ข่าวการเสียชีวิตของ แบงค์ เลสเตอร์ ไม่เพียงจุดประเด็นให้สังคมเห็นภัยร้ายแรงของคอนเทนต์ขยะและการกลั่นแกล้งแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ย้ำให้สังคมตระหนักถึงภัยจากแอลกอฮอล์ซึ่งอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะในเทศกาลแห่งการดื่มอย่างช่วงสิ้นปีแบบนี้ แต่ความเสียหายของน้ำเมาไม่ได้จบแค่นั้น มันยังส่งผลกระทบวงกว้างถึงระดับประเทศแบบคิดมูลค่าได้
เคยคิดเล่น ๆ ไหมว่าถ้าในประเทศมีคนดื่มเหล้าเยอะมาก ๆ จะเป็นอย่างไร เรื่องนี้เรียนรู้ได้จากบรรดาประเทศยอดนักดื่ม อย่างเกาหลีใต้ ประเทศที่มีวัฒนธรรมการดื่มเป็นซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก เผยแพร่ผ่านสื่อบันเทิงมากมายทั้งการกระดกโซจูในทุกมื้ออาหารในซีรีส์ดัง หรือจะเป็นเพลงฮิตอย่าง APT.
มีการศึกษาในปี 2006 เรื่องผลต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคมของการดื่มแอลกอฮอล์ในเกาหลี พบว่าเกาหลีสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีกว่า 14 ล้านล้านวอน คิดเป็น 2.86% ของ GDP จากทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การสูญเสียผลิตภาพและแรงงาน อีกทั้งยังมีการศึกษาที่พบว่าในปี 2016 เกาหลีใต้มีคนเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ 4.8% ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด เป็นภาระค่าใช้จ่ายสูงถึง 476 ล้านดอลลาร์ หลัง ๆ มาชาวเกาหลีใต้เองก็เริ่มตระหนักมากขึ้นและเริ่มมีวัฒนธรรมการดื่มที่เปลี่ยนไป บางส่วนถึงกับเห็นด้วยให้รัฐขึ้นภาษีน้ำเมา
ประเทศที่ดื่มวอดก้าแทนน้ำเปล่าได้อย่างรัสเซียก็ไม่พ้นโดนผลกระทบจากประชาชนขี้เมา ซึ่งเป็นผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของชาวรัสเซียและเศรษฐกิจของประเทศ และการศึกษาในปี 2021 พบว่ารัสเซียเสีย 2.6% ของ GDP ให้กับการบริโภคแอลกอฮอล์ โดย 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายคือการสูญเสียผลิตภาพของแรงงาน ส่วนที่เหลือคือค่าใช่จ่ายโดยตรงอย่างค่ารักษาพยาบาล รัฐบาลจึงได้พยายามแก้ไขด้วยหลากหลายมาตรการทั้งขึ้นภาษีวอดก้า จำกัดเวลาขาย และออกกฎหมายควบคุมโฆษณาน้ำเมา
ส่วนประเทศไทยก็เคยติดท็อปโลกด้านการดื่ม (อันดับขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลจากแหล่งไหน) และนั่นส่งผลให้คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องประสบปัญหาจากการดื่มน้ำเมา
การสำรวจจากกรมสุขภาพจิตพบว่าคนไทย 1.3 ล้านคนเข้าข่ายเป็นโรคติดเหล้า
ข้อมูลจากคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเผยให้เห็นว่ามีคนไทยเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ประมาณปีละ 2 หมื่นรายและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี
ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงชลานครินทร์ พบว่าคนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไปเกือบ 7 ล้านคนเป็นนักดื่มประจำ
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้เผยแพร่ผลการศึกษา “ผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศไทย” พบว่าคนไทยดื่มกันเฉลี่ยคนละ 7 ลิตรต่อปี แต่ถ้าดื่มเพิ่มอีกคนละ 1 ลิตร จะทำให้ระยะยาว การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ลดลงประมาณ 15%
อีกทั้งยังมีงานวิจัยในปี 2021 ที่พบว่าภาระทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องแบกรับจากการดื่มแอลกอฮอล์อาจคิดได้เป็นเกือบ 2% ของ GDP
ด้วยข้อมูลเหล่านี้ ชี้ให้เราเห็นชัดเจนว่าผลกระทบของการบริโภคน้ำเมามากเกินไปทำร้ายมากกว่าแค่สุขภาพและชีวิต แต่ยังส่งผลเสียร้ายแรงแต่ภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้กลุ่มที่จะได้ประโยชน์คืออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าสูง อาจช่วยให้เศรษฐกิจดูโตขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวหากไม่สามารถควบคุมการบริโภคน้ำเมาแต่พอดีได้ ก็อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อคนทั้งประเทศ