สิ่งที่นักลงทุนต้องตามหาจากกราฟราคา
หากคุณเป็นนักลงทุนมือใหม่ที่กำลังจะกระโดดมาโลดแล่นในตลาดหุ้น หรือตลาดคริปโทฯ สิ่งหนึ่งที่คุณจำเป็นจะต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจ เพื่อที่จะมองเห็นถึงโอกาสในการทำกำไร โดยไม่ปล่อยให้เงินลงทุนของคุณละลายไปกับความผันผวนของราคานั่นคือ ‘การอ่านกราฟราคา’ เพื่อที่จะได้รู้ถึงความสามารถในการทำกำไร และหาจุดเข้าซื้อ และจุดขายได้อย่างเหมาะสม
.
หลักการง่ายๆ แต่ทำได้ยากของตลาดหุ้น และคริปโตนั่นคือ ‘ซื้อถูก ขายแพง’ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในอนาคตข้างหน้าสินทรัพย์ที่เราซื้อนั้นจะ แพง หรือถูก เพราะอย่างที่เคยได้กล่าวไปในบทความก่อนหน้า ว่าเราไม่มีทางที่จะล่วงรู้ถึงสภาวะตลาดของวันพรุ่งนี้ได้ แต่การศึกษาถึงข้อมูลราคาในอดีตอาจทำให้เราทราบได้ว่า ‘แนวโน้ม’ ของราคาสินทรัพย์จะเป็นอย่างไร พื้นฐานการอ่านกราฟราคาจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรจะทำการศึกษาให้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไปกับสินทรัพย์ที่เรากำลังให้ความสนใจ
.
ในปัจจุบันกราฟราคานั้นมีอยู่หลายประเภทขึ้นอยู่ความถนัด และแผนการลงทุนของแต่ละบุคคล แต่รูปแบบที่ได้รับความนิยมคือ ‘กราฟแท่งเทียน’ เพราะให้ข้อมูลของราคาที่ค่อนข้างละเอียด และง่ายต่อการใช้งาน โดยกราฟแท่งเทียนหนึ่งแท่งจะแสดงถึงกรอบเวลา (Time Frame) ที่เราเลือกไว้
.
ยกตัวอย่างเช่น หากเราเลือกกราฟในกรอบเวลา 1 วัน กราฟแท่งเทียน 1 แท่ง จะแสดงราคา 24 ชั่วโมงก่อนจะปิดแท่ง และเปิดแท่งใหม่ นั่นหมายความว่าหากกราฟมีการแสดงราคาของสินทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 1 เดือน ในหน้ากราฟจะแสดงแท่งเทียนอยู่ทั้งหมด 30 แท่ง เพื่อเป็นการแสดงกราฟราคา 30 วันย้อนหลังของสินทรัพย์นั้นๆ
องค์ประกอบของกราฟแท่งเทียนนั้นจะประกอบไปด้วย ราคาเปิดของสินทรัพย์เมื่อเปรียบเทียบกับราคาปิดของวันก่อนหน้า หากกราฟแท่งเทียนแสดงเป็น ‘สีเขียว’ แสดงว่า ราคาสูงกว่าราคาเปิด ในทางกลับกันหากแท่งเทียนเป็น ‘สีแดง’ นั่นแสดงถึงว่า ราคาต่ำกว่าราคาเปิด และในส่วนของเส้นตรงที่เราเรียกว่า ‘ไส้’ นั่นคือราคาที่เคยวิ่งไป สูงสุด หรือ ต่ำสุด ของกรอบเวลาที่กำหนดนั่นเอง
.
และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กับกราฟราคานั่นคือ ‘ปริมาณซื้อขาย (Volume)’ ที่แสดงให้เห็นถึงว่าใน Time Frame ที่เรากำหนดนั้น ผู้คนในตลาดมีการตัดสินใจซื้อ หรือขายสินทรัพย์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เพราะความเปลี่ยนแปลงของราคานั้นเกิดขึ้น จากการที่ปริมาณซื้อหรือปริมาณขาย มากกว่าอีกฝั่ง หรืออธิบายง่ายๆ คือ หากปริมาณซื้อมากกว่าขาย จะทำให้ราคาของสินทรัพย์มีการปรับตัวขึ้น แต่หากปริมาณขายมากกว่าปริมาณซื้อ จะทำให้ราคาสินทรัพย์ของปรับตัวลงนั่นเอง
.
เมื่อรู้จักกับองค์ประกอบของกราฟในเบื้องต้นแล้ว การที่เราจะหา ‘จุดซื้อ-จุดขาย’ ของกราฟได้นั้น เราจำเป็นจะต้องรู้จักกับ สิ่งที่เรียกว่า ‘แนวรับ-แนวต้าน (Support-Resistance)’ และดู ‘แนวโน้มราคา (Trend)’ ว่าหุ้น หรือคริปโทฯ ที่คุณกำลังให้ความสนใจอยู่นั้นจะวิ่งไปในทิศทางใดระหว่าง ขาขึ้น (Uptrend), ขาลง (Downtrend) หรือว่า ไซต์เวย์ออกข้าง (Sideway)
แล้วแนวรับ-แนวต้าน (Support-Resistance) นั้นคืออะไรกัน?
การตามหาแนวรับ-แนวต้าน เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด หากปราศจากความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับองค์ประกอบของกราฟราคา จะทำให้การทำความเข้าใจสองสิ่งนี้ มีความคลาดเคลื่อนไป โดยแนวรับและแนวต้านนั้น คือโซนราคาที่มีความต้องการซื้อและความต้องการขายมากกว่าช่วงราคาอื่น ดังนั้นเมื่อราคาวิ่งไปชนโซนราคาทั้งสองที่กล่าวไป จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดการกลับตัวของราคาในอนาคต
.
โดยแนวรับ (Support) คือระดับราคาที่มีความต้องการซื้อ มากกว่าราคาอื่นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้คนในตลาดให้เชื่อมั่นว่าเป็นจุดที่ควรค่าต่อการซื้อ ทำให้ราคาของสินทรัพย์มี ‘แนวโน้ม’ จะไม่ปรับตัวลงไปต่ำกว่าช่วงราคาแนวรับ แต่ในกรณีที่มีแรงขายเข้ามามากพอจนทำให้ราคาสินทรัพย์ลดต่ำลงไปกว่าแนวรับ ในกรณีเราเรียกว่า ‘ทะลุแนวรับ’ และเมื่อใดที่ปราการเหล็กอย่างแนวรับสำคัญถูกทำลายลงไปแล้ว สิ่งที่มักจะตามมาคือ การปรับตัวลงของราคาอย่างรุนแรง
แต่แน่นอนว่าเมื่อซื้อหุ้นหรือคริปโทฯ ก็เพื่อต้องการที่จะทำกำไร ดังนั้นเมื่อมีจุดเข้าซื้อ ก็ย่อมต้องมีจุดขายทำกำไร และ ณ จุดขายทำกำไร ที่มีปริมาณการขายมหาศาลรออยู่ ในจุดนั้นเราเรียกว่า ‘แนวต้าน (Resistance)’ หรือเพดานของราคานั่นเอง บ่อยครั้งเราจึงมักจะเห็นการปรับตัวลงของราคา หลังจากที่พุ่งขึ้นไปชนจุดสูงสุดเดิม และเมื่อแรงซื้อสามารถเอาชนะแนวต้านได้ จะทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับการที่ราคาทะลุแนวรับ
การหาแนวรับแนวต้านจากกราฟ จึงทำให้เราสามารถ ‘บริหารความเสี่ยง (Risk Management)’ ได้อย่างละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเรามีความเข้าใจมากขึ้นว่า จุดเข้าซื้อบริเวณใด มีความเสี่ยงที่ราคาจะปรับตัวลงมากน้อยเพียงใด แต่หาก ราคา ณ ขณะนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่าง แนวต้าน-และแนวรับล่ะ เราควรจะตัดสินใจอย่างไรกันดี?
.
นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจว่า กราฟราคาขณะนั้นจะมีแนวโน้ม (Trend) เป็นอย่างไรระหว่างขาขึ้น (Uptrend) , ขาลง (Downtrend) หรือ ไซต์เวย์ (Sideway) ซึ่งสามารถดูได้ว่าราคากำลังทำจุดสูงสุดใหม่ Higher High และ Higher low
.
แนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) แน่นอนว่าเป็นสถานการณ์ที่นักลงทุนทุกคนต้องการ เพราะเขาสามารถมั่นใจได้ว่า ราคาของหุ้นจะขึ้นไปสูงกว่าราคาที่พวกเขาซื้อแน่นอน ซึ่งแน่นอว่าการเคลื่อนไหวของกราฟนั้น แม้ว่าจะเป็นขาขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาจะพุ่งขึ้นเป็นแนวดิ่งทะยานไปในแท่งเดียว ราคามักจะมีการย่อเพื่อลงมาพักตัวอยู่บ้างเป็นระยะๆ
.
การสังเกตุว่าแนวโน้มกำลังจะเป็นขาขึ้นหรือไม่ ให้ลองสังเกตุว่า ถ้ากราฟราคาที่มีการย่อตัวนั้น เป็นการย่อเพียงแค่สั้นๆ เพื่อทำ Higher High หรือราคาที่สูงกว่าจุดสูงสุดเดิม และตำแหน่งในการย่อจะมีการยกสูงขึ้นกว่าการย่อก่อนหน้า นั่นมีแนวโน้มว่าราคาจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยยิ่งใช้กรอบเวลาที่กว้างเท่าไหร่ ยิ่งมีความแม่นยำในการดูภาพรวมของแนวโน้มมากขึ้นเท่านั้น
ในทางกลับกันหากการจุดย่อของราคามีการปรับตัวต่ำลงกว่าการย่อครั้งก่อนหน้า และกราฟของราคาไม่สามารถทำ Higher High ได้ เราจะเรียกจุดสุดใหม่ดังกล่าว่า Higher Low ซึ่งเป็นสัญญานว่าแนวโน้มของราคากำลังจะทำทรงว่าเป็นขาลง (Downtrend) ซึ่งนักลงทุนควรตัดสินใจขายเพื่อป้องกันการขาดทุนที่จะเกิดขึ้นได้
และกราฟรูปแบบสุดท้ายอย่างกราฟ ไซต์เวย์ (Side Way) คือภาวะที่ตลาดไม่มีปัจจัยสนับสนุนให้ราคากลับตัวเป็นขาขึ้น หรือเป็นขาลงแต่อย่างใด รูปแบบของกราฟราคาคือการวิ่งขึ้นลงอยู่ในกรอบแนวรับ แนวต้านที่แคบๆ และชัดเจน ซึ่งเหมาะสำหรับการทำกำไรช่วงสั้นๆ ในภาวะที่ตลาดพักตัว
.
เมื่ออาศัยการดู แนวรับ-แนวต้าน และการดูแนวโน้มของตลาด จะทำให้นักลงทุนสามารถประเมินได้ว่าในอนาคตข้างหน้าภาวะของตลาดจะเป็นอย่างไรต่อไป เพื่อที่จะได้วางแผนการลงทุน และวิเคราะห์ความเสี่ยงได้อย่างรัดกุมมากขึ้น และเข้าใจว่าเมื่อใดควรที่จะขายเพื่อทำกำไร และเมื่อใดควรที่จะตัดสินใจยอมขายขาดทุน
Reference