ทุกวันนี้เวลาสังคมไทยพูดถึงเรื่อง “สมรสเท่าเทียม” ทั่วไปก็จะเป็นเรื่องมิติสังคมการเมืองอย่างเรื่องสิทธิเป็นหลัก อย่างไรก็ดี จริง ๆ แล้วมิติสำคัญมากที่ภาครัฐน่าจะมองในการ “อนุญาต” ให้คนเพศเดียวกันแต่งงานได้ จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องมิติทางเศรษฐกิจ และมีการพูดคุยกันมาเยอะมาก
ในสหรัฐอเมริกาหลังจากศาลสูงสุดตัดสินว่าการห้ามคนเพศเดียวกันแต่งงานกันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญในปี 2015 หลังจากนั้นการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 50 รัฐในสหรัฐอเมริกา จริง ๆ นี่ไม่ใช่เรื่องประหลาด เพราะตอนนั้นรัฐส่วนใหญ่ถึง 37 รัฐก็อนุญาติให้มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันอยู่แล้ว ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงให้มีการสมรสเพศเดียวกันจึงเพิ่มมาเพียง 13 รัฐเท่านั้น
แต่สิ่งซึ่งก็น่าสนใจว่าหลังจากนั้นเค้าก็มีการประเมินว่ามันมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันทั้งประเทศเท่าไร? และเค้าก็ประเมินว่า 3 ปีหลังการสมรสเพศเดียวกันถูกกฎหมายในทุกรัฐ มีเม็ดเงินไหลเวียนในเศรษฐกิจอันเนื่องจากการให้มีการสมรสเพศเดียวกันถึง 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว โดยในรอบ 5 ปี เค้าก็ประเมินว่าการสมรสเพศเดียวกันสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไปรวมๆ เกือบ 4,000 ล้านเหรียญเลยทีเดียว
ซึ่งแน่นอน ตัวเลขพวกนี้เล็กน้อยมากในระบบเศรษฐกิจที่มูลค่าผลผลิตประชาชาติสูงระดับ 10,000,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่ประเด็นคือนี่ก็ไม่ใช่ตัวเลขน้อย ๆ เลยถ้านับว่านี่เป็นแค่ “รายได้ทางตรงที่นับได้” เพราะนี่คือเค้าประเมินจากแค่เงินที่หมุนเวียนจาก “งานแต่งงานเพศเดียวกัน” ที่เกิดขึ้น หรือพูดง่าย ๆ คือประเมินจากงบงานต่างงานเพศเดียวกันทั้งอเมริกา และสิ่งเกี่ยวเนื่อง เช่นภาษีไปจนถึงรายได้จากการท่องเที่ยวในรัฐที่เกิดจากแขกที่เดินทางมางานแต่งใช้เงินจับจ่าย
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ สถิติพวกนี้มีน้อย เพราะนี่เป็นเรื่องใหม่มาก อย่างไต้หวันที่เพิ่งออกกฎหมายให้แต่งงานเพศเดียวกันได้ในปี 2019 ผลคือไม่นาน “โควิด” ระบาด งาน “อีเวนต์” ทั้งหลายถูกเลื่อนไปหมด งานแต่งงานก็เช่นกัน และก็คงจะไม่เป็นธรรมนักที่จะประเมินว่าธุรกิจตระกูลอีเวนต์เติบโตดีแค่ไหนในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาที่ใต้หวัน
อย่างไรก็ดี ในกรณีไทย ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า “สมรมเท่าเทียม” ที่ออกมาจังหวะนี้ก็มีเหตุผลด้านการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแน่ ๆ
หลายคนอาจไม่รู้ แต่ในเชิงการท่องเที่ยว มันมีคำว่า “ท่องเที่ยวเชิงแต่งงาน” (Wedding Tourism) อยู่แล้ว ซึ่งมันก็คือการท่องเที่ยวที่เกิดจากการจัดงานแต่งงานในประเทศ ซึ่งในกรณีไทย การท่องเที่ยวเชิงแต่งงานคือสร้างรายได้ให้ประเทศหลักพันล้านเหรียญต่อปีอยู่แล้ว โดยชาติที่สร้างรายได้หมวดนี้ให้ไทยเยอะ ก็ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย และเกาหลีใต้ และทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็มีงบสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบนี้อยู่แล้วโดยมีการออกไปโปรโมตประเทศไทยในฐานะปลายทางของการแต่งงานมานานแล้ว
ซึ่งด้านหนึ่ง ตัวเลขนี้ก็น่าจะพอทำให้พอเห็นภาพว่า “สมรสเท่าเทียม” ผ่าน น่าจะทำให้เกิดรายได้ในธุรกิจแต่งงานแต่ไหน ซึ่งถ้าจะพูดง่าย ๆ ก็คือ ตัวเลขเต็มที่ก็น่าจะอยู่หลักร้อยล้านบาทต่อปีทั้งประเทศ
แน่นอนนี่เป็นตัวเลขที่เล็กมากในรายได้มวลรวมประชาชาติของไทยที่ปัจจุบันอยู่ราวๆ 17 ล้านล้านบาทต่อปี แต่สิ่งที่ภาครัฐคาดหวังก็น่าจะไม่ใช่แค่นี้แน่
แต่รัฐจะคาดหวังอะไร? คือต้องเข้าใจก่อนว่า อย่างน้อยประเทศที่คนสามารถสมรสเพศเดียวกันในประเทศตัวเองได้อยู่แล้วที่เป็นตลาดใหญ่ของไทยคือสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย (ประเทศแรกเเริ่มทำได้ในปี 2015 ที่เล่ามาตอนต้น ส่วนประเทสหลังเริ่มทำได้ปี 2017) ซึ่งการมี “สมรสเท่าเทียม” ก็น่าจะยิ่งเพิ่มบรรยากาศให้คนจากประเทศเหล่านี้ยิ่งอยากมา “จัดงานแต่งงาน” ที่เมืองไทย เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติที่มาแต่งก่อนหน้าแล้ว
แต่สิ่งที่น่าสนใจและท้าทายของตลาดการแต่งงานก็คือในกรณี จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นชาติที่กฏหมายชาติตัวเองล้วนไม่ยอมรับการสมรสเพศเดียวกัน คนจากประเทศนี้จะมา “ทำพิธีแต่งงาน” ในเมืองไทยหรือไม่? อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องดูกันต่อไป
แต่อีกด้านที่น่าสนไม่แพ้กันก็คือ การเปลี่ยนบรรยากาศให้เมืองไทยเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ของคนรักเพศเดียวกันทั่วโลกโดยสมบูรณ์ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คนเหล่านี้อาจมองว่าประเทศไทยเป็นที่ที่อยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย ซึ่งข้อได้เปรียบอีกประการของเมืองไทยคือบริการทางการแพทย์ที่ราคาย่อมเยา ซึ่งนี่เป็นบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นมาก สำหรับกลุ่ม “คนข้ามเพศ” ทั้งหญิงข้ามเพศและชาวข้ามเพศ
และคำถามก็คือนี่จะเป็นไปได้หรือเปล่าที่มันจะทำให้เกิด “ตลาดผสม” เช่น ตลาด LGBTQ+ สูงอายู หรือพูดง่าย ๆ มันเป็นไปได้ที่สมรสเท่าเทียมจะเปิดช่องให้ LGBTQ+ สูงอายุจากโลกตะวันตกอยากมาใช้ชีวิตวัยเกษียณอยู่เมืองไทยมากขึ้น
ซึ่งอะไรพวกนี้ก็น่าจะเป็นลักษณะเฉพาะของเมืองไทยจริง ๆ ที่มีอัตสาหกรรมด้านสุขภาพโดดเด่นด้านราคาถูกและคุณภาพดี ซึ่งไทยจะโตเป็น “Hub วัยเกษียณของ LGBTQ+” ได้หรือไม่ ก็อาจต้องดูกันต่อไป และสิ่งเหล่านี้ก็อาจไม่ได้ต้องการแค่กฎหมายสมรสเท่าเทียม มันอาจต้องมีการเปลี่ยนระเบียบวีซ่าระยะยาวให้ของ่ายขึ้น หรือกระทั่งการเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ ให้สัญชาติไทยสามารถขอได้ง่ายขึ้นสำหรับชาวต่างชาติที่อยากมาอยู่ที่นี่
เขียนโดย
อนาธิป จักรกลานุวัตร