ถ้าใครเคยผ่านประสบการณ์การเป็นหนี้ คงเข้าใจได้ถึงความทรมานของมัน ที่ต้องทำงานหนักมาทั้งวันทั้งเดือน แต่แค่หาเงินมาจ่ายดอกยังแทบไม่พอ จนเหมือนชีวิตไร้จุดหมาย นั่นคือความรู้สึกแบบเดียวกันที่เหล่าตัวละครใน “เธอฟอร์แคช สินเชื่อ…รักแลกเงิน” ต้องพบเจอ วันนี้ Connect the Dots จึงอยากมาไปสำรวจมุมมองปัญหาหนี้ที่ถูกสะท้อนผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ และชวนทุกคนไปรับชมกัน (แต่เกริ่นไว้ก่อนว่าอาจไม่ได้ลงรายละเอียดเยอะ เพราะไม่อยากสปอยล์)
เรื่องย่อคร่าว ๆ คือ หนังเล่าถึงความสัมพันธ์ของ โบ้ (ไบรท์ – วชิรวิชญ์ ชีวอารี) นักทวงหนี้ยอดฝีมือในพัทยา ที่ข่มขู่ลูกหนี้ด้วยวิธีสุดแปลก และ อิ๋ม (ญาญ่า – อุรัสยา เสเปอร์บันด์) สาวแบงก์ที่ต้องมาจ่ายหนี้แทนพ่อ ด้วยการออกเดตกับโบ้แทนการจ่ายดอก แต่มีฉากหลังของเรื่องเป็นชีวิตที่ต้องดิ้นรนของลูกหนี้ที่จมอยู่ในวังวนของความยากจนและความรุนแรง ทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ถูกถ่ายทอดออกมาได้หม่นปนยิ้มใกล้เคียงกับชีวิตจริงในสังคม
ตัวหนังเผยให้เราเห็นถึงความร้ายแรงของหนี้นอกระบบตั้งแต่ต้น ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่ามักพ่วงมาด้วยความรุนแรง เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระบบของสินเชื่อทั่วไป ที่มีสัญญา เงื่อนไข และกฎหมายรองรับ แก๊งทวงหนี้จึงมักจะขู่ทำร้ายร่างกายลูกหนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่กับตัวเอกอย่างโบ้ ที่เลือกจะไม่ใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้ แต่มักใช้วิธีตีหัวตัวเองเพื่อขู่ให้ลูกหนี้กลัวจนต้องยอมจ่าย ถึงอย่างนั้นเพื่อน ๆ ในแก๊งของเขาก็ใช้วิธีมักทำร้ายลูกหนี้อยู่บ่อย ๆ
“คนเป็นหนี้ ก็เป็นหนี้ไปจนตาย” นี่คือสิ่งที่โบ้พูดกับริชชี่ (ป๋อมแป๋ม – นิติ ชัยชิตาทร) ตอนไปเก็บดอก และนั่นก็ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับลุงอ๊อด ลูกหนี้คนโปรดของโบ้ที่เขาห่วงใยเหมือนญาติคนสนิท ลุงอ๊อด (เจี๊ยบ – วัชระ ปานเอี่ยม) เริ่มเป็นหนี้จากการหาทุนมาเปิดร้าน แต่ธนาคารไม่อนุมัติให้ จึงจำใจต้องกู้นอกระบบ พอเจ๊งก็ไม่มีเงินมาคืน จนต้องเป็นหนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และนั่นก็ยังเป็นภาระที่ตกอยู่กับอิ๋ม ที่ต้องมาแบกรับเอาไว้แทน รวมถึงในตอนท้ายที่ต้องมาชดใช้ในสิ่งที่โบ้ทำ จนชีวิตตัวเองพังไม่เป็นท่า ทำให้เห็นว่าหลายครั้งการเป็นหนี้ไม่ได้เดือดร้อนแค่ชีวิตคนกู้เท่านั้น แต่รวมถึงคนรอบตัวด้วย และมันไม่ได้หมดกันง่าย ๆ
ความลำบากของอิ๋มก็เป็นสิ่งที่สะท้อนความจริงที่เจ็บปวดของมนุษย์เงินเดือนได้เป็นอย่างดี จะมีฉากหนึ่งที่อิ๋มต้องลิสต์รายได้และค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนให้โบ้ดูว่าเงินเหลือน้อยแค่ไหน ซึ่งแม้ว่าอิ๋มจะเป็นสาวแบงก์เงินเดือนหลักหมื่น พอหักนู่นนี่แล้วเหลือจริง ๆ แค่เดือนละพันกว่าบาทเท่านั้น และกว่าอิ๋มจะเก็บเงินก้อนเล็ก ๆ แค่ 25,000 บาทได้ ก็ใช้เวลาถึง 2 ปีเลย ในชีวิตจริงนี่ก็คือความลำบากที่หลาย ๆ คนต้องดิ้นรนไม่ต่างจากอิ๋ม
อีกมิติหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับหนี้โดยตรงแต่ถูกท่ายทอดในหนังคือการพนัน ประสิทธิ์ (บิ๊ก – อุกฤษ วิลลีย์ บรอด ดอนกาเบรียล) เจ้ามือไฮโลขี้โกงที่หลอกเอาเงินนักพนันอยู่เสมอ ซึ่งโบ้ต้องเข้าไปทวงหนี้ และทำให้เราได้เห็นว่าเงินสกปรกที่มาจากตรงนี้ “อันตราย” แค่ไหน ถึงได้มาแต่ก็อาจไม่ได้ใช้ เข้าไปแตะมันแม้แต่นิดเดียวก็อาจชิ***ยได้มากกว่าที่คิด
หนึ่งในสาส์นสำคัญที่หนังเตือนคนดูคือการประมาณตน เรื่องสำคัญในชีวิตจริงที่หลายคนละเลยไปจนทำให้เป็นหนี้ อย่างในตอนที่ชีวิตของอิ๋มและโบ้กำลังเข้าที่เข้าทางแล้ว พวกเขาตัดสินใจสร้างอนาคตด้วยกัน แต่วงเงินกู้ร่วมที่มีดันไม่พอให้ไปต่ออย่างที่ตั้งใจ อิ๋มจึงยั้งไว้เพราะไม่อยากทำอะไร “เกินตัว” ถึงอย่างนั้นโบ้ก็ตัดสินใจเอาเงินก้อนเดียวที่พวกเขามีไปเสี่ยง จนนำไปสู่หายนะครั้งใหญ่ในชีวิตของทั้งคู่ ต้องสังเวยช่วงเวลาดี ๆ ที่ควรได้ใช้ด้วยกันเพื่อนดิ้นรนอีกครั้ง
ถึงแม้จะดูเต็มไปด้วยเรื่องราวอันขมขื่น แต่ในหนังยังแฝงไปด้วยแรงบันดาลใจให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตและมีความหวังแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก มีประโยคที่ลุงอ๊อดพูดกับโบ้ไว้ว่า “คนเรามันต้องมีหวัง คนไม่มีหวังนั่นมันคนตาย” ซึ่งก็เป็นแรงใจสำคัญให้โบ้และอิ๋มสู้ชีวิตกันต่อไป และได้มีความสุขด้วยกัน แม้อยู่ในช่วงที่ยากลำบาก
รวมถึงวิธีทวงหนี้สุดสร้างสรรค์ของโบ้ ซึ่งแทนที่จะเอาแต่กดดันลูกหนี้ ก็ช่วยต่อยอดรายได้ สร้างอาชีพให้มั่นคงมากขึ้นเพื่อให้มีเงินมาจ่าย ทำให้เราได้เห็นถึงมุมมองปัญหาที่หลากหลายที่อาจจะมีทางออกอยู่ในนั้น เหมือนกันกับที่อิ๋มพูดกับโบ้ว่า “ทั้งที่มัน(พัทยา)คือที่ที่เราอยู่ทุกวัน แต่มองลงไปจากมุมนี้ มันกลายเป็นสวยซะงั้น” สื่อเป็นนัยว่าแม้ชีวิตจะมีเรื่องราวแย่ ๆ แค่ไหน แต่ในบางมุมแล้วมันก็มีเรื่องดี ๆ อยู่เหมือนกัน
โดยรวมแล้วขอสรุปง่าย ๆ เลยว่า หนังสะท้อนให้เราเห็นได้เป็นอย่างดีว่าการเป็นหนี้มันทรมานแค่ไหน และยังนำเสนอมุมมองของคนเป็นหนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งความจำเป็นและความลำบากหลายอย่างที่ต้องเจอ ตรงกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่หนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ต่อ GDP ทำให้คนไทยยังต้องจมกับปัญหาหนี้ที่แก้ไม่หาย หนังเรื่องนี้ถือว่านำเสนอแง่มุมของปัญหาหนี้ได้อย่างล้ำลึก และมีความหมาย
Connect the Dots จึงอยากจะเชิญชวนทุกคนไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะได้สนุกไปกับเรื่องราวและการแสดงดี ๆ ของทั้งไบรท์และญาญ่าแล้ว เชื่อว่าไม่ว่าคุณจะเคยหรือไม่เคยเป็นหนี้ คุณได้อะไรดี ๆ จากหนังเรื่องนี้กลับไปแน่นอน
เธอฟอร์แคช สินเชื่อ…รักแลกเงิน ฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์