#6 Degrees of Separation – เพราะความเป็นไปได้เชื่อมหากันไม่เกินหกทอด
ในโลกนี้มีเหตุบังเอิญมากมายและถ้าเราช่างสังเกตพอ เราก็จะเห็นความบังเอิญ ดังเช่น “ไวรัลโพสต์” ที่โผล่มาซ้ำแล้วซ้ำเล่าอันหนึ่ง ซึ่งเนื้อความจะมีว่า:
‘จริงๆ ขนาดของไอพ่นจรวดในอเมริกายุคปัจจุบัน ถูกกำหนดมาตั้งแต่ยุดโรปสมัยโรมันพันกว่าปีก่อนแล้ว เพราะไอพ่นจรวดต้องขนมาทางรถไฟ ซึ่งขนาดความกว้างรางรถไฟมันวางอยู่บนฐานของความห่างของล้อรถม้า ซึ่งมาตรฐานของล้อรถม้านี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโรมันโบราณ โดยขนาดนี้เกิดขึ้นมาเพราะค้าต้องการให้รถม้ากว้างพอพอดีกับ “ก้นม้า” สองตัวที่ลากรถ ดังนั้นขนาดของก้นของม้าสมัยโรมันมันก็บังเอิญไปกำหนาดขาดไอพ่นจรวดที่พามนุษย์ไปเยือนอวกาศในอนาคตด้วย’
โพสต์นี้เป็นไวรัลโพสต์โผล่มาหลายครั้งแล้วในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะเรื่องราวมันดูสนุกสนานมาก เหมาะกับเล่าให้เด็กฟัง เหมาะแก่การเล่าสู่กันฟังในวงเหล้า และก็ไม่แปลกที่มันจะเป็นโพสต์ที่กลายมาเป็นฟอร์เวิร์ดเมล และเป็นไวรัลโพสต์ใน Facebook และ Twitter ในเวลาต่อมา (และก็ไม่แปลกที่มันจะไปไวรัลใน TikTok หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ สักวัน)
คำถามคือ มัน “จริง” เหรอ? เพราะถ้าไปค้น เราก็จะไม่เจองานวิชาการใดๆ ยืนยันว่าเคลมที่ว่าเป็นความจริง
เราอยากจะบอกว่านี่คือตัวอย่างของการเอา “ความบังเอิญ” มาสร้างเรื่องอย่างสนุกสนานทั้งๆ ที่มันไม่ “จริง” ซะทีเดียว
ประการแรกเลย เริ่มที่ขนาดของรถม้าก่อน จริงๆ ขนาดของรถม้ามันหลากหลาย จะบอกว่ามันมีไซส์เดียวมาตรฐานเดียวนี่ผิดแน่นอน เพราะยุคโบราณมันไม่มีวิธีการวัดมาตรฐานอย่างเที่ยงตรงแบบปัจจุบัน มันมีแต่กะๆ เอา ซึ่งก็ไม่มาตรฐาน แต่ประเมินกับร่างกายมนุษย์ ดังเช่นการประเมินเป็น คืบ ศอก ฟุต อะไรพวกนี้ อย่างไรก็ดี การบอกว่ารถม้าโรมันถูกออกแบบให้พอดูกับ “ก้น” ของม้า 2 ตัวนั้นก็ไม่ผิดแน่นอน มันเป็นเรื่องของความเหมาะสมทางกายภาพและการใช้งาน แค่ไซส์มันไม่ได้เป๊ะแบบจะมาเคลมว่านี่คือไซส์มาตรฐานที่กลายมาเป็นขนาด “รางรถไฟมาตรฐาน” ในเวลาต่อมา
ประการที่สอง เวลาพูดถึง “รางรถไฟมาตรฐาน” ที่ทั่วโลกใช้กัน ซึ่งนั่นคือขนาด 1.435 เมตร หรือ 4 ฟุต 8 นิ้วครึ่ง ซึ่งรางรถไฟเกินครึ่งของโลกใช้รางไซส์นี้ (ในไทยพวก “รถไฟฟ้า” แบบ BTS และ MRT ใช้ไซส์นี้กันหมด) ซึ่งใครมาเห็นตััวเลขก็คงงง เพราะขนาดมันประหลาดมากมีเศษวุ่นวายไปหมด ไม่เป็นตัวเลขกลมๆ สวยๆ
คำถามคือตัวเลขนี้มันมายังไง? มาจากขนาดรถม้าสมัยโรมันจริงเหรอ?
คำตอบเร็วๆ คือไม่ใช่ แต่มันมาจาก “รถม้า” น่ะแหละ
คือมาตรฐานของขนาดและความห่างของล้อรถม้า มันวางอยู่บนระยะที่ม้า 2 ตัวต้องยืนข้างหน้ารถม้าได้ ซึ่งขนาดตัวม้านี่ เอาจริงๆ มันก็ตัวเท่านี้และมาเป็นพันปีละ ดังนั้นจะบอกว่ารถม้าเมื่อร้อยสองร้อยปีก่อนมันได้รับ “มาตรฐาน” จากโรมันเลยมีขนาดเท่านั้นมันผิด เพราะจริงๆ “มาตรฐาน” ที่ว่านี่ไม่ได้ส่งต่อมาจากโรมัน แต่มันเกิดจากลักษณะทางกายภาพของม้าเอง หรือพูดง่ายๆ คือมันไซล์ประมาณนี้ ก็เพราะม้ามันตัวเท่านี้
ซึ่งถามว่าแล้วรถม้าเกี่ยวอะไรกับทางรถไฟ คำตอบเร็วๆ คือในยุคแรกของรถไฟ เค้าไม่รู้จะออกแบบให้รางขนาดเท่าไหน และวิธีง่ายและชัวร์คือ เอาขนาดรางที่ยานพาหนะหลักของยุคนั้นอย่างรถม้าสามารถวิ่งได้ ดังนั้นรางมันเลยไซส์ประมาณที่รถม้าจะวิ่งได้ และการเอารถม้าไปวิ่งบนทางรถไฟก็เป็นสิ่งที่มีบันทึกในประวัติศาสตร์บ่อยครั้ง
…แต่ทำไมต้องขนาด 4 ฟุต 8 นิ้วครึ่ง?
คำตอบคือ มัน “ไม่จำเป็น” ต้องไซส์นี้เลยและเรื่องนี้เป็น “อุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์” ล้วนๆ อธิบายง่ายๆ คือขนาดรางแบบนี้เริ่มที่อังกฤษศตวรรษที่ 19 แต่ในยุคนั้นขนาดรางมันมีหลายไซส์มาก แต่ความบังเอิญทางธุรกิจก็ทำให้บริษัทที่เลือกทำขนาดรางไซส์นี้ได้รับสัมปทานทำทางรถไฟเยอะๆ ซึ่งนั่นก็เลยสร้างมาตรฐานของขนาดรางรถไฟมาอย่างบังเอิญในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ซึ่งพออังกฤษสร้างมาตรฐาน ทางอเมริกานั้นก็ค้าขายกับอังกฤษ ก็รับมาตรฐานนี้มา โดยเฉพาะอเมริกาทางเหนือที่พัฒนาอุตสาหกรรมเยอะๆ คือพัฒนาจนส่งออกรถไฟขายอังกฤษด้วยซ้ำ และนี่ทำให้อเมริกาทางฝั่งเหนือค่อนข้างจะมีมาตรฐานทางรถไฟเร็วกว่าทางใต้ ที่เน้นขายสินค้าเกษตร และมีมาตรฐานทางรถไฟที่หลากหลายจนนน่าเวียนหัว โดยมาตรฐานหลากหลายนี้หายไปหลังจากอเมริกาทางใต้แพ้สงครามกลางเมืองอเมริกาทางเหนือช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และรางรถไฟต่างๆ ทางใต้ก็ถูกปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกับทางเหนือหมดเพื่อความง่ายของการขนส่ง และขนาดของรางรถไฟที่ว่าก็ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ และมันก็เป็น “เพดานขนาด” ของพวกไอพ่นและชิ้นส่วนจรวดที่สร้างในโรงงานที่หนึ่ง และส่งไปประกอบเป็นจรวดอีกที่หนึ่งทางรถไฟนั่นเอง
ดังนั้นว่ากันจริงๆ ขนาด “ก้นม้า” มันก็มากำหนดขนาดไอพ่นจรวดจริงๆ น่ะแหละ แต่การเคลมไปถึงกับว่าว่าพวกโรมันวัดว่า ก้นม้าสองตัวขนาดรวมกันได้ประมาณ “4 ฟุต 8 นิ้วครึ่ง” แล้วเอาขนาดนี้มาออกแบบรถม้า และในเวลาต่อมามันเป็นฐานให้ “รางรถไฟมาตรฐาน” แบบเป๊ะๆ อันนี้เลอะเทอะ เพราะสมัยก่อนมันไม่ได้วัดอะไรเป๊ะขนาดนั้น มาตรฐานการวัดกลางมันไม่มี และ “ขนาดรางรถไฟมาตรฐาน” ที่ใช้กันทุกวันนี้มันเกิดจากความบังเอิญทางประวัติศาสตร์ล้วนๆ
แล้วถามว่าเรื่องนี้สอนอะไรเรา? หลักๆ ก็คงให้เราต้องสงสัยตลอดว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเชื่อมโยงที่ดูเท่ห์ ดูสนุกนั้น จริงๆ มันโยงกันแบบที่ว่าจริงๆ เหรอ? เพราะบางเรื่องมันก็โยงจริงแหละ แต่ไม่ได้โยงกันเนียนๆ แบบในเรื่องเล่าพวกนี้ ซึ่งถ้าเราจำๆ ไปจริงจัง มันจะสร้างทั้งความเข้าใจข้อเท็จจริงและประวัติศาสตร์ผิดๆ ไป
…แต่อีกด้าน มันก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่าการแสดงความเชื่อมโยงสิ่งที่ดูไม่เกี่ยวข้อแบบการเอา “ฐานความจริง” มาใส่ใข่และคาดเดาเพิ่มนั้นเพื่อให้เรื่องราวมันฟังดู “สนุก” ก็สามารถสร้างเรื่องราวที่ “อมตะ” ระดับที่มันวนไปมาไวรัลในแพลตฟอร์มต่างๆ มากว่า 20 ปีได้ไม่ยาก
และจริงๆ นี่ก็ดูไม่ได้ต่างจากพวกหนังแบบ Based On True Story ที่พอเรื่องมันดังแล้วคนก็มักจะจำเรื่องราวจากในหนังว่าเป็น “ความจริง” ทั้งที่จริงๆ มันไม่ได้เที่ยงตรงและสวยงามแบบนั้น
เขียนโดย : อนาธิป จักรกลานุวัตร
.
ที่มา:
https://www.irishtimes.com/…/cork-solicitor-s-tweet…
https://www.snopes.com/fact-check/railroad-gauge-chariots/