#Tales of Numbers เพราะตัวเลขไม่เคยหลอก แต่กำลังบอกอะไรเรา?
•
ถ้าหากถามว่าอุตสาหกรรมบันเทิงอะไรใหญ่ที่สุดในโลก เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่ในความเป็นจริง อุตสาหกรรมบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันคืออุตสาหกรรมเกม แต่พูดแบบนี้มันก็อาจทำให้เข้าใจผิดว่ามันเป็นรายได้จาก “เกมคอมพิวเตอร์” เพราะในความเป็นจริงรายได้ 3 ใน 4 ของอุตสาหกรรมเกมทั้งหมดมาจากเกมมือถือ โดยในปี 2022 รายได้นี้มันสูงถึงประมาณ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
•
แล้วรายได้มันเยอะแค่ไหนถ้าเทียบกับสิ่งอื่นๆ? เพื่อให้เห็นภาพในปี 2022 อุตสาหกรรมภาพยนต์ทั้งโลกนั้นขนาดรายได้ประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐส่วนอุตสาหกรรมดนตรีบันทึกเสียงทั้งโลกนั้นรายได้รวมประมาณ 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และอุตสาหกรรมดนตรีสดนั้นมูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
•
พูดง่ายๆ คือ ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม “เกมมือถือ” จะเป็น “อุตสาหกรรมบันเทิง” ที่ใหญ่กว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้น เพราะมันใหญ่กว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และดนตรีทั้งหมดรวมกันด้วยซ้ำ
ซึ่งถามว่ารายได้ของอตุสาหกรรมเกมมือถือโลกมันมาจากไหน? คำตอบเร็วๆ คือเป็นที่รู้กันว่าจีนคือตลาดที่ใหญ่ที่สุด รองมาคืออเมริกา และรองลงมาคือญี่ปุ่น
•
นี่อาจใหม่มากสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับโลกเกมมือถือ แต่อยากให้นึกภาพว่าบริษัทที่มูลค่ามากที่สุดของจีนอย่าง Tencent นี่คือ “บริษัทเกม” อะครับ สินค้าที่ทำรายได้เยอะๆ ของบริษัทคือเกมมือถือ และเค้ารวยเพราะเค้าคุมส่วนแบ่งตลาดเกมในจีนอยู่เกิน 50% ดังนั้นเม็ดเงินมันมหาศาลสุดๆ
แล้วทำไมตลาด “เกมมือถือ” มันถึงใหญ่ได้ขนาดนี้? คำตอบมันก็มากับสมาร์ทโฟนและ “โมเดลธุรกิจ” แบบใหม่
•
การขยายตัวของสมาร์ทโฟนในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น ในสายตานักพัฒนาเกมมือคือคือมันทำให้ทุกคนไม่ได้มีแค่ “มือถือ” แต่มี “เครื่องเกม” ในมือรอรับเกมที่จะพัฒนาไป
•
และความน่าสนใจของเกมมือถือก็คือ มันเป็นเกมที่มักจะ “เล่นฟรี” และ “ไม่มีเป้าหมาย” คือเล่นฟรี และตัวเกมคือเล่นไปได้เรื่อยๆ ไม่มีการ “จบเกม” แบบวีดีโอเกมตามจารีต เกมจะมีตัวละครเพิ่มเรื่อยๆ มีกิจกรรมให้ทำในเกมเรื่อยๆ เพื่อให้คนเล่นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
•
แน่นอนไอ้ “เกมที่ไม่มีเป้าหมาย” นี้ ให้คน “เสียเงิน” จ่ายค่าเกม มันไม่มีใครจะจ่ายหรอก ดังนั้นมันเลยเปิดให้ “เล่นฟรี” และพอมันเล่นฟรี ฐานคนเล่นมันก็เลยเยอะแยะมากกว่า “เกมที่ต้องซื้อมาเล่น” แบบสมัยก่อน ซึ่งอีกด้านหนึ่งไอ้ความ “เล่นฟรี” นี้ก็ไม่ได้มาเปล่าๆ มันก็จะมากับไอเดียว่ามันจะมี “ของในเกม” ที่ต้องเก็บเงินในเกมซื้อเยอะๆ ต้องเล่นบ่อยๆ เป็นประจำถึงจะได้ แต่ถ้าไม่ทำแบบนั้นจะ “เสียเงินจริง” หรือ “เติมเงินในเกม” เพื่อซื้อของพวกนี้ก็ได้ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น เกมจำนวนมากจะได้ “สิ่งของ” มา มันไม่ใช่ “มีเงินก็ซื้อได้” ต้อง “มีโชค” ด้วย เพราะมันจะใช้ระบบให้คนเปิด “กล่องสุ่ม” (จะเรียก Loot Box หรือ “กาชา” ก็ได้) ซึ่งก็แน่นอนจะเปิดเพิ่มก็ต้องเสียเงิน และมันไม่การันตีว่าเสียเงินไปเท่าไรจะได้ “ของในเกม” ที่ต้องการ ซึ่งก็ทำให้คนเล่นเกมพวกนี้บางทีเติมเงินไปเป็นหมื่นเป็นแสนเพื่อเปิด “กล่องสุ่ม” และนี่แหละที่มาของ “รายได้” ระดับมากมายมหาศาลที่ว่า
•
การออกแบบกลไกของ “เกมมือถือ” แบบที่ว่ามาทำให้พวกเกมเมอร์ตามจารีตไม่ค่อยปลื้มนัก เพราะถ้าเทียบกับเกมแบบจารีตที่ต้องมีเรื่องราว “เกมมือถือ” มันเหมือนสิ่งไร้สาระที่จงใจจะทำออกมา “ดูดเงิน” คนเล่นเท่านั้น ไม่มี “สุนทรียภาพ” ใดๆ แบบเกมดั้งเดิมเลย
•
ดังนั้นมันเลยจะมีคำปรามาสเกมมือถือว่าเกมมันมีลักษณะ Pay-to-Win หรือใครเติมเงินเยอะก็จะเป็นผู้ชนะ หรือมันเป็นเกมที่ “ไม่ยุติธรรม” มาตั้งแต่ต้น
•
ก็แน่นอน เกมจำนวนไม่น้อยก็พยายามจะไม่เป็นแบบนี้เพราะมันจะทำให้ “เล่นไม่สนุก” ซึ่งมันก็จะทำโดยการทำให้พวกตัวละครหรือไอเทมที่ต้องเสียเงินปลดล็อคเท่านั้นมันไม่ “เก่ง” เกินไป แต่อย่างไรก็ดี ถ้าเกมมันดังถึงขั้น คนก็จะมักจะยอมเสียเงินเพื่อปลดล็อคตัวละครจนหมด หรือกระทั่ง “ซื้อสกิน” เพื่อความสวยงามซึ่งไม่มีผลใดๆ ต่อการเล่นเกม
•
แน่นอน ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เข้าใจยากมากสำหรับคนที่ไม่เคยเล่นเกมพวกนี้ แต่อยากให้นึกภาพว่าประชากรโลก 40% หรือประมาณ 3,000 ล้านคนทุกวันนี้มัน “เล่นเกม” กันหมดน่ะครับ ดังนั้นตลาดมันใหญ่โตมโหฬาร และอยากให้คิดง่ายๆ ว่า สมมติคนเล่นเกมแค่ 10% จ่ายเงินแค่ปีละ 100 บาทกับเกมมือถือ รายได้อุตสาหกรรมเกมมือถือมันก็ คือ 30,000 ล้านบาทต่อปีแล้ว แต่ความเป็นจริงคือมันจ่ายกันมากกว่านั้นเยอะ เพราะอย่างที่บอกตอนแรก ปีๆ นึงคนทั้งโลกเสียเงินให้กับอุตสาหกรรมนี้ถึง 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือถ้าคิดเป็นเงินบาทก็ประมาณ 5,200,000 ล้านบาท หรือคิดง่ายๆ คือเฉลี่ยๆ แล้วคนเล่นเกมทุกคน “เติมเกม” คนปีๆ หนึ่งหลักพันบาท
•
ที่เล่าให้ฟังทั้งหมดนี้ก็อยากให้เห็นว่ามันมีอุตสาหกรรมบันเทิงที่รายได้มหาศาลที่มัน “ซ่อนอยู่ในที่แจ้ง” ชัดๆ อย่างอุตสาหกรรมเกม และมันก็โตขึ้นทุกวันด้วย ซึ่งถ้าเราเข้าใจ เราก็จะเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่มากๆ ในหลายมิติ
•
แต่เราต้องเห็นตรงนี้ก่อน ไม่ใช่หลงคิดว่าอุตสาหกรรมบันเทิงที่ใหญ่โตที่สุดคือภาพยนตร์และดนตรีแบบเมื่อสมัยก่อน
•
เขียนโดย : อนาธิป จักรกลานุวัตร
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : Connect the Dots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
•
ที่มา
https://www.weforum.org/…/gaming-pandemic-lockdowns…/
https://www.globenewswire.com/…/Global-Movies-and…
https://www.ifpi.org/ifpi-global-music-report-global…/
https://www.globenewswire.com/…/Live-Music-Market-US…
https://seekingalpha.com/…/4579945-tencent-new-growth…
https://www.businessofapps.com/data/mobile-games-revenue/
https://blog.gitnux.com/gamer-statistics/