#Money In The Air เพราะเงินลอยอยู่ใน “โอกาส”
“ยุคนี้คือยุคชีวิตยืนยาว 100 ปี”
คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ ในสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน เพราะคงทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประชาชนมีอายุยืนจนเป็นที่เลื่องลือ ส่วนหนึ่งก็เพราะอาหารการกินของญี่ปุ่น ค่านิยมรักษาสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ต่างๆ ทำให้คนญี่ปุ่นมีอายุยืน แถมยังมีสุขภาพดี เวลาไปเดินเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ก็มักจะเจอชาว สว. ญี่ปุ่น เดินเทรกกิ้งขึ้นเขากันแบบฉับๆ จนน่าทึ่งครับ
และด้วยระบบบำนาญของญี่ปุ่น หรือ เน็งคิน ที่ทำคนทำงานงานในญี่ปุ่นต้องส่งเข้ารัฐ เพื่อที่จะได้มีเงินใช้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต บวกกับเงินที่สะสมมา ทำให้หลายคนก็ใช้ชีวิตหลังเกษียณกับกิจกรรมที่ชื่นชอบได้อย่างเต็มที่ (แม้ระบบบำนาญจะกำลังเป็นปัญหาในอนาคตของญี่ปุ่น แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่คงมีโอกาสได้เขียนในบทความอื่น) บางคนก็เลือกที่จะไปตั้งหลักในประเทศอื่น เช่นในไทย ที่มีชาวญี่ปุ่นมาอาศัยในช่วงบั้นปลายชีวิตกันไม่น้อย เพราะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ด้วยเงินบำนาญที่รับจากรัฐบาลญี่ปุ่น
และด้วยความที่คนมีสุขภาพดีขึ้น ทำให้กลายเป็นกลุ่มสูงวัยแบบยังมีเรี่ยวแรงอยู่ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลก็ค่อยๆ เพิ่มอายุวัยเกษียณให้สูงมากขึ้น ซึ่งในเดือนเมษายน ปี 2025 กฎหมายก็จะระบุว่า อายุเกษียณคือ 65 ปี จากที่แต่ก่อนเราคุ้นกันว่า 60 ก็พักอยู่บ้านแล้ว
ก็ไม่แปลกหรอกครับ เพราะว่า ถ้าคิดว่าคนอายุ 100 ปีจริง ถ้าเริ่มทำงานอายุ 20 แล้วเกษียณอายุ 60 ถ้ามองแบบเห็นคนเป็นฟันเฟืองในระบบธุรกิจ คนๆ นั้นก็จะมีช่วงใช้ทรัพยากรของรัฐเท่าๆ กับที่ผลิตให้รัฐเลย การเพิ่มอายุเกษียณเพราะประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็ดูเป็นเรื่องเข้าใจได้ แม้มันจะสร้างความไม่พอใจให้กับคนทำงานก็ตามที (ตัวอย่างคือการประท้วงที่ฝรั่งเศส)
แต่เพราะคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีนี่แหละครับ ทำให้มีคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ที่พยายามหางานหลังเกษียณอายุ ซึ่งก็กลายเป็นหนึ่งในหมวดหมู่ของบริษัทจัดหางานไปแล้ว เช่น มีตัวเลือกว่า “หางานที่รับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป” รวมถึงมีการจัดสัมมนาเรื่องการหางานใหม่เมื่อสูงอายุ กลายเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ เพราะหลายคนก็ยังแข็งแรงดี และมีประสบการณ์สูงที่สามารถช่วยบริษัทใหม่ๆ ได้
แต่ถึงจะว่าอย่างนั้น แต่ในความเป็นจริง ตลาดหางานของคนอายุ 60 ปี ก็ยังเป็นตลาดที่เล็กอยู่ และสำหรับตัวผู้หางาน การหางานในช่วงอายุขนาดนี้ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ ที่ไม่ค่อยมีใครมีประสบการณ์เช่นกัน ทำให้ยังมีอะไรไม่เข้ารูปเข้ารอยอยู่ไม่น้อย
เวลาหาบทความแนะนำเรื่องการหางานหรือเปลี่ยนงานในช่วงอายุวัยเกษียณ จึงมักจะมีการแนะนำหลายประเด็น เช่น ควรเริ่มคิดเรื่องหางานใหม่ ตั้งแต่ก่อนเกษียณจากที่ทำงานปัจจุบัน เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะปรับตัวได้ยากมากขึ้น ถ้าเกิดไม่ได้ทำงานเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งกลับเข้ามาสู่การทำงานได้ยาก และยิ่งถ้ามีช่วงเวลาว่างในประวัติการทำงาน ก็จะทำให้ผู้จ้างคิดว่ามีอะไรรึเปล่าที่ไม่ได้ทำงานช่วงใหญ่ๆ หรืออะไรทำให้ตัดสินใจกลับมาทำงานอีกครั้ง
อีกเรื่องที่สำคัญคือ การปรับตัว เพราะโลกก็เปลี่ยนไปข้างหน้า และคนที่ผลักดันบริษัทในปัจจุบันคือคนรุ่นใหม่ การยึดกับค่านิยมแบบเดิมๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาในที่ทำงานได้ง่าย ยิ่งในปัจจุบันที่บริษัทส่วนมาก ต้องการคนที่มีทักษะหลากหลาย และปรับตัวได้ง่ายกับงานหลากหลาย และเทคโนโลยีใหม่ๆ ถ้าไม่ทำความเข้าใจตรงนี้ก็จะทำให้การทำงานลำบากมากขึ้น
ดังนั้น ถ้าหากจะทำงานต่อหลังวัยเกษียณ ก็ควรจะเข้าใจความยากของการหางาน ทำใจเผี่อไว้ และที่สำคัญคือ ควรหางานที่ “อยากทำ” และ “มีคุณค่า” ให้สมกับที่ทำงานต่อทั้งที่อายุควรจะอยู่ในวัยที่พักอยู่บ้าน
กลุ่มที่พูดมาคือ กลุ่มคนทำงานบริษัทและอยากจะทำงานต่อ แต่เอาจริงๆ แล้วในสังคมญี่ปุ่นก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ ต้องการทำงานอะไรก็ได้ เพื่อที่จะได้มีเงินค่าใช้จ่าย ให้อยู่ได้สบายมากขึ้น หรือบางคนก็ทำเพราะลำบากเรื่องเงินจริงๆ กลุ่มนี้ก็อาจจะต้องไปหางานพิเศษ หรืองานพาร์ทไทม์ทำแทน ซึ่งก็สามารถสมัครได้โดยตรงกับงานนั้นๆ เงื่อนไขไม่ได้เข้มงวดเท่ากับงานประจำ แต่ก็แน่นอนว่ารายรับก็ไม่ได้ดีเท่าด้วย ซึ่งก็มีงานหลายเกรด เช่นทำงานต้อนรับ ทำงานในครัว ไปจนกระทั่งทำงานจิปาถะ เช่น ทำความสะอาด หรือเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
กลุ่มหลังนี้ก็มีทั้งแบบเป็นพาร์ทไทม์ประจำ กับแบบ ฮะเค็ง คือกลุ่มที่ไปขึ้นทะเบียนไว้ แล้วมีงานอะไรเรียกตัว ก็ไปทำงานนั้นตามที่ถูกเรียกไป เรียกได้ว่าเป็นงานจิปาถะนั่นเอง งานแบบฮะเค็ง ไม่ได้มีเงื่อนไขว่าจำกัดที่อายุเท่าไหร่ ใครไหวก็ทำได้ ทำให้เราสามารถพบคนรุ่นปู่ มายืนโบกแจ้งให้คนสัญจรผ่านไปทราบว่าตรงนี้มีการก่อสร้างเพื่อลดอันตราย ซึ่งงานกลุ่มนี้ก็มักจะเรียกได้ว่าเป็นงานที่ไม่ต้องการทักษะอะไรสูงมากนัก ใครทำก็ได้ ทำให้รายได้ไม่ได้สูงเท่าไหร่ แต่ก็ทำเท่าที่ทำได้
แต่ในทางกลับกัน กลุ่มฮะเค็ง ก็มีอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ทำเพราะอยากทำอะไรมากกว่าอยู่เฉยๆ โดยกลุ่มนี้ทางเขตต่างๆ ก็มีบริการเรียกว่า Silver Jinsai Center หรือ ศูนย์จัดหารบุคลากรสูงวัย (Silver มักถูกใช้ในความหมาย ผู้สูงอายุ ในสังคมญี่ปุ่น) ซึ่งผู้สูงอายุในเขตนั้นๆ ก็สามารถมาขึ้นทะเบียนไว้ แล้วศูนย์ก็จะรับงานต่างๆ แล้วก็จะจัดผู้สูงอายุไปตามงานที่เหมาะสม เท่าที่ทราบคือ ถ้าตั้งใจทำ รายได้ก็เฉลี่ยประมาณแสนเยนต่อเดือน ก็ไม่ได้เยอะมาก แต่ก็ถือว่าช่วยเงินบำนาญได้เยอะ แต่เป้าหมายหนึ่งก็คือ เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ดีต่อสุขภาพ และเพื่อสร้างสังคมให้ผู้สูงอายุ ช่วยแก้เหงาได้ เพราะบางคนชีวิตคือทำแต่งาน พอเกษียณมา ก็ไม่มีสังคมอื่นเลย ก็ได้มารู้จักคนใหม่ๆ จากกิจกรรมแบบนี้ แถมได้เงินด้วย ผมเห็นบางทีก็มีกลุ่มผู้สูงอายุ ติดเข็มกลัดของเขต ออกมาทำความสะอาดถนนกันเป็นกลุ่ม ดูกระฉับกระเฉงดีครับ
จากแนวทางการทำงานของกลุ่มผู้สูงอายุทั้งหลายของญี่ปุ่น สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งก็คือ ไม่ใช่แค่เรื่องรายรับอย่างเดียว แต่เป็นการทำงานเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง และรวมถึงการแก่แบบมีคุณภาพ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในทุกช่วงอายุ
เขียนโดย ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล