6 Degrees of Separation
ในช่วงปลายปีของทุกปี ชาวไทยอาจรู้สึกลุ้นว่าปีนี้อากาศหนาวมั้ย แต่สำหรับคนในโลกตะวันตก ช่วงนี้คือ Festive Season ซึงจริงๆ มันก็เป็นช่วงที่ภาคธุรกิจคึกคักมาก เพราะนี่คือช่วงที่สินค้าขายดีที่สุดของปี
บางคนจะมองว่า Festive Season มันก็คือช่วงคริสต์มาสต์ยาวไปจนวันปีใหม่ ซึ่งรวมๆ กันเพราะมันวันใกล้ๆ กัน จริงๆ ในแต่ละประเทศ ช่วงแห่งการเฉลิมฉลองนี้กินเวลาต่างกัน โดยชาติที่ฉลองนานที่สุดน่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็คือฉลองกันยาวตั้งแต่ปลายพฤศจิกายน ไปจนถึงต้นมกราคมของอีกปี
แล้วมันเป็นแบบนี้ได้ไง? ทำไมฉลองกันยาวเฟื้อย คำตอบสั้นๆ คือมันเป็นการรวมวันหยุดและวันเทศกาลของต่างวัฒนธรรมมาผูกกันเข้าไว้ ซึ่งภาคธุรกิจแฮปปี้ เพราะมันเป็นเทศการกระตุ้นการบริโภคชั้นดี
แต่ที่มามันยาวนานและซับซ้อนน่าดุ
ต้องเข้าใจก่อนว่าย้อนไปกลางศตวรรษที่ 19 ในโลกนี้น่าจะไม่มีที่ไหนฉลองคริสต์มาสต์แบบทุกวันนี้ มันก็เป็นวันสำคัญทางศาสนาธรรมดาๆ ของศาสนาคริสต์ ซึ่งในยุคที่ศาสนาไม่ใช่ศูนย์กลางของชีวิตผู้คนแล้ว มันก็เป็นแค่ “วันเกิดพระเยซู” อาจไม่ได้ต่างจาก “วันวิสาขบูชา” ของไทยอะไรแบบนี้ด้วยซ้ำ อาจมีการกินเลี้ยงกันบ้างในครอบครัว แต่ก็ไม่ใช่อย่างทุกวันนี้แน่ๆ ซึ่ง “ต้นคริสมาสต์” ที่เป็นศูนย์กลางเทศกาลนี่แทบไม่มีแน่
การเริ่มให้ความสำคัญกับคริสต์มาสต์ในฐานะวันสำคัญเริ่มใน “ยุควิคตอเรี่ยน” ซึ่งก็ว่ากันว่าหลังจากพระราชินีวิคตอเรียแต่งงานกับเจ้าชายอัลเบิร์ตและรับเอาธรรมเนียมการ “แต่งต้นคริสต์มาส” มา (ว่ากันว่ามาจากเยอรมนี) ซึ่งพอพระราชินีเริ่มทำการทำแบบนี้ ตอนช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ไม่นานครัวเรือนชนชั้นกลางก็มีการแต่งต้นคริสมาสต์ ซึ่งพอภาคธุรกิจมองเห็นว่าคนฉลอง ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์พิเศษเฉพาะเทศกาลมาตั้งแต่การ์ดคริสต์มาสต์ ไปจนถึงขนม และพอมันมีบรรยาการการฉลอง ครัวเรือนที่มีอันจะกินหน่อยก็เริ่มมีการเลี้ยงกันในครอบครัว
ซึ่งก็อยากให้นึกตามว่าช่วงนั้นอังกฤษคือจักรวรรดิ์ที่ใหญ่ที่สุด ไอเดียของคริสตมาสต์แบบนี้มันก็ค่อยๆ แพร่กระจายไปในดินแดนที่เป็นอาณานิคมอังกฤษด้วย ซึ่งนี่คือการลงรากว่าทำไมเทศกาลนี้ถึงแพร่หลายไปทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์
ทั้งหมดมันเป็นไปอย่างธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าในเมืองหนาว ช่วงปลายเดือนธันวาคมมันจะเป็นช่วงของ “วันเหมายัน” ซึ่งคือวันที่กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปีในซีกโลกเหนือ และมันเป็นวันที่ถือว่าเป็น “วันเข้าหน้าหนาว” มาแต่โบราณ ซึ่งมันก็เป็นธรรมชาติพอสมควรที่มนุษย์จะต้องการ “ความอบอุ่น” ในช่วงนี้
อย่างไรก็ดี อยากให้นึกภาพว่า ณ ตอนต้นศตวรรษที่ 20 คนก็ยังไม่ช็อปปิ้งกันยับๆ แบบทุกวันนี้ เทศกาลฉลองคริสมาสต์ก็ยังเป็นแค่ช่วงเวลาเริ่มตั้งแต่ 25 ธันวาคม ยาวไป 12 วัน ไปจบในช่วงช่วงต้นมกราคมของอีกปี ซึ่งทางคนคริสต์เชื่อว่าเป็นวันที่ 3 นักปราชญ์ได้ทำพิธีศีลจุ่มให้พระเยซู ซึ่งการฉลองทั่วๆ ไปมันก็เป็นไปอย่างเงียบๆ ภายในครอบครัว
ซึ่งจริงๆ การ “ช็อปปิ้ง” ในช่วงคริสต์มาสต์แม้ว่าตอนแรกมันจะไม่เป็นแบบทุกวันนี้ แต่มันก็ก็ขายตัวไปตามประมาณชนชั้นกลางในสังคมและกำลังซื้อของพวกเค้าซึ่งนี่มันชัดมากในอเมริกา
ซึ่งในอเมริกา มันมีสิ่งที่อังกฤษไม่มีอย่าง “เทศกาลขอบคุณพระเจ้า” ที่จะเริ่มจัดในวันพฤหัสสุดท้ายของเดือนพฤษจิกายน ซึ่งก็เป็นเทศกาลครอบครัวเหมือนกัน แต่เกิดก่อนคริสต์มาสต์เกือบ 1 เดือน โดยจริงๆ แล้วเทศกาลนี้คนอเมริกันนั้นรับจากพวกคนอเมริกันพื้นเมืองอีกที โดยมันเป็นเทศกาลเพื่อซาบซึ้งและขอบคุณผลผลิตการเกษตรที่เก็บเกี่ยวได้ในตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งพอคนคริสต์รับไป มันก็เลยเป็นการขอบคุณพระเจ้าที่ประทานผลผลิตมาให้
ในช่วงเทศกาลของคุณพระเจ้า มันก็จะมีการเดินพาเหรด ซึ่งดั้งเดิม พวกร้านค้าต่างๆ จะถือว่าจะยังเริ่ม “ขายของคริสต์มาสต์” ไม่ได้หลังพาเหรดจบ เพราะเค้าถือเป็นเทศกาลที่สำคัญระดับเดียวกัน ซึ่งทุกคนรู้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าช่วงคริสมาสต์ของจะขายดีเป็นพิเศษ ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นทุกปี และสินค้าก็ขายดีขึ้นทุกปี คนทำมาค้าขายก็เลยตั้งหน้าตั้งตาเป็นพิเศษ
ซึ่งสุดท้าย ด้วยธรรมเนียมว่าพาเหรดจะจบใน 1 อาทิตย์ เค้าก็เลยจะถือว่าวันศุกร์ถัดจากสัปดาห์ที่มี “วันขอบคุณพระเจ้า” จะเป็นวันที่เริ่มทำการโปรโมตขายของเตรียมคริสต์มาสต์ โดยวันศุกร์เปิดช่วงคริสต์มาสต์นี้ เป็นที่รู้จักกันในนาม Black Friday ซึ่งในอเมริกา มันคือวันที่ร้านค้ามักจะทำยอดขายมากที่สุดของปี ซึ่งพอมายุคดิจิทัลมันก็เลยมีการเพิ่ม Cyber Monday เพื่อสนับสนุนให้คนซื้อของออนไลน์เป็นวันจันทร์ถัดจาก Black Friday โดยมันเริ่มจากเว็บ Shop.org ในปี 2005
และทั้งนี้เทศกาลพวกนี้ก็คึกคักมาก ภาคธุรกิจหลายๆ อย่างอยากเอาโน่นนี่มาแจมกัน โดยสิ่งหนึ่งที่เป็น “ตำนาน” เลยก็คือการใส่ “ซานตาคลอส” หน้าตาแบบที่เราเห็นทุกวันนี้ที่เป็นชายแก่ท้วมเคราขาวดูใจดีใส่ชุดสีแดง ซึ่งทั้งหมด คือผลผลิตของการตลาดของ Coca Cola ในทศวรรษ 1930 โดย Coca Cola ก็ภูมิใจเรื่องนี้ระดับเขียนไว้บนเว็บไซต์ตัวเองเลยว่า ก่อนที่ Coca Cola จะ “สร้าง” ซานตาคลอสหน้าตาแบบนี้ ซานตาคลอสเคยเป็นชายแก่ผอมสูงท่าทางน่ากลัว” ด้วยซ้ำ
ก็เรียกกันได้ว่า ณ กลางๆ ศตวรรษที่ 20 ตอนที่สหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นมหาอำนาจช่วงสงครามเย็น องค์ประกอบของ Festive Season มากันครบแล้ว การช็อปปิ้งกระหน่ำ ต้นคริสมาสต์ ซานตาคลอสใจดี แต่สิ่งที่ยังมาไม่ครบก็คือ “ตัวเชื่อม” ระหว่าง “วันขอบคุณพระเจ้า” กับ “เทศกาลคริสต์มาสต์” ซึ่งก็อย่างที่ว่า มันห่างกันเกือบเดือน
สิ่งที่เอามาเชื่อมก็คือ เทศกาลฮานุก้า (Hanukkah) ของคนยิว ที่คนยิวฉลองการฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งแต่ละปีวันจะไม่เหมือนกัน แต่มันจะอยู่ช่วงๆ กลางเดือนธันวาคมของทุกปี หรือพูดง่ายๆ คือมันจะเป็นเทศกาลยาวที่คั่นระหว่างเทศกาลขอบคุณพระเจ้า
และนี่ก็เลยทำให้องค์ประกอบของ Festive Season ครบ และทำให้ฉลองกันได้ยาวๆ นับแต่ปลายพฤจิกายน จนถึงต้นมกราคมกันเลย และก็แน่นอน ที่อเมริกาก็จริงจังกับเทศกาลนี้มาก จนมันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “หนังคริสมาสต์” หรือ “อัลบั้มคริสมาสต์” ที่เอาไว้เปิดในเทศกาลนี้กันเลย ซึ่งประเทศที่ไม่ได้ฉลองกันระดับอเมริกาก็คงจะเข้าใจได้ยากว่าทำไมมันถึงสำคัญขนาดนี้
ทั้งนี้ ที่เล่ามาก็จะเห็นว่าที่ Festive Season เป็นอย่างทุกวันนี้ มันเกิดจากการค่อยๆ เปลี่ยนแปลง “วันสำคัญทางศาสนา” ไปทีละเล็กละน้อย และในที่สุด คนมันก็ไม่ได้เชีื่อมโยงเทศกาลนี้กับศาสนาอีกแล้ว และในยุคที่คนห่างจากครอบครัวมากขึ้น มันก็แทบจะเป็นเทศกาลขายของไปอย่างสมบูรณ์
เขียนโดย อนาธิป จักรกลานุวัตร
ที่มา
https://www.bbc.co.uk/victorianchristmas/history.shtml
https://en.wikipedia.org/wiki/Christmas_and_holiday_season
https://en.wikipedia.org/wiki/Hanukkah