ในช่วงที่ผ่านมานโยบายจากรัฐบาลใหม่เรียกได้ว่าเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ตลอด นอกจากเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่ยังงง ๆ ว่าบิดไม่บิดกันอยู่แล้ว
ยังมีเรื่องของนโยบายขยายเวลาเปิดให้บริการสถานบันเทิงจากตี 2 ถึงตี 4 ที่มุ่งหวังสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวมากขึ้น
รวมถึงอาจกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจแวดล้อม ซึ่งแม่ว่านโยบายจะดูดีมีประโยชน์ แต่ในรายละเอียดแล้ว ก็ยังทำให้ประชาชนสงสัยไม่น้อยว่า งานนี้จะกระตุ้นการท่องเที่ยว กระจายรายได้ “แบบใดห์”
จริง ๆ นโยบายนี้ถูกพูดคุยกันมานานแล้ว ภายใต้การเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ซึ่งก็เคยโดนเบรกมาหลายครั้งจากความไม่พร้อมหลายอย่าง แม้ช่วงต้นปีจะมีเล็งไว้แล้วว่าอาจนำร่องด้วยภูเก็ตก่อน แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มสักที
จนหลังจากที่ได้เลือกตั้งกันและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อย ก็น่าจะเป็นจังหวะดีในการพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
จนล่าสุดรัฐบาลก็ออกมาแถลงชัดเจนว่าสิ้นปีนี้เอาแน่
โดยจะเริ่มนำร่องด้วย 4 จังหวัดท่องเที่ยวอย่าง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี และภูเก็ต
โดยร้านที่ขยายเวลาเปิดได้จะต้องอยู่ในโซนนิ่งที่กำหนดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย คาดหวังผลลัพธ์ว่าสามารถเพิ่มรายได้ให้ประชาชน และกระตุ้นการท่องเที่ยวให้คึกคักได้ เริ่มวันที่ 15 ธันวาคมนี้
เหมือนจะคืบหน้าราบรื่นดี แต่มันดันมีประเด็นตรงที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เปิดได้ถึงตี 4 ก็จริงแต่ หลังตี 2 เนี่ย เล่นดนตรีไม่ได้ ขายเหล้าไม่ได้นะ เน้นนั่งชิลดีกว่า
ให้เหตุผลว่าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการจ้างงานและสินค้าบริการอื่น ๆ มากกว่า บอกว่าเพราะพฤติกรรมนักดื่มไทยไม่เน้นดื่มชิล เน้นเมา ซึ่งเครือข่ายงดเหล้าคงไม่ถูกใจสิ่งนี้ และแน่นอนว่ารถทัวร์ลงยับในประเด็นที่ว่า “ให้เปิดต่อแต่ไม่ให้ขาย จะให้เปิดทำไม” เพราะประชาชนบางส่วนมองว่าเปิดไปก็นั่งเหงาอยู่ดี
แม้แนวทางจะถูกจิตแต่แอบขัดใจ แต่อย่างไรเร็ว ๆ นี้เดี๋ยวเขาก็ทำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราลองวิเคราะห์ดูกันดีกว่าว่าพอทำจริงโครงการนี้จะมีได้มีเสียอย่างไรบ้าง
ตามความคาดหวังของรัฐบางคือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หวังให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น รวมถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องด้วย
สถานบริการยามค่ำคืนจัดว่าเป็นหนึ่งประเภทสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของไทย ซึ่งแน่นอนว่าในปัจจุบันการเปิดปิดสถานบริการในไทยยังไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการกินดื่มของนักท่องเที่ยว มาดึกหน่อย แต่มักจะดวดกันยันหว่าง ถ้าปลดล็อกตรงนี้ให้เปิดนานขึ้นได้ ก็จะตอบโจทย์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวมากขึ้นและส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวแน่นอน
คนที่ได้ประโยชน์โดยตรงน่ะมันแน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นผู้ประกอบการ ที่จะสามารถให้บริการลูกค้าได้นานขึ้น ก็มีโอกาสที่จะมีรายได้มากขึ้นด้วย ซึ่งจากเดิมร้านในโซนนิ่งที่เปิดถึงตี 2 ก็ต้องทยอยเปิดไฟไล่ลูกค้ากลับ ก็จะเปิดต่อได้อย่างสบายใจ
หรือร้านไหนที่คอยจ่ายส่วยดีลกับตำรวจในพื้นที่เพื่อเปิดเกินเวลาไว้ ก็จะไม่ต้องจ่ายใต้โต๊ะอีกต่อไป แม้ในอนาคตไม่แน่ว่าจะต้องมาเสียเป็นภาษีเพิ่มหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็ถือว่าแก้ปัญหาเทา ๆ ไปได้หน่อย
ในด้านของการจ้างงานเอง แม้ว่าจะเพิ่มว่าแค่ 2 ชั่วโมง แต่พนักงานในสถานบริการต่าง ๆ จะได้ค่าตอบแทนรายชั่วโมงเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ก็เป็นโอกาสดีในการมีรายได้สูงขึ้น แม้จะไม่ได้มีการจ้างคนใหม่ ๆ แต่สำหรับบางที่ก็อาจมีเพิ่มเป็นกะพิเศษได้ วัยรุ่นหนุ่มสาวไทยจำนวนมากเลือกทำงานในสถานบันเทิงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรือพาร์ตไทม์
ในต่างประเทศ อย่างสหราชอาณาจักร หรือสหรัฐอเมริกา งานในผับบาร์ก็ถือว่าเป็นที่นิยมของหนุ่มสาวอย่างมาก และปีนี้สหรัฐอเมริกาเคยมีการพิจาราอนุญาตให้วัยรุ่น 16-17 ปี ทำงานในสถานบันเทิงได้ด้วย
อีกทั้งในปี 2016 เคยมีการสำรวจที่พบว่าธุรกิจกลางคืนในสหรัฐสร้างงานเกือบ 3 แสนตำแหน่ง คิดเป็นรายได้กว่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญ นั่นชี้ให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วธุรกิจกลางคืนเหล่านี้สำคัญกับการจ้างงานมากขนาดไหน
รวมถึงธุรกิจบริการอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศน์ของการเที่ยวกลางคืน อย่างร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารในย่านสถานบันเทิง ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย เพราะพวกเขาก็จะมีเวลาที่สามารถค้าขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างเช่นร้านข้าว ร้านสตรีตฟู้ดแถว RCA หรือข้าวสาร ก็เปิดรอลูกค้าสถานบันเทิงที่จะออกมาหาอะไรกินหลังดื่มได้ยันเช้า
หรือจะเป็นกรณีของ Mama Station ที่เตรียมเปิดสาขาที่ RCA ปลายปีนี้ก็คงได้ประโยชน์เต็ม ๆ เพราะคนชอบกินมาม่าตอนเมาให้มันสร่าง แถมแก้หิวได้ดี ซึ่งเขาบอกแล้วว่าจะเปิดยาวยันผับปิด และถ้าผับปิดช้าลง เขาก็อาจจะได้เปิดนานขึ้นไปด้วยนั่นแหละ
ในฝั่งของบริการอย่างรถรับส่ง ซึ่งเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกลางคืนมานานก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน ทั้งจากปัจจัยเรื่องของการดื่มไม่ขับ ทำให้การใช้บริการแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หรือรถรับส่งอื่น ๆ อย่าง Grab หรือ Bolt แทบจะเป็นตัวเลือกหลักในการเดินทางของเหล่านักดื่ม
ส่วนอีกปัจจัยคือ กลางคืนรถรับส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ BTS หรือ MRT เขาไม่วิ่งกันแล้ว ทำให้ตัวเลือกที่ว่าไปอาจไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางเดียวแล้วด้วย ส่งผลให้แท็กซี่มักทำยอดได้ดีในช่วงกลางคืนอยู่เสมอ
และจากการสำรวจของ Uber ในแคนาดาเมื่อปี 2022 ก็พบว่าช่วงเวลาที่คนเรียกใช้บริการส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเวลาตี 2-4 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาปิดของไนต์คลับที่นั่น ซึ่งก็เปิดกันนานสุดประมาณตี 4 นี่แหละ และรับบิลล์สุดท้ายประมาณตี 2 -3 คล้าย ๆ ที่ไทยกำลังจะปรับไปใช้ นั่นแปลว่าถ้าเปิดได้ดึกขนาดนั้น ยังไงบริการนี้ก็ได้ประโยชน์จริง
แต่แม้ในภาพรวมแล้วเราจะเห็นว่ามันเกิดประโยชน์จริง ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเลย ทั้งเรื่องยาเสพติด เมาแล้วขับ ความปลอดภัย และผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคุมเข้ม
สถิติที่น่ากังวลใจคือ มีการวิจัยในนอร์เวย์พบว่าทุก 1 ชั่วโมงที่บาร์ขายแอลกอฮอล์เพิ่ม ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นถึง 16% แม้ว่ารัฐจะบอกว่าเวลาขายเหล้าน่ะเท่าเดิม เพิ่มเติมคือชั่วโมงเปิด แต่ของแบบนี้มีเหลี่ยมกันได้ ซื้อแล้วฝากไว้ก็ยังเป็นวิธีการยอดฮิตที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นนี่จึงยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย
เมาแล้วขับคือปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ และมีการเพิ่มโทษก็ไม่ได้ทำให้คนเจ็บตายน้อยลงนัก ปี 2565 มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 14,000 ราย บาดเจ็บสะสมเกือบ 9 แสนราย ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ หากจะทำจริง มาตรการแก้ไขต้องเข้มพอ และตรงจุดมากขึ้น
ที่สำคัญคือเรื่องของความปลอดภัย เพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบ ‘ฟูลมูน’ หรือ ‘เมาเทนบี’ ขึ้นอีกครั้ง หลาย ๆ ร้านควรมีมาตรการความปลอดภัยที่ดีมากพอจะเปิดยาวรองรับลูกค้ามากขึ้น ไม่ละเลยเพียงเพื่อผลประโยชน์ อย่างกรณีของไอร์แลนด์ที่จะมีการขยายเวลาเปิดให้บริการของสถานบันเทิงในปีหน้า ก็มีเงื่อนไขชัดเจนเรื่องของมาตรการความปลอดภัย ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องเปิดต่อ
นอกจากนี้ปัญหาเรื่องของการรบกวนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ เพราะถ้ายิ่งดึก แปลว่ายิ่งดังนาน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลงต่าง ๆ และโหวกเหวกโวยวาย ในการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงของไอร์แลนด์จะมีการเพิ่มงบถึง 2 ล้านยูโรเพื่อติดตั้งระบบเก็บเสียงให้กับสถานบันเทิงต่าง ๆ ตามแนวทางที่เบอร์ลินเคยทำมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอาจต้องศึกษาแนวทางที่เหมาะสมกับงบประมาณและนโยบาย
โดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าตัวนโยบายก็ค่อนข้างน่าสนใจ และเห็นได้ถึงประโยชน์ที่จะตามมาอย่างชัดเจนทั้งเ แต่ที่สำคัญคือรัฐจะต้องไม่ละเลยปัญหาต่าง ๆ ที่อาจตามมาด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบหนักจนไม่คุ้มกัน ส่วนเมื่อนโยบายได้ถูกใช้จริงในเดือนหน้าจะเป็นอย่างไร ได้ผลดีอย่างที่คิดไหม ต้องรอติดตามดูกันสิ้นปีนี้ครับ