาศาลอย่างต่อเนื่อง และทำให้แม้แต่คนที่ไม่ได้สนใจกีฬา ก็มารู้จักและติดตามโอลิมปิกครั้งนี้ได้ จากมีมที่ถูกแชร์ออกไปมากมาย
มีมสร้างรายได้?
แต่มากกว่าความสำเร็จในแง่ของการสร้างการรับรู้ หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า มีมก็สามารถสร้างเงินได้ โดยทั่วไปเรามักเข้าใจกันว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของมีมจริง ๆ เพราะมันก็เกิดจากการเอารูปภาพและวิดีโอจากแหล่งต่าง ๆ ที่ทั้งมีและไม่มีลิขสิทธิ์ มายำรวมกันและตีความมันใหม่ ด้วยการเล่าเรื่องผ่านข้อความ หรือการตัดต่อ และส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การใช้งานโดยชอบธรรม หรือ Fair Use ทำให้บันทึกและแชร์ต่อกันไปแบบฟรี ๆ จนหลายทีก็หาต้นฉบับไม่ได้ (แต่กฎหมายลิขสิทธิ์กับมีมมันจะกำกวมหน่อย ๆ ใครมีความรู้มาแชร์กันได้นะ)
สิ่งที่มีมูลค่าจริง ๆ ในการซื้อขายมีม คือการเป็นเจ้าของไฟล์ภาพหรือวิดีโอต้นฉบับ กระทั่งเมตาดาต้า (Meta Data) ของมีมนั้น ๆ ผ่านรูปแบบของ NFT ด้วยเทคโนโลยี บล็อกเชน (Blockchain) อย่างมีมเจ้าหมาชิบะ คาโบสุ สัญลักษณ์ดอจคอยน์ ก็เคยถูกซื้อขายด้วยราคา 1,696.9 ETH มูลค่าตอนนั้น 4.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 130 ล้านบาทเลย
ซึ่งถ้าถามว่าคนซื้อเขาจะซื้อไปทำไม สุดท้ายคนอื่นก็ยังแชร์ต่อกันไปฟรี ๆ อยู่ดี ไม่ได้เก็บไว้ดูคนเดียวสักหน่อย เหตุผลหลัก ๆ คือ “คุณค่าทางใจ” แค่นั้นเลย
เพราะงั้น ถ้าทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) หันมาเอาดีทางนี้ ก็น่าจะสร้างรายได้จากโอลิมปิกครั้งนี้เพิ่มได้ไม่ใช่น้อย ๆ เลย