ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาภาพยนตร์ไทยจาก GDH เรื่อง “หลานม่า” ครองโรงทำกระแสได้ดีอย่างต่อเนื่อง และหลายคนน่าจะมีโอกาสได้รับชมกันแล้ว ซึ่งเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องชีวิตครอบครัวและผลประโยชน์อย่างมรดก โดยตัวเอกของเรื่องอย่าง เอ็ม ตั้งใจเข้าไปดูแลอาม่าในช่วงบั้นปลายเพื่อหวังได้มรดกจากอาม่ามาเปลี่ยนชีวิต ซึ่งนั่นก็อาจไม่ต่างอะไรจากชีวิตจริงที่การจัดการมรดกนั้นเป็นปัญหาใหญ่ในหลายครอบครัว และเป็นคดีแพ่งที่ขึ้นศาลเป็นอันดับ 1 ในไทย
ข้อมูลสถิติคดีความจากศาลยุติธรรมประจำปี 2565 เปิดเผยจำนวนข้อหาคดีแพ่งที่ขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด อันดับหนึ่งคือ ข้อหาขอจัดการมรดก 123,897 คดี ซึ่งจริง ๆ แล้วคดีจัดการมรดกก็มากเป็นอันดับหนึ่งมาเป็นสิบปี สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการเรื่องเงินทองภายในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งนั่นก็ไม่แปลกอะไรที่มันจะไม่ใช่เรื่องที่จัดการกันได้ง่าย ๆ เพราะผลประโยชน์ก้อนใหญ่แบบนี้มันมากพอจะพลิกชีวิตคนได้เลย ถ้าอย่างที่คุ้นชินกันก็เป็นตัวเลขหลักล้าน เป็นที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าขึ้นไปถึงศาลแบบนี้ต้องมีศึกสายเลือดกันแน่นอน เพราะหลายครั้งมันมาจากเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก หรือเกิดความยุ่งยากบางอย่างในการจัดการมากกว่า พอต้องจัดการมรดกขึ้นมาก็อาจต้องยื่นขอจัดการมรดกต่อศาลเป็นธรรมดา
จากข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม พบว่าในปี 2565 คนไทยเสียชีวิตเกือบ 600,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงไม่แปลกเลยที่จะมีการยื่นขอจัดการมรดกต่อปีเป็นแสน ๆ คดี
นอกจากนี้ในปัจจุบันการยื่นขอจัดการมรดกนั้นสะดวกมากขึ้นด้วย เพราะตอนนี้ศาลยุติธรรมยังเพิ่มความสะดวกในการขอจัดการมรดกด้วยระบบ e-filing อีกด้วย
อย่างไรก็ตามความยุ่งยากในการจัดการมรดกหลังคนในครอบครัวเสียชีวิตมันก็เป็นเพียงความยุ่งยากเล็กน้อย และมูลค่าของมรดกที่ได้มามันก็คงไม่อาจเทียบหรือชดเชยช่วงเวลาที่เราได้ใช้กับคนที่รักได้ ภาพยนตร์ หลานม่า ทำให้เราเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญจริง ๆ ของ “เวลา” ที่มากกว่าเงิน เพราะฉะนั้นไม่ว่าเรื่องเงินจะสำคัญขนาดไหน ก็คงไม่สำคัญกว่าช่วงเวลาดี ๆ ที่ครอบครัวได้ใช้ด้วยกันอย่างมีความสุข