ก่อนหน้านี้เราได้ทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบของกราฟราคา และกลไกที่ทำให้ราคาของสินทรัพย์จากตลาดระดมทุน มีการขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาไปแล้ว วันนี้ Creative Investment Space จะมาแนะนำสิ่งที่เรียกว่า ‘อินดิเคเตอร์ (Indicator)’ เครื่องมือที่เปรียบเสมือน ‘ตัวช่วย’ สำหรับนักลงทุนสายเทคนิคคอล เพื่อให้ย่นเวลา และเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ราคาให้กับนักลงทุน
แล้วอินดิเคเตอร์นั้นคืออะไร และทำงานอย่างไร?
เว็บไซต์ Tradimo ได้นิยามไว้ว่าอินดิเคเตอร์นั้นคือ ‘เครื่องมือที่ช่วยให้การวิเคราะห์กราฟราคามีความละเอียด และแม่นยำมากขึ้น’ สำหรับการลงทุนสายเทคนิคคอลนั้น อินดิเคเตอร์ เป็นตัวชี้วัดที่ได้จากการเก็บข้อมูลทางสถิติในอดีต เพื่อสังเกตุ ‘สัญญาน’ ที่จะเกิดขึ้นกับกราฟราคาในอนาคต
.
แน่นอนว่าอินดิเคเตอร์แต่ละตัวนั้นถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน อย่างเช่น EMA นั้นใช้สำหรับการวิเคราะห์แนวโน้ม หรือ MACD ที่ใช้สังเกตุการกลับตัวของราคา นักลงทุนจึงควรที่จะใช้งานอินดิเคเตอร์หลายตัวประกอบกัน เพื่อความแม่นยำในการวิเคราะห์ แต่อย่างที่กูรูหลายๆ ท่านมักจะย้ำเตือนว่า ‘ไม่มีอินดิเคเตอร์ไหนที่ดีที่สุด และแม่นยำ 100%’ การบริหารความเสี่ยงจึงยังคงเป็นหัวใจหลักของการลงทุน เพื่อที่จะสามารถเอาตัวรอดในตลาดได้ในระยะยาว
.
การใช้งานอินดิเคเตอร์จึงต้องเข้าใจก่อนว่า เครื่องมือที่เราจะใช้นั้นเป็นเครื่องมือประเภทไหน และถูกใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์แบบใด โดยประเภทของอินดิเคเตอร์นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ‘Lagging Indicator’ เครื่องมือที่ให้สัญญานยืนยันพฤติกรรมของราคาในปัจจุบัน และ ‘Leading Indicator’ เครื่องมือที่ใช้พยากรณ์ราคาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
.
โดยหากแบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้งาน อินดิเคเตอร์แบ่งได้ทั้งหมด 4 ประเภท
1. อินดิเคเตอร์ที่บ่งบอกแนวโน้มราคา (Trend Indicator)
เครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์แนวโน้มราคาที่ได้รับความนิยม และง่ายต่อการใช้งานในปัจจุบันคงจะหนีไม่พ้น ‘MA (Moving Average)’ หรือเส้นค่าเฉลี่ยของราคาที่สามารถบ่งบอกแนวโน้มได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้ใช้งานกำหนด อย่างเช่น MA 10 หมายถึงเส้นค่าเฉลี่ยราคา 10 ของกราฟราคาสินทรัพย์ 10 แท่งล่าสุด
.
หากเราต้องการที่จะเทรดในระยะสั้น เมื่อราคาเข้าใกล้เส้น MA 10 จึงเป็นจุดที่ควรพิจารณาเข้าซื้อ เพราะมีแนวโน้มว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นต่อในอนาคต ดังนั้นเพื่อความแม่นยำของการใช้งานอินดิเคเตอร์ MA จึงควรกำหนดระยะเวลาของราคาเฉลี่ยทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อดูแนวโน้มทิศทางของราคาในภาพรวม นักลงทุนส่วนใหญ่จึงนิยมใช้งาน MA10, MA50 และ MA 200 ประกอบการตัดสินใจ
.
แต่ MA นั้นเป็นอินดิเคเตอร์ประเภท Lagging Indicator ที่มีความล่าช้าในการกำหนดสัญญาน จึงมีการปรับปรุงโดยการตั้งค่าการคำนวนโดยให้นำ้หนักกับราคาในปัจจุบันมากกว่าราคาในอดีต เส้นราคาเฉลี่ยจึงมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาได้ฉับพลันกว่า และสร้างขึ้นเป็นอินดิเคเตอร์ตัวใหม่อย่าง EMA (Exponential Moving Average) ที่ถึงแม้ว่าจะเป็น Lagging Indicator เช่นเดียวกัน แต่จะมีการส่งสัญญานที่รวดเร็วกว่า
.
2. อินดิเคเตอร์ที่ใช้วัดอัตราเร่งของราคา (Momentum Indicator)
เมื่อเราทราบแนวโน้มของราคา สิ่งต่อไปที่จำเป็นจะต้องสังเกตุคือการดูโมเมนตัมของราคา ว่าการในทิศทางที่ราคากำลังมุ่งหน้าไปนั้นมีความเร่งมากเพียงใด โดย Momentum Indicator ที่ง่ายต่อการใช้งาน และมีความแม่นยำ คือ RSI (Relative strenght index) ซึ่งเป็น Leading Indicator เพื่อสังเกตุว่าแรงซื้อ และแรงขาย มากกว่ากัน
.
การแสดงผลของ RSI นั้นจะแสดงผลในรูปแบบของตัวเลขระหว่าง 1-100 โดยในเบื้องต้นนั้นหาก RSI มีค่ามากกว่า 70 แสดงว่าสินทรัพย์ตัวดังกล่าวกำลังอยู่ในสถานะ ‘Overbought หรือมีแรงซื้อมากเกินไป’ จึงมีแนวโน้มว่าในอนาคตราคาจะมีการปรับตัวลงมาเนื่องจากเมื่อมีแรงซื้อที่ดันราคาสินทรัพย์ขึ้นไป ย่อมมีนักลงทุนอีกกลุ่มที่ต้องการจะขายทำกำไร และหาก RSI มีค่าต่ำกว่า 30 จะเข้าสู่สถานะ Oversold หรือมีแรงขายมากเกินไป ที่ทำให้ราคาตกลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจึงตัดสินใจเข้าซื้อเนื่องจาก ต้องการที่จะซื้อของถูก จึงเป็นสัญญานที่อาจทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต
.
RSI นั้นยังสามารถใช้เพื่อในการวิเคราะห์ร่วมกับอินดิเคเตอร์อื่นๆ ได้อีกมากมาย เช่นการสังเกตุความขัดแย้งกัน (Divergence) ของทิศทางราคา และ RSI ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญานที่บ่งบอกถึงการกลับตัวของราคาได้อีกด้วย
.
3. อินดิเคเตอร์แสดงถึงความผันผวนราคา (Volatility Indicator)
ความผันผวนนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับตลาดระดมทุน และเป็นตัวบ่งชี้ถึงการความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงราคาในช่วงเวลาที่กำหนด การราคาที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นย่อมหมายถึงความผันผวนที่มากขึ้น เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงราคาที่ช้าลงย่อมทำให้ความผันผวนลดลง
.
ตัวอย่างของเครื่องมือที่ช่วยประเมินความเสี่ยงทางด้านความผันผวน และกรอบของราคาที่ได้รับความนิยมนั้นมีอยู่มากมาย แต่ทาง CIS แนะนำให้ใช้ BB (Bollinger Bands) ซึ่งเป็นอินดิเคเตอร์ประเภท Lagging Indicator เพราะนอกจากจะง่ายต่อการใช้งาน และสามารถใช้หาแนวรับแนวต้าน BB จึงเป็นอินดิเตอร์ในดวงใจของนักลงทุนมือใหม่ ไปยันนักลงทุนชั้นเซียน
.
โครงสร้างของ BB นั้นคือการรวมตัวกันของ MA 20 และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ Standard Dividation โดยหน้าตาของ BB จะมีเส้น MA 20 วิ่งอยู่ตรงกลาง และมีเส้น SD สองเส้นห่อหุ้ม MA 20 ไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นกรอบความผันผวนของราคา ยิ่ง SD ทั้งสองมีระยะห่างกันมากเท่าใด นั้นแสดงถึงความผันผวนของราคาที่มากเท่านั้น อีกทั้งเส้น SD ทั้งสองยังทำหน้าที่เป็นแนวรับ-แนวต้านภายในกรอบราคาดังกล่าวอีกด้วย
4. อินดิเคเตอร์ที่ใช้วัดปริมาณซื้อขาย (Volume Indicator)
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าการสังเกตุปริมาณซื้อขายนั้นความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นจุดที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าจุดใดที่เป็นแนวรับ-แนวต้าน และยังทำให้เห็นภาพความชัดเจนว่าทิศทางราคาที่กำลังมุ่งหน้าไปนั้นมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นหากราคาสินทรัพย์มีการปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ จนไปชนแนวต้าน แต่กลับมีปริมาณซื้อที่เบาบาง นักลงทุนจึงสามารถคาดการณ์ได้ว่า ราคาจะมีการกลับตัวเมื่อกราฟชนแนวต้าน เพราะปริมาณซื้อที่ไม่มากพอ
.
On-Balance volume หรือ OVB เป็น Leading indicator ที่แสดงถึงการคำนวนปริมาณซื้อ-ขายสะสม โดยหากปริมาณซื้อในกราฟก่อนหน้าเป็นบวก จะนำส่วนต่างไปรวมกับปริมาณซื้อขายสะสมก่อนหน้า และหากปริมาณปริมาณขายเป็นลบ จะนำไปหักออกแทน ทำให้เราเห็นได้ว่าปริมาณซื้อขาย ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร
.
สิ่งที่นักลงทุนต้องจดจำไว้เสมอคือ ‘ไม่มีอินดิเคเตอร์ใดที่แม่นยำที่สุด’ การวิเคราะห์กราฟราคาควรที่จะใช้งาน อินดิเคเตอร์หลากหลายวัตถุประสงค์ และหลากหลายประเภทเข้าประกอบการตัดสินใจ แต่จงอย่าลำพองไปว่าการวิเคราะห์อย่างรอบคอบจะช่วยให้เราสามารถเทรดชนะทุกครั้ง เพราะแม้คุณจะเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ และรอบคอบเพียงใด แต่ไม่มีทางที่จะเก่งไปกว่าตลาดแน่นอน ดังนั้นจงอย่าลืมที่จะตั้ง Stop loss และบริหารหน้าตักลงทุนให้ดี เพราะหากปราศจากสองสิ่งนี้ การลงทุนของคุณคงเป็นได้เพียงแค่ ‘การเสี่ยงโชค’ เท่านั้นเอง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
แนวรับแนวต้าน และทิศทางของตลาด
https://connectthedotsth.com/influencer/support-resistance
Reference
https://www.ig.com/en/trading-strategies/10-trading-indicators-every-trader-should-know-190604
https://www.investopedia.com/terms/i/indicator.asp
https://learn.tradimo.com/technical-analysis-how-to-work-with-indicators/overview
https://th.tradingview.com/scripts/volatility/
https://admiralmarkets.sc/th/education/articles/forex-indicators/bollinger-bands-strategy