ส่งท้ายช่วงของการเกณฑ์ทหารประจำปี 2567 ที่ชายไทยอายุ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจะต้องเสี่ยงดวง ฝากอนาคตเอาไว้กับกระดาษ 1 ใบที่พวกเขาสุ่มหยิบขึ้นมา เพื่อดูว่าจะต้องไปเป็นทหารหรือไม่ แม้จะเป็นกิจกรรมที่เราคนไทยต่างคุ้นชินตา และมองว่าเป็นการ “รับใช้ชาติ” แต่คนที่พูดแบบนี้เคยตระหนักจริง ๆ ไหมว่ามันสร้างความเสียหายให้กับชีวิตคนไทยมากแค่ไหน และในด้านการเงิน ต้องสูญเสียรายได้ไปเท่าไร
ในหนึ่งปีทางกระทรวงกลาโหมต้องการทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการอยู่หลายหมื่นคน อย่างในปีนี้เป้าอยู่ที่ 85,000 คน ซี่งเป็นตัวเลขที่สูงมากแม้จะลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 93,000 คน อย่างไรก็ตามทางกลาโหมเผยว่าในปีนี้มีผู้สมัครออนไลน์มาแล้วกว่า 21,500 คน เมื่อคัดคุณสมบัติแล้วได้ประมาณ 15,000 คน ทำให้เหลือยอดในการเรียกเกณฑ์ 70,000 คน
แต่ก็มีทหารที่แจ้งขอเลื่อนปลดประจำการอีกประมาณ 5,000 คน และคาดว่ามีผู้สมัครระหว่างการตรวจเลือกอีกประมาณ 25,000 คน ดังนั้นเมื่อหักลบกันแล้วปีนี้จะมีใบแดงอยู่ราว 40,000 ใบ กับชายไทยราว 40,000 คนที่ต้องเป็นทหารโดยไม่สมัครใจ สูญเสียโอกาสและรายได้มากมาย
หากถามว่าทหารเกณฑ์จะสูญเสียอะไรบ้างจากการต้องไป “รับใช้ชาติ” แน่นอนว่าอย่างแรกคือ “อิสรภาพ” และ “สิทธิ์” ในการใช้ชีวิต เพราะต้องเข้าไปอยู่ในหน่วยงานที่มีกฎระเบียบเคร่งครัดกว่าชีวิตคนธรรมดาทั่วไปมาก นอน ตื่น กิน เข้าห้องน้ำเป็นเวลา และยังต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาในแทบทุกเรื่อง มากกว่าแค่การปฏิบัติหน้าที่ เพราะในหน่วยงานเช่นนี้มีคำว่า “ยศ” ค้ำคออยู่ตลอดเวลาที่จะพูด คิด หรือทำอะไรก็ตาม มีการฝึกร่างกายอย่างหนักที่ไม่สามารถออกแบบเองได้ เป็นไปตามระเบียบ แต่เรื่องที่บั่นทอนกำลังใจที่สุดคงเป็นการต้องอยู่ประจำการไม่สามารถกลับบ้านไปพบเจอเพื่อน ครอบครัว หรือคนที่รักได้ตามที่ใจต้องการ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องอย่าลืมว่าพวกเขาไม่ได้สมัครใจ
แต่เรื่องการสูญเสียอิสรภาพอาจเป็นเรื่องเล็กไปเลยก็ได้ในสังคมทุนนิยม เพราะทหารเกณฑ์เหล่านี้ยังต้องเสียประโยชน์ที่จับต้องได้อย่าง “รายได้” ด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้การเป็นทหารเกณฑ์จะได้รับเงินเดือน มีเบี้ยเลี้ยงประจำ หรือเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเข้ามาแล้ว รวม ๆ ไม่เกิน 10,000 บาท แต่ข้อมูลจากทหารจริงหลาย ๆ คนก็ตอบตรงกันว่าถูกหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จนเหลือใช้จริงแค่ประมาณ 7,000 บาทเท่านั้น ซึ่งมันน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก และแม้จะเป็นการหักค่าอาหารไปแล้ว แต่หากไม่ต้องถูกบังคับให้มารับราชการทหารแล้ว พวกเขาอาจมีโอกาสและความสามารถที่จะสร้างรายได้สูงกว่านี้อีกมาก
งานใช้แรงงานหรืองานบริการในสมัยนี้อย่างต่ำ ๆ ก็มีรายได้ที่ 10,000 บาทขึ้นไปแทบทั้งนั้น โดยใช้วุฒิขั้นต่ำที่ ม.3 หรือ ม.6 เท่านั้นเอง ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีวุฒิปริญญาตรี โดยส่วนใหญ่ก็ได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือเป็นเท่าตัวของเงินเดือนจริงที่ทหารเกณฑ์ได้รับ หมายความว่าคนกลุ่มนี้เสียรายได้ไปอย่างน้อยราว 8,000 บาทต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ตัวทหารเกณฑ์เองที่ได้รับผลกระทบ แต่ครอบครัวหรือคนรอบตัวที่หวังพึ่งพาพวกเขาก็ต้องเสียโอกาสนี้ไปด้วย
ถ้าเราลองมาเทียบตัวเลขในภาพใหญ่ระดับประเทศ เว็บไซต์ the 101 world เคยคำนวณค่าเสียโอกาสโดยคิดรายได้ตามวุฒิของทหารเกณฑ์ ระยะเวลา 1-2 ปี โดยเฉลี่ยออกมาแล้วเสียโอกาสสร้างรายได้ต่อคนปีละประมาณ 3.4 แสนบาท ลองคิดดูว่าปีนี้มีคนได้ใบแดงราว 40,000 คน โดยรวมประเทศจะเสียโอกาสสร้างรายได้มากถึงปีละ 13,600 ล้านบาท เพื่อมาสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาลจ่ายเงินเดือนหลักพันให้พวกเขาแทน และเมื่อรายได้พวกเขาน้อยลง GDP ของประเทศก็น้อยลงไปด้วย
การมีทหารเกณฑ์เยอะนั้นช่วยให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 25 ของประเทศที่มีกำลังรบแข็งแกร่งที่สุดในโลก ตาม PowerIndex ที่อยู่ในเกณฑ์ “Perfect” โดย Global Fire Power ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ระดับโลกแบบนี้ก็อาจจะดูดีไม่ใช่น้อย แต่ถามว่าไทยจะไปรบกับใคร เรามีอะไรไปได้ไปเสียกับเขา ถ้าหากต้องรบกันจริง กำลังพลที่เวียนกันเข้ามาฝึกกันแค่ 1-2 ปีนี่พร้อมใช้จริง ๆ เหรอ แล้วความกังวลในปัญหานี้มันร้ายแรงแค่ไหนเทียบกับปัญหาอื่น ๆ ที่สังคมไทยยังต้องพบเจอ ทั้งปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน ความเหลื่อมล้ำที่ยังถูกต้องย้ำอยู่ทุกครั้งที่มีของขึ้นราคากันแค่หลักสตางค์ ปัญหาการศึกษา และความพร้อมด้านสาธารณสุข อะไรกันแน่คือสิ่งที่สำคัญกว่า
สุดท้ายแล้วนี่เป็นอีกหนึ่งปีที่ปัญหาการปล้นโอกาสในการสร้างรายได้และใช้ชีวิตด้วยวาทกรรม “รับใช้ชาติ” ยังคงอยู่คู่กับคนไทยไม่เปลี่ยนแปลง