วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2024 จีนได้ทำในสิ่งที่ “เกินความคาดหมาย” สำหรับหลายฝ่าย สิ่งนั้นคือรัฐทำการกอบกู้ตลาดอสังหาฯ ที่ซบเซาด้วยมาตรการที่ถ้าเป็นอเมริกาก็คงจะเรียกว่าเป็นการ Bailout เพราะมีตั้งแต่สั่งให้รัฐบาลระดับมณฑลไปไล่ซื้อยูนิตอสังหาฯ ที่ขายไม่ออก รวมถึงซื้อที่ดินที่ไม่ถูกนำไปพัฒนาคืน และพร้อมกันนั้นทางธนาคารกลางก็ขยับไปในทางเดียวกันโดยการเอาระเบียบดอกเบี้ยกู้บ้านขั้นต่ำออก รวมทั้งลดข้อกำหนดเรื่อง “เงินดาวน์” เวลาซื้อบ้านด้วย
พูดง่ายๆ คือเป็นมาตรการที่มุ่งให้ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันอัด “สภาพคล่อง” เข้าในอุตสาหกรรมอสังหาฯ เต็มที่
คำถามคือ ทำไมรัฐบาล “สังคมนิยม” อย่างจีนถึงทำตัวไม่ได้ต่างจากจากอเมริกากับภาคอุตสาหกรรมที่ขาดวินัยทางการเงิน ทำไมจีนถึงยังเอาภาษีประชาชนไปอุ้มภาคอุตสาหกรรมที่ทำตัวเสี่ยงจนเป็นภาระสังคม?
ทำไมจีนถึงอุ้มภาคอสังหาฯ ไม่ได้ต่างจากที่อเมริกาอุ้มภาคการเงินการธนาคาร?
คำตอบอาจเป็นเรื่องของ “ความชอบธรรม” ของรัฐบาลที่อิงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จีนค่อนข้างจะเอียงมาในทาง “ทุนนิยม” มานานแล้ว หลายคนอาจรู้ แต่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจจีนนับแต่ปี 1991 ไม่มีแม้แต่ปีเดียวที่เติบโตต่ำกว่า 7% มาต่อเนื่องเกือบ 30 ปี แน่นอนว่าเศรษฐกิจจีนสามารถโตไม่ต่ำกว่า 7% ได้ ทั้ง ๆ ที่เอเชียมีวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 และโลกมีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งวิกฤติพวกนี้ไม่กระทบจีนเลย ทำให้จีนโตต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนกลายเป็นมหาอำนาจอย่างปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี การเติบโตก็เริ่มสะดุด ในปี 2018 จีนเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่า 7% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี และปี 2019 ก็โตลดลงอีก ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาตั้งแต่โควิดระบาด อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็เละไปเลย พอมาในปี 2023 สถานการณ์เริ่มเป็นปกติ แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็ต่ำยิ่งกว่าปี 2019 ดังนั้นในทางเศรษฐกิจจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ไม่ดีเลย ใครมีพวกกองทุนหุ้นจีนก็คงจะเห็นได้ว่าหุ้นจีนเละเทะแค่ไหน
ภาวะแบบนี้ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนค่อนข้างจะเสียหน้า เพราะก่อนหน้านี้จีนเคยทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้ ก็คือการที่เศรษฐกิจโตต่อเนื่องกว่า 20 ปีทั้งๆ ที่แก่นกลางการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ พูดอีกแบบก็คือจีนสร้างความชอบธรรมระดับโลกให้กับระบอบคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 21 ด้วย “ความเจริญ” ทางเศรษฐกิจ และถ้า “ความเจริญ” นี้ถดถอยลง ความชอบธรรมก็ย่อมถดถอยลงเหมือนกัน
แล้วอะไรพวกนี้มันเกี่ยวอะไรกับตลาดอสังหาฯ ?
ในความเป็นรัฐสังคมนิยม จีนต้องการให้สังคมมีระเบียบ และก็มีมาตรการจัดระเบียบภาคธุรกิจมากมายในช่วงโควิด พวกธุรกิจอสังหาฯ ก็เป็นพวกหนึ่งที่โดน “จัดระเบียบ” โดยจีนทำการระงับการสร้างหนี้ความเสี่ยงสูงของธุรกิจพวกนี้ ผลก็คือธุรกิจพวกนี้ล้มระเนระนาด จากบริษัทอสังหาฯ อันดับ 1 ของจีนอย่าง Evergrande ลามไปบริษัทอสังหาฯ ใหญ่ๆ เต็มไปหมด
ถามว่าจีน “พอใจ” มั้ย ในแง่หนึ่งคือ พอใจ เพราะจีนต้องการ “ทุบ” ราคาอสังหาอยู่แล้ว
คือต้องเข้าใจก่อนว่าในความเป็นชาติสังคมนิยม แต่บริษัทอสังหารวยเอา ๆ จากการปั่นราคาอสังหาฯ ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนราคาอสังหาฯ เมืองใหญ่สูงจน “คนรุ่นใหม่ไม่มีปัญญาซื้อบ้าน” และจริงๆ คือจีนก็มีมาตรการ “คุมราคาอสังหาฯ” แบบที่ประเทศจำนวนมากไม่มี ตั้งแต่การห้ามธนาคารให้ดอกเบี้ยกู้บ้าน “ต่ำเกินไป” ไปจนถึงกำหนดห้ามกู้บ้านในมูลค่า 100% แต่กู้ได้ 20-25% เท่านั้น พูดง่าย ๆ คือบังคับให้คนต้องเก็บเงินจนดาวน์ได้ ถึงจะซื้อบ้านได้
จีนทำแบบนี้ เพื่อให้พวกธนาคารไม่ปล่อยกู้บ้านรัว ๆ เนื่องจากจะทำให้ราคาบ้านขึ้น เพราะคนไม่ได้เอาเงินปัจจุบันของตัวเองมาซื้อ แต่เอาเงินในอนาคตมาซื้อ
อย่างไรก็ดี การวางมาตรการแบบนี้มาทำให้คนรุ่นใหม่ของจีนซื้อบ้านไม่ได้ เพราะไม่มีเงินดาวน์ (สมมติบ้าน 5 ล้าน ต้องดาวน์ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท) แต่มันก็ไม่สามารถป้องกันให้คนที่ทุนหนาสามารถซื้อบ้านปั่นราคาขึ้นได้อยู่ดี และก็ต้องบอกเลยว่าทั้งหมดนี้ฝีมือคนจีนทั้งนั้น เพราะจีนเป็นชาติที่ห้ามต่างชาติถือครองที่ดิน (ซึ่งต่างจากโลกตะวันตกและทวีปอเมริกา ที่ไม่มีข้อห้ามแบบนี้)
ซึ่งผลรวมก็คือหายนะมาก ราคาบ้านขึ้นไปเรื่อย ๆ อสังหาฯ ก็รวยเอา ๆ สร้างยูนิตที่ไม่มีคนอยู่ แล้วก็กู้เงินมาสร้างเพิ่มอีก ปั่นราคาขึ้น ส่วนคนรุ่นใหม่เจอบ้าราคาขึ้นไปเรื่อยจะรีบซื้อก็ไม่ได้ เพราะรวบรวมเงินก้อนมาดาวน์บ้านก็ไม่ได้ จนสุดท้ายทำให้ทางการจีนลงมา “จัดระเบียบ” ในที่สุด
การจัดระเบียบตลาดอสังหาฯ ทำราคาบ้านในจีนร่วงได้ดั่งใจจริง แต่สิ่งที่รัฐบาลจีนอาจคาดไม่ถึงคือมันทำเอาเศรษฐกิจซบเซาไปด้วย เพราะถ้าหลายคนรู้ ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเกิดจากการพัฒนาอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจีนมันมีภาคการก่อสร้างที่ใหญ่โตและสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจมานาน ซึ่งพอภาคอสังหาฯ โดนเหยียบเบรค ภาคก่อสร้างก็ชะงักตาม ผลคือจีนหยุดการโตของราคาบ้านได้จริง แต่การทำแบบนี้คือหยุดการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งมันก็กลับมาประเด็นที่ว่าในตอนแรก ว่าจีนมีปัญหาเศรษฐกิจโตไม่ได้ดั่งใจมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว และการที่ภาคอสังหาฯ จวนเจียนจะล้ม สถานการณ์ก็ยิ่งแย่
พูดง่าย ๆ คือจีนต้องเลือกว่าจะปล่อยตลาดอสังหาฯ ล้มและทำให้ราคาอสังหาฯ ลดลงให้คนซื้อไหว หรือจีนจะลงไปช่วยเพื่อให้ภาคนี้สามารถดันให้เศรษฐกิจโตต่อได้
เพราะตอนนี้คือพอภาคอสังหาฯ ขาดสถาพคล่อง มันก็ขาดสภาพคล่องเป็นโดมิโน เพราะเศรษฐกิจจีนผูกกับการขยายตัวของภาคอสังหาฯ
ซึ่งจีนเลือกอย่างหลัง แต่ก็มีการประนีประนอมว่าให้พวกรัฐบาลระดับมณฑลทำการซื้อยูนิตที่เหลือมาทำ “ห้องเช่าราคาถูก” ให้คนสามารถอยู่อาศัยได้ คือพรรคคอมมิวนิสต์ไปซื้อยูนิตอสังหาฯ ที่เหลือจากการผลิตแบบทุนนิยมมาทำ “การเคหะ” นั่นเอง เรียกว่าอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปให้อุตสาหกรรมอสังหาฯ ไม่ล้ม จนทำเศรษฐกิจพัง พร้อมกับเปิดโอกาสให้รัฐได้บริหารที่พักราคาถูกกับประชาชนด้วย
ประเด็นคือโครงการนี้ก็ยังไม่แน่ชัด เพราะเมืองใหญ่ ๆ ในจีนค่าเช่าแพง ถ้ารัฐบาลลงมาทำยูนิตปล่อยเช่าราคาถูก มันจะเป็นการ “ทุบราคา” ค่าเช่า แล้วลามไปทุบราคาอสังหาฯ อีกทีหรือไม่? แล้วผลมันจะเกิดอะไรต่อ สิ่งเหล่านี้ต้องดูกันต่อไป
แต่ที่แน่ๆ อะไรพวกนี้น่าจะเกิดในไทยไม่ได้ ถ้่ให้พูดตรงๆ คือ “ชนชั้นนำ” ไทยก็ไม่คิดถึงทางออกนี้
หลายคนคงรู้ว่าพวกคอนโดในไทยแบบราคาถูกช่วงหลัง เริ่มขายไม่ออกแล้ว แต่ไอเดียว่าให้รัฐไปซื้อมาปล่อยเช่าในราคาถูกยังไม่อยู่ในหัวคนไทย เพราะคนไทยไม่ได้ขาดห้องเช่าราคาถูก ดังนั้นนี่ไม่ใช่ปัญหาของสังคม แต่เป็นปัญหาสำหรับภาคอสังหาฯ เท่านั้น ซึ่งปัญหาภาคอสังหาฯ นี้จริง ๆ ทางการไทยก็ “กระตุ้นเชิงนโยบาย” สุด ๆ ผ่านการ “ไม่ทำอะไร” คือไม่มีการกำหนดดอกเบี้ยขั้นต่ำ และปล่อยให้คนกู้ได้ 100% มาตลอด
ซึ่งจริง ๆ แล้วนี่ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะหลาย ๆ ประเทศ การกำหนด “เงินดาวน์ขั้นต่ำ” แบบจีนนี่ปกติมาก เพราะจะทำให้คนที่ “มีปัญญาซื้อ” จริงๆ เท่านั้นที่ซื้อบ้านได้ ไม่ใช่ใครที่มีปัญญากู้ก็ซื้อได้หมด พอใคร “กู้ 100%” ซื้อได้หมด ราคาอสังหาฯ ไทยเลยโดนปั่นไปเรื่อย ๆ ผ่าน “รายย่อย” ซึ่งต่างจากจีนที่ “รายใหญ่” เป็นผู้ปั่น และปัญหาที่ตลาดอสังหาฯ มาสุดทางก็คือ รายได้คนไทยขยายตัวไม่ทันราคาอสังหาฯ และ “รายย่อย” ก็ไม่มีปัญญาซื้ออีกแล้ว
ทางการเลยเริ่มเปิดให้ต่างชาติเข้ามาซื้อ และพอต่างชาติซื้อกันสุดทาง ก็เริ่มกดดันให้แบงค์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งหมดนี้เพื่อให้ตลาดอสังหาฯ ไทย “ไปต่อ” ได้ พื้นฐานปัญหาของไทยและจีนก็ต่างกัน จีนเศรษฐกิจเติบโตด้วยการขยายตัวของอสังหาฯ ถ้าอสังหาฯ ล้มก็จะทำให้อย่างอื่นล้มด้วย โดยนี่ไม่ใช่เรื่องทฤษฎี แต่มันเกิดขึ้นเห็น ๆ
แต่ในไทยนี่เราไม่น่าจะสามารถพูดแบบเดียวกันได้ ตลาดอสังหาฯ ในไทยไม่ได้สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจขนาดนั้น ดังนั้นการที่รัฐไทยจะไปช่วยตลาดนี้มันก็น่าจะไ่ม่มีใครเห็นว่าเหมาะสม
เขียนโดย อนาธิป จักรกลานุวัตร