Circuit Breaker คืออะไร?
Circuit Breaker ก็เหมือนกับระบบตัดไฟที่บ้านในกรณีไฟช็อตก็จะมี Breaker เอาไว้ตัดไฟ ไม่ให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย ตลาดหุ้นก็เช่นกัน ในกรณีที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะเกิดการ Panic Sell ตลาดหลักทรัพย์ก็จะใช้ Circuit Breaker มาหยุดการซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาที และ 1 ชั่วโมง เพื่อให้นักลงทุนทบทวนข่าวสารข้อมูลก่อนการตัดสินใจ
🤔 Circuit Breaker ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นตอนไหน?
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนดมาตรการ Circuit Breaker เป็น 3 ระดับ
- เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 8% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดทำการซื้อ-ขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 30 นาที แล้วกลับมาซื้อ-ขายกันใหม่
- หาก SET Index ลดลงถึง 15% (ลดลงไปอีก 7%) ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดทำการซื้อ-ขายอีก 30 นาที แล้วกลับมาซื้อ-ขายกันใหม่
- หากกลับมาซื้อ-ขายกันอีกครั้งแล้ว SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 20% (ลดลงอีก 5%) ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดทำการซื้อ-ขายโดยอัตโนมัติไปอีก 1 ชั่วโมง
ซึ่งหากเกิด Circuit Breaker 3 ครั้งแล้ว ตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้ทำการซื้อ-ขายต่อไป จนถึงเวลาปิดทำการตามปกติ โดยไม่มีการหยุดพักการซื้อ-ขายอีก แม้ว่าหุ้นจะตกลงไปมากเท่าไหร่ก็ตาม
🤔 เคยเกิดเหตุการณ์ที่ใช้ Circuit Breaker ตอนไหนบ้าง?
ตั้งแต่ปี 2518 ที่เริ่มการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้มาตรการ Circuit Breaker มาแล้ว 5 ครั้ง
📌ครั้งที่ 1: วันที่ 19 ธันวาคม 2549
เกิดขึ้นจากธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการสำรอง 30% เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท ส่งผลให้ SET Index ร่วงลงถึง 142.63 จุด หรือ -19.52% ภายในวันเดียว
📌ครั้งที่ 2: วันที่ 10 ตุลาคม 2551
เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger) หรือ วิกฤตซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) ทำให้ดัชนีลดลง 50.08 จุด หรือ -10.09%
📌ครั้งที่ 3: วันที่ 27 ตุลาคม 2551
เกิดขึ้นจากความกังวลต่อเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger) หรือ วิกฤตซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) เพราะเกิดห่างกันเพียง 17 วัน ซึ่งรอบนี้ SET Index ลดลงไปอีก 45.44 จุด หรือ -10.50%
📌ครั้งที่ 4: วันที่ 12 มีนาคม 2563
เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ SET Index ร่วงลง 125.05 จุด หรือ -10% มาอยู่ที่ระดับ 1,124.84 จุด จนเกิด Circuit Breaker 30 นาที ก่อนจะเปิดการซื้อ-ขายใหม่ และปิดตลาดตอนเย็นด้วยดัชนี 1,114.91 จุด ลดลงไปถึง 134.98 จุด หรือ -10.80%
📌ครั้งที่ 5: วันที่ 13 มีนาคม 2563
เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจาก Circuit Breaker เมื่อวาน เพราะตลาดหุ้นไทยถูกขายอย่างต่อเนื่อง หลังจากเปิดตลาดเพียงแค่นาทีเดียว SET Index ร่วงมาอยู่ที่ระดับ 1,003.39 จุด ปรับตัวลดลง 111.52 จุด หรือ -10% จนต้องประกาศใช้ Circuit Breaker อีกครั้ง ทำให้เป็นครั้งแรกที่ตลาดหุ้นไทยประกาศใช้ Circuit Breaker 2 วันติดต่อกัน
ที่มา
https://www.set.or.th/th/market/information/trading-procedure/circuit-breaker
https://money.kapook.com/view222070.html
https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/setindexcircuitbreaker/
https://www.bangkokbiznews.com/business/870451
https://www.mrlikestock.com/2021/circuit-breaker/