ช่วง2-3ปีมานี้ตลาดรถ EV เติบโตเร็วหลายเท่าตัว การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของ EV ในหลายประเทศเริ่มคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงไทยเองด้วย และสำหรับบางประเทศอย่างนอร์เวย์ ก็นำโด่ง เพราะรถ EV กินส่วนแบ่งตลาดรถยนต์มากถึง 82.4% มากกว่ารถสันดาปแบบดั้งเดิมแล้ว
แต่สำหรับประเทศที่ยังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอย่างไทย มักเกิดเป็นข้อโต้แย้งในสังคมที่ยังคงปะปนด้วยทั้งรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้า ว่า “การเปลี่ยนผ่านสู่ EV มาเร็วไปหรือไม่” หรือแม้แต่ “EV จะกลายเป็น New Normal หรือสุดท้ายจะกลายเป็นแค่ Trend”
ในบทความนี้ Connect the Dots จะพาไปย้อนดูกรณีศึกษาแบบเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ระหว่าง “รถม้า” และ “รถน้ำมัน” ให้คุณได้ลองเทียบดูกับการเปลี่ยนผ่านสู่ “EV” ในปัจจุบัน
ในช่วงศตวรรษที่ 19 มนุษย์เรายังสัญจรด้วยการเดิน เท้ารถไฟ ม้า และ “รถม้า” ซึ่งบ้านไหนมีใช้ก็คือมีกินในระดับหนึ่งแล้ว ถือเป็นยานพาหนะที่แพร่หลายในหมู่คนรวย ขับเคลื่อนด้วยการให้อาหาร ให้น้ำ และมีคอกให้อยู่
ซึ่งในตอนนั้นก็คิดกันว่าสะดวกมาก ๆ แล้ว แต่ไอ้ที่ว่าสะดวกนี่จริง ๆ ก็ยังไม่ได้สะดวกนัก เพราะถนนตอนนั้นยังเป็นลูกรังและดินเปียก ๆ อยู่เลย ทำให้รถม้าสมัยนั้น (รวมถึงรถยนต์รุ่นแรก ๆ ) ต้องมีล้อใหญ่ เพื่อยกที่นั่งโดยสารให้สูงจากพื้น
และการใช้ม้าก็เป็นภาระไม่น้อย เพราะต้องจ้างคนดูแล ฝึกให้พร้อมใช้งาน และต้องใช้เงินราว ๆ 200$ ต่อปีเป็นค่าอาหาร ทั้งยังสร้างของเสียไม่น้อยกว่าปศุสัตว์อื่น ๆ เลย อึถึงวันละ 45 ปอนด์ พร้อมทั้งฉี่อีกหนึ่งแกลลอน อีกทั้งถนนในบ้านเมืองก็ไม่ได้สะอาดตา เพราะม้าจะเดินไปอึไปทั่ว และเด็ก ๆ ในสมัยนั้นก็มักจะมีงานโหด ๆ อย่างการทำความสะอาดถนน หรือที่เรียกว่า “Dirt Boys”
ใช้ต้นทุนในการเลี้ยงสูง ถนนสกปรก ส่งกลิ่นเหม็น และอาจเกิดโรคได้ ปัญหามากมายจากการใช้ม้าทำให้เมืองต่าง ๆ เริ่มมองหาวิธีแก้ไข
ในช่วงเดียวกัน ตลอดศตวรรษที่ 19 นักประดิษฐ์และวิศวกรหลายคนพยายามคิดค้นรถยนต์ต้นแบบขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งจากพลังงานไอน้ำยอดนิยมตอนนั้น เครื่องยนต์ใช้น้ำมัน และแม้แต่รถยนต์ไฟฟ้าด้วย
ความพยายามเหล่านั้นใช่ว่าจะไม่เกิดผล เคยทำสำเร็จจนมีคนเอาออกมาวิ่งบนถนนได้อยู่เป็นพัก ๆ และเคยมีรถแท็กซี่ไฟฟ้าวิ่งกันให้ว่อนในลอนดอนช่วงปี 1887 ด้วยซ้ำ แต่รถเหล่านี้ก็ต้องพบกับข้อเสียมากมายที่สุดท้ายคนมองว่าไม่ตอบโจทย์ อย่างรถไอน้ำก็มีน้ำหนักมาก วิ่งได้ไม่ทน ต้องอุ่นหม้อต้มก่อนวิ่งตลอด ส่วนรถไฟฟ้าก็ยังวิ่งได้ไม่ไกล และชาร์จนานกว่าวิ่ง (คล้ายทุกวันนี้แหละ) และหลายพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ทำให้สุดท้ายก็ไปไม่รอด
จนกระทั่งรถยนต์เครื่องน้ำมันถูกคิดค้นขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยมีต้นแบบเครื่องยนต์มาจากมอเตอร์ไซค์อีกที ซึ่งรอบนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเวิร์กเลย และยังมีข้อเสียมากมายเหมือนกัน
รถยนต์น้ำมันยุคแรก ๆ ต้องสตาร์ตมือ หมุนเพลาเครื่องอัดผสมอากาศและเชื้อเพลิงจนจุดระเบิดให้เครื่องเริ่มทำงาน หมุนช้าหรือเร็วผิดจังหวะไปหน่อยนึงเครื่องอาจเด้งสวนจนนิ้วหัก ข้อมือหัก แขนหัก หรือบาดเจ็บอย่างอื่นด้วยก็ได้ ก่อนที่ปุ่มสตาร์ตไฟฟ้าจะเริ่มใช้ในปี 1911
อีกทั้งการใช้รถยนต์ยังส่งเสียงดังและปล่อยควันฟุ้งเหม็นไม่แพ้ขี้ม้า การใช้รถยนต์น้ำมันร่วมถนนเดียวกันกับคนใช้รถม้ายังรบกวนทำให้ม้าเสียการควบคุมได้ง่ายอีกด้วย
นอกจากนี้ปัญหาสำคัญของรถยนต์คือ โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่รองรับ ในช่วงประมาณ 10 ปีแรกของรถยนต์ยังไม่มีปั๊มน้ำมันแพร่หลาย
แต่ปัญหาที่แลกมากับความสะดวกสบายยังไงก็ถือว่าคุ้ม แม้คนบางส่วน (หรืออาจจะส่วนใหญ่) จะไม่เห็นด้วย รถยนต์ยังคงค่อย ๆ แพร่หลายขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านผู้คนมากมายล้อเลียนคนใช้รถยนต์ ตะโกนใส่ว่า “ไปหาม้ามาลากซะ!” หรือถึงขั้นเหยียด มีการ์ตูนที่ล้อคนใช้รถยนต์อย่าง “Reggy’s Christmas Present” ที่มีคนขับรถมาฝ่าข้าวของ คนและสัตว์กระจัดกระจาย รวมถึงการ์ตูนที่ตัวละครให้คำแนะนำกันว่า “ถ้าเผลอขับรถทับเด็กให้รีบหนีทันที” จนรถยนต์ถูกมองเป็นปีศาจร้าย และมีข่าวอุบัติเหตุจากรถยนต์เต็มไปหมด
แต่ปัญหาหลายอย่างจากการใช้รถยนต์ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ เริ่มมีกฎหมายควบคุมความเร็ว และกฎจราจรหลายอย่างออกมา มีการคิดค้นป้ายสัญญาณ และรวมถึงการเริ่มพัฒนาไฟเลี้ยว ทำให้รถยนต์ยังได้ไปต่อ
บวกกับการค้นพบแหล่งน้ำมันใหญ่ในเท็กซัสช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็ทำให้น้ำมันราคาถูก (ในตอนนั้นนะ) และประมาณปี 1905 ที่รถยนต์วิ่งว่อนเต็มไปหมด ก็เริ่มมีปั๊มน้ำมันผุดขึ้นตามมาด้วย และน้ำมันยังหาซื้อง่ายมากตามร้านค้าทั่วไป อีกทั้งผลจากการเริ่มปูถนนในสหรัฐเมื่อปี 1870 ทำให้ถนนหนทางต่าง ๆ สะดวกพร้อมวิ่งมากขึ้น จึงทำให้โครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ค่อนข้างพร้อม และต่อยอดได้ไม่ยาก
บรรดานักลงทุนเจ้าของธุรกิจต่าง ๆ ก็เริ่มเห็นว่า รถยนต์มาแน่ พากันก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ขึ้นมา ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ การเกิดขึ้นของ “Ford Model T” ในปี 1908 เป็นรุ่นที่คุณภาพดี ราคาเข้าถึงง่าย คนจึงหันมาใช้รถยนต์อย่างคับคั่ง และการตอกฝาโลงของรถม้า คือ การสร้าง “แนวประกอบชิ้นส่วน” หรือ “The Assembly Line” ในปี 1913 ที่ทำให้ Ford ผลิตรถยนต์จำนวนมากได้ในเวลาที่รวดเร็ว สอดรับกับความนิยมรถยนต์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในที่สุดการใช้รถม้าในสหรัฐอเมริกาก็หมดไปในปี 1917 แต่ในบางส่วนงานอย่างการขนส่งสินค้าก็ยังนิยมใช้เกวียนอยู่ จนสุดท้ายมีการคิดค้นรถบรรทุกขึ้นมาได้และแทนที่ “การใช้ม้า” ด้วย “แรงม้า” อย่างสมบูรณ์ในปี 1920
ความนิยมรถยนต์ทำให้กลุ่มอาชีพที่เกี่ยวกับม้า ทั้งเจ้าของคอกม้า คนจัดหาอาหาร คนเลี้ยง คนฝึกได้รับผลกระทบหนักกันถ้วนหน้า และแน่นอนว่าผู้ผลิตรถยนต์ และน้ำมันนั้นได้ประโยชน์เต็ม ๆ เติบโตมหาศาลจากการเปลี่ยนผ่านนี้
คำนวณดูคร่าว ๆ จะเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านจากรถม้าสู่รถยนต์เครื่องสันดาปใช้เวลานานเกือบ 30 ปี แต่มันก็วางรากฐานให้เราก็ใช้มายาวอีกร่วม 100 ปีเลย
ดังนั้นหันมามองที่รถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่การหันมาเริ่มใช้รถ EV บนท้องถนนอย่างจริงจัง แม้มันแค่ไม่กี่ปี แต่กลับได้รับความนิยมสูงขนาดมาก และการเริ่มในยุคที่เทคโนโลยีค่อนข้างพร้อม ทำให้ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านอยู่ไม่ไกลแล้ว
ใครยังยื้อหรือต่อต้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานใหม่ ก็อาจเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้ไปในวันที่การเปลี่ยนผ่านสมบูรณ์
ส่วนใครที่แซะ แซว หรือดูถูกคนใช้รถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเรื่อง วิ่งไม่ไกล ไปต่างจังหวัดไม่ถึง ชาร์จนาน เสียเวลา เสียงไม่เท่ รถของเล่น ฯลฯ ถ้าได้รู้เรื่องนี้แล้วล่ะก็ลองคิดดูอีกทีดีกว่า เพราะหลายปัญหาของรถ EV กำลังถูกแก้ไขอยู่อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างจุดชาร์จที่เพิ่มขึ้นมากในเวลาไม่กี่ปี ระยะทางของรถที่วิ่งได้ไกลขึ้นไม่ต่างจากรถน้ำมัน การคิดค้นระบบชาร์จที่เร็วได้ทันเติมน้ำมันแต่ปลอดภัย และอีกหลากหลายอย่าง
ชี้ให้เห็นถึงอนาคตที่รถยนต์กำลังมุ่งหน้าไป และยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนผ่านจาก “น้ำมัน” สู่ “ไฟฟ้า”