#เศรษฐศาสตร์มาหาภาพ ทำเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้เห็นภาพเข้าใจง่าย
.
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมควักกระเป๋าจ่ายค่าไฟในราคาหน่วยละ 5.5 บาท
.
ตัวเลขนี้มาจากค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 4.5 บาท และค่าไฟฟ้าผันแปรประมาณ 1 บาท หากดูเผินๆ ค่าไฟฟ้าแพงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะตัวเลขดังกล่าวขยับขึ้นลงตามต้นทุนเชื้อเพลิงไม่ว่าจะเป็นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่ขยับขึ้นเนื่องจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน
.
แต่หาก ‘แกะกล่อง’ ดูรายละเอียดข้างในเราจะเห็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการของภาครัฐ การออกแบบสัญญาซื้อพลังงานจากภาคเอกชน รวมถึงการเก็บกำไรเข้ากระเป๋าของรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่
เมื่อรัฐคาดการณ์พลาด
.
การจัดการพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนล่วงหน้าระดับทศวรรษเพราะโรงไฟฟ้าต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาลและไม่สามารถก่อสร้างและเดินเครื่องในชั่วข้ามคืน เราจึงต้องอาศัยการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าเพื่อวางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว สำหรับประเทศไทย เราจะอิงกับแผนกำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) หรือที่คุ้นหูกันในชื่อแผนพีดีพี โดยฉบับปัจจุบันจะครอบคลุมตั้งแต่ พ.ศ. 2561 – 2580
.
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์อนาคตไม่ใช่เรื่องง่ายและตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีล้นเหลือเมื่อเทียบกับความต้องการก็สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่ารัฐบาลคาดการณ์ผิดไปไกล
.
หากเราต้องการให้ระบบพลังงานมีความมั่นคงแข็งแรง กำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบจะต้องมีมากกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละปี โดยประเทศไทยกำหนดว่าควรมีเกณฑ์กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเท่ากับ 15 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าถ้าเราใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 10,000 เมกะวัตต์ รัฐก็ควรจัดการให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบอย่างน้อย 11,500 เมกะวัตต์นั่นเอง
.
ตัวเลขล่าสุดของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของไทยในปีนี้อยู่ที่ 34,826 เมกะวัตต์ หากคิดตามหลักการข้างต้นประเทศไทยก็ควรเตรียมกำลังการผลิตไฟฟ้าไว้อย่างน้อย 40,000 เมกะวัตต์ แต่ตัวเลขจริงจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยระบุว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยนั้นสูงถึงร่วม 50,000 เมกะวัตต์!
.
ตัวเลขดังกล่าวการันตีว่าประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานและมีกระแสไฟฟ้ารองรับการเติบโตในระดับที่เหลือเฟือ อย่างไรก็ตาม ทุกเมกะวัตต์ที่มีกำลังการผลิตล้นเกินก็เท่ากับค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องช่วยสนับสนุนซึ่งสุดท้ายก็ถูกผลักภาระมาปรากฎอยู่ในใบแจ้งค่าไฟฟ้าของพวกเราทุกคน
.
ภาระดังกล่าวสะท้อนอยู่ใน “ค่าไฟฟ้าฐาน” ซึ่งคำนวณจากต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและ “ค่าการผลิต” จากสมมติฐานเรื่องความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง และผลตอบแทนที่ต้องการ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าต่อให้โรงไฟฟ้าไม่เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า รัฐบาลไทยก็ต้องรับผิดชอบ “ค่าความพร้อมจ่าย” ตามที่ตกลงกันไว้ ตัวเลขดังกล่าวตกอยู่ที่ราวเดือนละเจ็ดถึงแปดพันล้านบาทเลยทีเดียว
.
ที่สำคัญ เงินก้อนดังกล่าวยังไปเข้ากระเป๋าของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในมือของเอกชน
สัดส่วนการซื้อพลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ข้อมูลจาก กฟผ.
.
‘ช่องว่างในสัญญาผลิตพลังงานภาคเอกชน’
เนื่องจากเอกชนคือผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเอกชนเองก็มีส่วนต่อปรากฎการณ์ดังกล่าว โดยในตลาดการผลิตไฟฟ้าจะแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองกลุ่มคือโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ หรือ IPP (Independent Power Producer หรือ IPP) ซึ่งในกลุ่มนี้จะรวมถึงบริษัทที่ กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือ SPP (Small Power Producer)
.
ที่ผ่านมา กฟผ. พยายามจูงใจให้เกิดผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยโดยการทำสัญญาระยะยาวและรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่แพงกว่า แม้ว่าเป้าหมายหลักของกลไก SPP คือการเอื้อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แต่ความเป็นจริงแล้วโรงไฟฟ้าเหล่านั้นแทบทั้งหมดใช้แก๊สธรรมชาติ ที่น่าขันขื่นคือโรงไฟฟ้า SPP ที่รัฐซื้อไฟในราคาแพงกว่ากลับกลายเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ก่อตั้งโดยบริษัทใหญ่ซึ่งครอบครอง IPP เช่นกัน
.
หากสรุปง่ายๆ คือตลาด SPP ที่ตั้งใจว่าจะเกื้อหนุนพลังงานหมุนเวียนของรายย่อยกลายเป็นตลาดโกยกำไรของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
โครงสร้างดังกล่าวทำให้ประชาชนชาวไทยต้องจำใจจ่ายค่าไฟแพงไปอีกนาน ยิ่งหากพิจารณาตัวเลขค่าซื้อไฟฟ้าจาก IPP และ SPP ไทยก็จะเห็นถึงความแปลกแปร่ง เพราะกลายเป็นว่าทั้ง IPP และ SPP ต่างผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าระบบในปริมาณใกล้เคียงกัน แต่เราต้องจ่ายให้กับกลุ่ม SPP แพงกว่าราว 15 เปอร์เซ็นต์ ผนวกกับค่าความพร้อมจ่ายที่ต้องจ่ายให้ IPP ที่ไม่ได้เดินเครื่องก็ยิ่งทับถมให้ค่าไฟฟ้าของเราแพงขึ้นไปอีก
.
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การเห็นนายทุนพลังงานขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทยก็อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ
.
‘อำนาจเหนือตลาดของรัฐวิสาหกิจพลังงาน’
ประเด็นสุดท้ายที่ซ่อนอยู่ในตัวเลขค่าไฟฟ้าของเราคืออำนาจเหนือตลาดของรัฐวิสาหกิจพลังงานซึ่งก็คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เริ่มจากการตั้งราคาแก๊สธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเราสามารถขายแก๊สธรรมชาตินี้ในราคาตลาดแล้วนำส่วนต่างมาอุดหนุนราคาแก๊สธรรมชาติคุณภาพที่เหมาะกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระของประชาชน
.
ประการที่สองคืออำนาจผูกขาดท่อส่งแก๊สโดย ปตท. ที่รัฐรับประกันผลตอบแทนจากการลงทุน (internal rate of return) ในอัตราที่สูงถึง 12.5 ถึง 18 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งปัจจุบันโรงแยกแก๊สยังจ่ายค่าผ่านท่อในอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าทั้งที่ปริมาณและลักษณะของการใช้บริการแทบไม่แตกต่างกัน นั่นหมายความว่าผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายแพงกว่าอย่างไม่สมเหตุสมผล ยังไม่นับการเรียกเก็บอัตรากำไรที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะแก๊สธรรมชาติที่จำหน่ายให้กับ SPP
.
เราคงทราบกันดีกว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ปตท. คือรัฐบาลไทย นั่นหมายความว่าผลกำไรมหาศาลหลังจากถูกแบ่งปันเป็นผลตอบแทนกรรม โบนัสผู้บริหาร และสวัสดิการพนักงานแล้วก็จะหลงเหลือกลับเข้ามาคืนสู่กระเป๋าของรัฐบาลสำหรับใช้จ่ายตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ปตท. ก็เป็นบริษัทมหาชนที่มีเอกชนทั้งรายใหญ่รายใหญ่ถือหุ้นเกือบครึ่งหนึ่ง การที่รัฐมอบอำนาจเหนือตลาดมหาศาลและการันตีผลตอบแทนจึงไม่ต่างจากการ ‘อุดหนุน’ เหล่าผู้ถือหุ้น ปตท. แบบทางอ้อม
.
ปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดพลังงานไทยที่สั่งสมมาอย่างยาวนานคงไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววันเพราะติดพันเรื่องสัญญาที่ลงนามไปแล้วในอดีต แต่ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลใหม่จะสะสางปัญหาและสร้างความเป็นธรรมในตลาดดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนคนไทยใช้ไฟฟ้าในราคาที่ควรจะเป็น ไม่ใช่จ่ายราคาแพงเพื่อถ่ายโอนเงินเข้าสู่กระเป๋านายทุนอย่างเช่นในปัจจุบัน
.
ที่มา
ความไม่เป็นธรรมของค่าไฟ
ค่าไฟฟ้า : เส้นทางค่าไฟแพง ผ่าโครงสร้างบิลค่าไฟ ใครเป็นใครในผู้ได้ประโยชน์
ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (1) เราจ่ายค่าอะไรบ้าง?
ชำแหละค่าไฟฟ้า 4.72 บาท/หน่วย (2) สัญญาทาส – ค่าพร้อมจ่าย ใครได้บ้าง?
เขียนโดย :รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
บัณฑิตด้านการเงินและการบัญชีที่เคยผ่านงานทั้งมูลนิธิ สตาร์ตอัพ ไปจนถึงธนาคารข้ามชาติ ปัจจุบันใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ ทำอาหาร และวิ่งตามลูกชายวัยกำลังซน