จบไตรมาส 2 ของปีนี้ถือว่ามีข่าวธุรกิจการเงินที่น่าสนใจให้ติดตามมาก และหนึ่งในนั้นคือกรณีของ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express) ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับต้น ๆ ในไทย ที่เปิดเผยรายได้ในไตรมาสที่สองของปี 2566 ว่ายัง “ขาดทุน” ต่อเนื่อง แม้กิจการขนส่งพัสดุยังเติบโตงมุ่งสู่มูลค่าตลาดกว่า แสนล้านบาท
ในไตรมาสสองของปีนี้ เคอรี่เผยแล้วว่าขาดทุนหนักถึง 1,047 ล้านบาท หลังจากที่ไตรมาสแรกก็ขาดทุนกว่า 787 รวมสองไตรมาสแรกเคอรี่เผาทิ้งไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,835 ล้านบาท นับว่าเป็นปีที่หนักและยังขาดทุนต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ผลประกอบการทั้งปี 2565 ออกมาขาดทุนรวม 2,830 ล้านบาท รายได้ร่วงลงมาพร้อมกับราคาหุ้นที่เคยเปิดตัวด้วยเลขสองหลักเมื่อปี 63 พีกสุดที่ 73 บาท ณ ตอนนี้เหลือหลักหน่วยแล้ว โดยเหล่าโบรกเกอร์ยังแนะนำให้ขายกันยาว ๆ แม้จะเคยได้รับเลือกเป็นหุ้น “ยั่งยืน” จากการส่งชุดพีพีอี (PPE) และอุปกรณ์การแพทย์ในช่วงโควิด
โดยเคอรี่แจ้งในรายงานผลประกอบการว่าไตรมาสสองที่ผ่านมาอยู่ในช่วงฤดูกาลซบเซา และอุปสงค์ที่อ่อนตัวของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ทำให้ปริมาณการส่งพัสดุในกลุ่ม B2B และ B2C ลดลง จำนวนขนส่งพัสดุโดยรวมลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาสแรก แต่ในช่วงไตรมาสนี้ยังทำรายได้จากกลุ่ม C2C หรือการส่งพัสดุส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นจาก 42% เป็น 45% ของรายได้รวมในช่วงปลายไตรมาส นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและค่าจัดจ้างรถขนส่งพัสดุจากภายนอกเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนบานปลาย
แต่ถึงอย่างไรทางเคอรี่เองยังใจแข็ง ร่วมกับ เอสเอฟ เอ็กซ์เพรส (SF Express) บริษัทแม่และ เคแอลเอ็น โลจิสติก เน็ทเวิร์ค (KLN) ผู้ถือหุ้นใหญ่ 52.06% ปรับปรุงเครือข่ายและมุ่งเน้นจะเป็นผู้นำด้านการขนส่งพัสดุให้ได้ และตั้งเป้าไว้ว่าอย่างไรก็จะกลับมาทำกำไรภายในปี 67 เรียกว่า ถ้าทุนยังหนาก็เผาต่อได้อยู่
ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เคอรี่ที่เจ็บหนัก แต่ในภาพรวมของตลาดขนส่งพัสดุเขาเจ็บกันถ้วนหน้า ขาดทุนกันระนาวแม้ตลาดจะเติบโตสูง อย่างที่พอจะรู้กันดีอยู่แล้วครับว่าตั้งแต่โควิด-19 เข้ามาสั่นสะเทือนเศรษฐกิจในระดับโลก อีคอมเมิร์ซ ก็บูมมาก และเติบโตต่อเนื่องมาทุกปีตั้งแต่ปี 62 ทีมวิเคราะห์ของทางทีทีบี (TTB Analytics) เขาได้ประเมินเอาไว้ ว่าปี 61-62 กิจการขนส่งพัสดุมีมูลค่าที่ 4.6 หมื่นล้าน เติบโตเฉลี่ยปีละ 15% แต่พออีคอมเมิร์ซโต 90% ในช่วงโควิด ก็หนุนให้ขนส่งพัสดุเติบโตกว่า 7 หมื่นล้านต่อปีในช่วง 63-64 คิดเป็น 30% จากช่วงก่อนหน้านั้น และคาดการณ์ว่าในช่วงที่โควิดคลายแล้วในปี 65-66 จะเติบโต 18% ขยายมูลค่าตลาดสู่ 1.15 แสนล้านได้
ก่อนหน้านี้ในวงการผู้ให้บริการขนส่งพัสดุเขาก็แข่งกันอยู่ไม่กี่เจ้าครับ ในปี 61 ขนส่งดั้งเดิมอย่างเคอรี่และไปรษณีย์ไทยกินส่วนแบ่งการตลาดรวมกันถึง 80% และรวมกับเจ้าอื่นกว่า 90% แต่ต่อมาในปี 63 พอโควิดเข้า อีคอมเมิร์ซโต เจ้าดั้งเดิมมีส่วนแบ่งที่ลดลงเหลือเพียง 75% เท่านั้น ส่วนเจ้าที่ต่อยอดมาจากอีคอมเมิร์ซอย่าง ชอปปี เอ็กซ์เพรส (Shopee Express) และ ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส (Lazada Express) กินส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้นจาก 7% เป็น 25% เป็นการแทรกแซงที่กินสัดส่วนสูงมาก เพราะทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเหล่านี้ก็จะกำหนดให้ลูกค้าและผู้ขายใช้บริการของเขาเป็นหลัก ทำให้ช่วงปี 62-64 ขนส่งกลุ่มนี้เติบโตถึง 4 เท่า จนถึงตอนนี้ธุรกิจขนส่งพัสดุกลายเป็นตลาดทะเลแดงไปแล้ว
เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนเลยคือ ขนส่งเจ้าใหญ่ที่อยู่คู่คนไทยมาช้านานอย่างไปรษณีย์ไทยที่คาดว่าจะขาดทุนลดลงจากปี 2564 ที่ทำรายได้เฉพาะกิจการไป 21,226 ล้านบาท ขาดทุนไปกว่า 1,730 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ปี 65 ไว้ 20,000 ล้าน หวังขาดทุนน้อยลงจากการปรับลดต้นทุนค่าน้ำมันและการใช้กระดาษ แต่สุดท้ายไม่รอดกลายเป็นว่าปี 65 ทำรายได้ไปแค่ 19,546 ล้านบาท ขาดทุนย่อยยับ 3,018 ล้านบาท แบบกระอักเลือด ในขณะที่น้องใหม่ไฟแรงอย่างลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ทำรายได้ 16,060 ล้านบาท สร้างกำไรกว่า 2,700 ล้านบาท ทำกำไรได้ดีกว่าธุรกิจหลักอย่างแพลตฟอร์มชอปปิงของตัวเองที่ทำกำไรไปแค่ 413 ล้านเสียอีกเรียกได้ว่าปาดหน้ารุ่นใหญ่ไปเต็ม ๆ ทั้งนี้ก็ด้วยอานิสงส์จากการชอปปิงออนไลน์ที่ขยายตัวขึ้น การที่กำหนดให้ใช้ขนส่งของตัวเองร่วมด้วยก็ทำให้ทั้งสองบริษัทเติบโตไปพร้อมกันได้
แต่อย่าเพิ่งโทษว่าแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์เป็นผู้ร้ายเพียงหนึ่งเดียว เพราะจริง ๆ แล้วเขาก็ยิงกันเองในวงการนี่แหละ ถ้าหากยังจำกันได้ ตั้งแต่ปีที่แล้วมันเกิดสงครามธุรกิจแข่งกันตัดราคาในแวดวงขนส่งพัสดุ ตั้งแต่เจ้าใหม่ ๆ อย่างแฟลช (Flash) และเจ แอนด์ ที (J&T) เข้ามาก็ได้เล็งเห็นปัญหาเรื่องค่าส่งของเจ้าใหญ่ที่ยังสูงอยู่ เลยทำราคาให้ถูกกว่า เพื่อชิงส่วนแบ่งลูกค้ามาจากเจ้าใหญ่ และเมื่อโควิดเริ่มคลาย การเติบโตของอีคอมเมิร์ซก็เริ่มชะลอตัวลง กระทบขนส่งเหล่านี้ไม่น้อย จึงเริ่มออกอาวุธหนักแข่งกันหั่นราคาลงมาอีก เคอรี่เปิดราคาค่าส่งเริ่มต้นเพียง 15 บาทเท่านั้น จากที่เคยเริ่มราว ๆ 30 บาท แฟลชก็รับมือด้วยส่วนลดค่าส่ง 10% สำหรับกล่องพัสดุขนาดไม่เกิน 40 เซนติเมตร แม้ว่าเลือกจะทำกำไรต่อชิ้นน้อยลงเพื่อหวังให้ได้จำนวนพัสดุมากขึ้น แต่ปัจจัยอย่างค่าน้ำมันก็ทำให้ต้นทุนต่อชิ้นที่เคยถูกมองว่าเป็นต้นทุนคงที่ (fixed cost) เปลี่ยนไป บวกกับการที่แพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ผู้ขาดการส่งกับขนส่งของตัวเอง สุดท้ายก็เข้าเนื้อ แฟลชเองก็ขาดทุนไปต่อเนื่องทั้งในปี 64 และ 65
อีกสองเจ้าดังอย่างไปรษณีย์ไทยกับเจ แอนด์ ที ดูจะเมินสงครามราคาในครั้งนี้ เพราะไปรษณีย์ไทยเองรายได้รวมก็ลดลงมาหลายปีต่อเนื่อง และมองว่าเน้นที่คุณภาพดีกว่าจะแข่งกันด้วยราคา ในช่วงที่สองเจ้าเขาหั่นราคากันอยู่ พี่ใหญ่เราถือโอกาสขึ้นราคาในรอบ 18 ปีเลย พยายามแก้เกมด้วยการเพิ่มคุณภาพและบริหารต้นทุนด้วยการวางแผนเปลี่ยนไปใช้รถพลังงานไฟฟ้าในการขนส่งแทน นอกจากนี้ยังพลักดันบริษัทลูกอย่าง ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ที่ให้บริการด้านคลังสินค้าและจัดการระบบขนส่ง ให้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ภายในปีนี้ หลังทำกำไรดีต่อเนื่อง 4 ปี ต่างจากบริษัทแม่ลิบลับ โดยช่วงครึ่งปีแรกไปรษณีย์ไทยทำยอดการส่งพัสดุด่วน อีเอ็มเอส (EMS) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 26% ต้องรอดูกันว่าปีนี้พี่ใหญ่จะขาดทุนน้อยลงหรือพลิกสร้างกำไรได้ไหม
ส่วนเจ แอนด์ ทีเองมองว่าให้ความสำคัญกับคุณภาพดีกว่า เรื่องต้นทุนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพแทน โดยไม่ได้ปรับค่าส่งขึ้นหรือลง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และราคาไม่ใช่ปัจจัยที่ลูกค้าจะตัดสินใจ และก็ดูเหมือนจะเลือกได้ดี เพราะไตรมาสล่าสุด เจ แอนด์ ที กำไรแล้วกว่า 8 ล้านบาท ชดเชยส่วนที่ขาดทุนไปไตรมาสแรกไปก็ทำให้ครึ่งปีที่ผ่านมากำไร 6.7 ล้านบาท แม้ว่าจะเป็นตัวเลขไม่มาก และยังกินส่วนแบ่งทางการตลาดไม่เยอะ แต่ก็ถือว่าไม่เจ็บตัวแหละวะ และในปีนี้ เจ แอนด์ ที มียอดพัสดุเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากถึง 50% เลย
มาถึงตอนนี้ทางแฟลชเองบอกว่าสงครามราคามันได้จบลงแล้ว (ก็อาจต้องจบแหละพากันเจ๊งขนาดนี้) ถึงเวลาปรับตัวเพื่อเติบโตไปในทิศทางใหม่ ซึ่งแฟลชผู้ที่ตอนนี้เป็นเบอร์หนึ่ง ยอดส่งพัสดุมากที่สุดในไทย กว่า 2.4 ล้านชิ้นต่อวัน ก็ได้ระดมทุนกว่า 15,000 ล้านบาท เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ใน 3 ปี ลงทุนเพิ่มในคลังสินค้าและขยายธุรกิจไปอีกหนึ่งประเทศในอาเซียน ไม่เวียดนามก็สิงคโปร์ นอกจากนี้ยังปั้นธุรกิจ เอฟ คอมเมิร์ซ (F-commerce) เป็นตัวกลางในการขายสินค้าระหว่างแบรนด์ อินฟลูเอนเซอร์ และแพลตฟอร์ม ให้บริการไลฟ์ คอมเมิร์ซ (Live commerce) แบบครบวงจรตั้งแต่พื้นที่ไลฟ์ โปรโมต และส่งสินค้า โดยคาดหวังรายได้ 5,000 ล้านบาท
พอการห้ำหั่นจบลงก็ดูเหมือนว่าแต่ละแบรนด์จะเลือกแนวทางที่มุ่งเน้นการพัฒนามากกว่ากลยุทธ์เรื่องราคาแบบฉาบฉวย ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องดีที่ถ้าหากขนส่งต่าง ๆ หันมาใส่ใจเรื่องคุณภาพมากขึ้นเป็นสำคัญ ในฐานะผู้บริโภคเราก็น่าจะได้รับบริการที่ดีขึ้นสะดวกขึ้นไปด้วย และน่าสนใจว่าการปรับตัวของขนส่งรายใหญ่เหล่านี้จะส่งผลให้พลิกกลับมาทำกำไรได้ในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ หรือพวกเขาจะยังต้องเผาเงินเล่นกันต่อไปในธุรกิจนี้