ไม่นานมานี้เพิ่งมีการนำสองซากฟอสซิลปริศนาอายุกว่าพันปีที่ถูกอ้างว่าเป็นของ “สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์” มาจัดแสดงต่อรัฐสภาเม็กซิโก เพื่อเปิดประเด็นไต่สวนสาธารณะถึงการมีอยู่ของ “มนุษย์ต่างดาว” โดย ‘ไฮเม เมาส์สัน (Jaime Maussan)’ นักข่าวชาวเม็กซิกันผู้ติดตามเรื่องการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาวเป็นผู้ที่นำร่างทั้งสองมาจัดแสดง โดยอ้างว่าได้มีการนำพิสูจน์ DNA ของซากดังกล่าวจาก ‘มหาวิทยาลัยแห่งชาติเม็กซิโก (UNAM)’ และพบว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตใดบนโลก ร่างทั้งสองมีลักษณะเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดไม่ถึง 1 เมตร มีแขนขาคล้ายมนุษย์ แต่มี 3 นิ้ว ศีรษะใหญ่ และหนึ่งในนั้นเหมือนมีไข่ในท้องด้วย
ซึ่งถ้าทั้งหมดนี้คือของจริงจะเป็นครั้งแรกที่มีการแสดงหลักฐานการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาว และเม็กซิโกจะเป็นชาติแรกที่ออกมายอมรับถึงการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาวด้วย ซึ่งต่อมา ทีมศึกษา ‘ปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่อาจระบุได้ หรือ UAP (Unidentified Anomalous Phenomena )’ ขององค์การ ‘นาซา (NASA)’ ได้จัดแถลง แนะให้เม็กซิโกเปิดเผยข้อมูลเพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป โดยไม่มีการยืนยันหรือยอมรับการมีตัวตนอยู่ของมนุษย์ต่างดาวแต่อย่างใด
แม้ว่าทาง NASA เอง จะไม่เคยออกมายืนยันหรือปฏิเสธการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาว แต่สิ่งที่ทำให้ติ่งอวกาศหรือคนที่สนใจเรื่องมนุษย์ต่างดาวตื่นเต้นและฮือฮาได้บ้าง คือการที่ NASA เคยเปิดรับสมัครงานในตำแหน่งสุดเท่อย่าง “เจ้าหน้าที่พิทักษ์โลก (Planetary Protection Officer)” และยังเป็นตำแหน่งที่ได้รายได้มหาศาล
ว่าแต่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์โลกคืออะไร ต่อสู้กับมนุษย์ต่างดาวเหรอ?
ก็ไม่เชิงครับ ตำแหน่งนี้มีหน้าที่คือ การปกป้องโลกจากภัยอันตรายต่าง ๆ ที่มาจากนอกโลก ซึ่งไม่ได้หมายถึงมนุษย์ต่างดาวอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการปนเปื้อนทางชีวภาพจากนอกโลกที่อาจเกิดขึ้นจากการไปสำรวจอวกาศ และการภัยคุกคามในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย
เพราะการไปสำรวจอวกาศหรือดาวดวงอื่นซึ่งมีสภาพแวดล้อมแตกต่างจากโลกที่เราอยู่ อาจพบเจอกับสสารต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายและกระทบต่อความเป็นอยู่ของชีวิตบนดาวโลกของเราก็ได้ เช่นอาจทำให้เกิดโรคใหม่ ไวรัสตัวใหม่ หรือการปนเปื้อนรังสีร้ายแรง
นอกจากจะป้องกันไม่ให้มีอะไรปนเปื้อนมายังโลกของเราแล้ว ในการไปสำรวจบนอวกาศหรือดาวดวงอื่น ก็ยังต้องทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีสารใดจากโลกไปปนเปื้อนจนกระทบระบบนิเวศ และชีวมณฑลบนดาวอื่น ๆ อีกด้วย
พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ได้ปกป้องแค่โลกที่เราอาศัยอยู่ แต่เจ้าหน้าที่ยังต้องปกป้องโลกอื่นที่เราไปเยือนด้วยนั่นเอง
ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์โลกเพิ่งจะเป็นที่รู้จักของสาธารณชน และเป็นที่พูดถึงเมื่อปี 2017 แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่ตำแหน่งใหม่อะไร เป็นตำแหน่งที่อยู่คู่ NASA มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960s จากข้อตกลงในสนธิสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการสำรวจอวกาศเมื่อปี 1967 ที่ได้กำหนดให้ประเทศที่มีโครงการสำรวจอวกาศต้องดูแลเรื่องการป้องกันการปนเปื้อนทางชีวภาพจากนอกโลกด้วย
ด้วยความรับผิดชอบที่เสมือนแบกดาวทั้งดวงไว้ ทำให้งานนี้มีค่าตอบแทนสูงลิ่ว มากถึง 6 หลักต่อปี ตั้งแต่ 124,406 – 187,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.1 – 6.2 ล้านบาท ต่อปีเลยทีเดียว
แต่ก็น่าเสียดายครับที่ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเป็น “Hero” เพราะตำแหน่งนี้เขาเปิดรับสมัครเฉพาะ ‘พลเมืองสหรัฐ’ เท่านั้น และจะต้องมีปริญญาขั้นสูงในสาขาที่เกี่ยวข้องอย่าง วิศวกรรมศาสตร์ ฟิสิกส์ หรือฟิสิกส์-คณิตศาสตร์ด้วย นอกจากนี้จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทีมีตำแหน่งระดับ GS-15 (ระดับขั้นรายได้ในสหรัฐตั้งแต่ $112,890.00 – $146,757.00 ต่อปี) และมีความรู้ขั้นสูงเกี่ยวกับการปกป้องโลกจากการปนเปื้อน ต้องมีความสามารถในการวางแผน ดำเนินการและการกำกับดูแลส่วนงานของโครงการอวกาศระดับชาติได้ รวมถึงต้องมีความสามารถทางการทูตที่ดี เพื่อสร้างผลลัพธ์แบบสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้ระหว่างองค์กรได้ ดูจากคุณสมบัติแล้ว ก็ยอดคนจริง ๆ นั่นแหละ
ซึ่งช่วงที่ NASA รับสมัครตำแหน่งนี้ในปี 2017 ก็มีหนุ่มน้อยอเมริกันใจสู้ชื่อ ‘แจ็ก เดวิส (Jack Davis)’ ส่งจดหมายสมัครงานไปหา NASA ด้วย พร้อมลงชื่อท้ายจดหมายว่าเป็น ‘ผู้พิทักษ์จักรวาล’ หรือ ‘Guardian of the Galaxy’ ซึ่งทางองค์การก็ตอบกลับจดหมายอย่างอบอุ่น ยินดีที่ได้รับจดหมายจากแจ็ก ขอให้เขาตั้งใจเรียน และเฝ้ารอที่จะได้ร่วมงานกับเขาในเร็ววัน
ปัจจุบันคนที่นั่งตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์โลกคือ ดร. เจ. นิก เบนาดินี เคยรับผิดชอบภารกิจ Mars Sample Retrieval Lander และเป็นที่ปรึกษาให้กับ NASA Headquarters’ Office of Planetary Protection และทำการวิจัยในสาขาสิ่งแวดล้อมจุลชีววิทยา เป็นเวลากว่า 13 ปี และยังมีส่วนร่วมในหลากหลายโครงการเกี่ยวกับดาวอังคารของ NASA
ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์โลกนับว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญต่อการสำรวจอวกาศอย่างมากอยู่เสมอแม้ว่าจะมีหรือไม่มีมนุษย์ต่างดาวเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม เพราะภัยจากนอกโลกไม่ได้มีแค่มนุษย์ต่างดาวเท่านั้น และดูเหมือนว่าเราอาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในเร็ว ๆ นี้
เพราะแม้ซากปริศนาและข้อมูลกล่าวอ้างของไฮเมจะน่าสนใจ แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าซากที่ไฮเมเอามานั้นเป็นของปลอม อาจทำจากซากมัมมี่เด็กดัดแปลง และวิธีการตรวจสอบคาร์บอนที่ใช้ก็ไม่ถูกต้อง รวมถึงมหาวิทยาลัยที่ไฮเมกล่าวอ้างว่าทำการตรวจสอบ DNA ก็ออกมาบอกว่าตรวจ DNA จริงแต่เปิดเผยไม่ได้เพราะติดสัญญาเชิงพาณิชย์ และไม่เคยได้ตรวจสอบร่างทั้งสองด้วย ทั้งนี้หากจะดูเรื่องของความน่าเชื่อถือ ไฮเม เคยโดนจับโป๊ะเรื่องปลอมแปลงซากมนุษย์ต่างดาวมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน งานนี้ก็อาจเป็นแค่การลวงโลกอีกครั้งก็ได้
แล้วคุณล่ะเชื่อเรื่อง “มนุษย์ต่างดาว” ไหม?