คุณอาจเคยเจอคนอ้างว่า สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) จบแค่ม.ปลาย ยังเป็นก่อตั้ง Apple ได้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ไม่จบมหาวิทยาลัยยังเป็นเจ้าของ Meta เป็นเคสตัวอย่างเพื่อพูดในทำนองที่ว่า “การศึกษาไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จ” ซึ่งนั่นคือเรื่องจริง แต่หลายคนกลับเข้าใจเรื่องนี้ผิดจนมองว่าการศึกษาไม่สำคัญ เกิดวลีอย่าง “ใบปริญญาก็แค่กระดาษ” หรือ “เกรดก็แค่ตัวเลข” ขึ้นมา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผลสำรวจหลายชิ้นชี้ตรงกันว่าการศึกษามอบโอกาสที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเคสคนรวยที่จบไม่สูงแต่ประสบความสำเร็จ มันไม่ใช่เพราะเขาไม่สนใจการศึกษา เพียงแต่การศึกษาในระบบมันอาจไม่ได้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของพวกเขา ทั้งซักเคอร์เบิร์กและจอบส์ต่างก็เป็นอัจฉริยะในงานของพวกเขา พวกเขารู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและมหาวิทยาลัยไม่สามารถมอบสิ่งนั้นให้กับพวกเขาได้ จึงออกมาศึกษาและสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง
กลับกันสำหรับคนส่วนมากในสังคม การศึกษาคือปัจจัยสำคัญที่มอบโอกาสประสบความสำเร็จในการงานและชีวิต จากการศึกษาของ U.S. Bureau of Labor Statistics ในปี 2023 เรื่องรายได้และอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่าคนที่ได้รับการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมปลายมีรายได้เฉลี่ยต่อสัปดาห์ที่ 708 ดอลลาร์และอัตราการว่างงาน 5.6%
ถ้าจบมัธยมจะมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 899 ดอลลาร์และอัตราการว่างงานลดลงเหลือ 3.9% ในขณะเดียวกันถ้าจบปริญญาตรีจะมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,493 ดอลลาร์และอัตราการว่างงานเหลือเพียง 2.2% เท่านั้น และถ้าจบปริญญาเอกจะมีรายได้เฉลี่ยมากถึง 2,109 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์และอัตราการว่างงานเพียง 1.6% จะสังเกตได้ว่าระดับการศึกษาที่สูงขึ้นส่งผลต่อรายได้ที่มากขึ้นและอัตราการว่างงานที่ลดลงจริง
อีกทั้งถ้าเทียบตามสัดส่วนแรงงานในสายงานต่าง ๆ แล้ว แรงงานส่วนใหญ่ในระบบของสหรัฐอเมริกายังเป็นกลุ่มที่จบมหาวิทยาลัยอีกด้วย แต่หากเทียบดูในอาชีพสายงานสำนักงาน (White Collar) และอาชีพใช้แรงงาน (Blue Collar) จะพบความแตกต่างชัดเจนคือ สายงานสำนักงานที่โดยทั่วไปมีรายได้สูงกว่าส่วนใหญ่คือแรงงานที่จบมหาวิทยาลัย ส่วนอาชีพใช้แรงงานที่มีรายได้น้อยกว่าจะเป็นแรงงานที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี
นอกจากนี้ในการศึกษาของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เรื่องผลกระทบของการศึกษาต่อการเป็นเจ้าของบ้านในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1960-2020 พบว่ากลุ่มที่กลุ่มมหาวิทยาลัยมีอัตราการเป็นเจ้าของบ้านสูงขึ้น จาก 74% เป็น 84% ส่วนกลุ่มที่ไม่จบมัธยมปลายมีอัตราการมีบ้านลดลงจาก 67% เหลือ 64%
และผลการศึกษาโดยรวมพบว่าการเรียนเพิ่มทุก 1 ปีจะส่งผลให้เพิ่มโอกาสการเป็นเจ้าของบ้านได้ 1.9% ผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นเจ้าของบ้านมากกว่า เนื่องจากมีรายได้สูงและมีความสามารถในการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับตลาดที่อยู่อาศัยและการจำนองได้ดีกว่า
ไม่ใช่แค่ในประเทศเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ในไทยก็ไม่ต่างกัน ผลการวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า กลุ่มคนที่มีวุฒิ ป.6 มีรายได้เฉลี่ย 9,136 บาท วุฒิม.ต้น 10,766 บาท วุฒิม.ปลาย 13,180 บาท และถ้าจบมหาวิทยาลัยจะมีรายได้เฉลี่ย 27,132 บาท ก้าวกระโดดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และยังชี้ว่าหากผลักดันเด็ก ม.3 ทุกคนให้อยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากถึง 409 บาทต่อปี
รายได้ตลอดช่วงชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากการศึกษาต่อ หากคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุน (IRR) แล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 9% ซึ่งสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐที่อยู่ราว 2.7% และอยู่ในระดับสูงเทียบเคียงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลในระดับ 9-12 % และยูเนสโก (UNESCO) เคยประเมิณว่าถ้าเด็กไทยไม่หลุดจากระบบการศึกษาเลย GDP ประเทศจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 3% นั่นหมายความว่านอกจากการศึกษาจะส่งผลต่อรายได้ในระดับบุคคลแล้วยังสร้างผลกระทบวงกว้างในระดับประเทศด้วย
ดังนั้นแม้การศึกษาจะไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จ แต่มันเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยการสร้างความก้าวหน้าด้านการเงินและช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จได้จริง คนที่เรียนจบสูงกว่าก็มีแนวโน้มสร้างรายได้มากกว่า จะมองข้ามความสำคัญของการศึกษาไปเสียไม่ได้
และหากไม่ได้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนจริง ๆ ก็ไม่ควรไปปั่นหัวใครให้ดูแคลนการศึกษาจะดีกว่า เพราะในขณะที่บางคนเลือกที่จะละทิ้งการศึกษาด้วยตัวเอง น่าเศร้าที่เด็กไทย 3 หมื่นกว่าคนต้องหลุดจากระบบการศึกษาด้วยความยากจนทุกปี และไม่ได้มีโอกาสดี ๆ แบบที่คนอื่นมีได้