หากสถานการณ์เศรษฐกิจปีที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้แก่ผู้คนไม่น้อย ต้องบอกว่าปีนี้เราอาจจะต้องเผชิญกับความยากลำบากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หรืออาจจะสาหัสกว่า โดยเฉพาะเมื่อปีตัวแปรสำคัญอย่าง “สงครามการค้า” ที่สหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังอย่างเปิดเผย ชนิดที่ว่าการจุดชนวนครั้งนี้มิได้เกรงกลัวถึงผลกระทบ หรือภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกแต่อย่างใด
การประกาศนโยบาย อเมริกันเฟิร์ส ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แม้ว่าจะเคยสร้างคะแนนเสียงในหมู่คนอเมริกัน เพราะเป็นนโยบายที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่คนอเมริกัน และเป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ผลกระทบที่ตามมาคือ เสถียรภาพทางการค้าที่ถูกสั่นคลอน เมื่อสเต็ปต่อมาของนโยบายทรัมป์คือ การประกาศขึ้นภาษีการค้ากับประเทศคู่ค้าหลายประเทศ เช่น จีน แคนาดา เม็กซิโก
ความเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ ยึดโยงอยู่กับคำว่าผู้นำเศรษฐกิจโลก แต่เบื้องลึกเบื้องหลังของสงครามการค้า โดยเฉพาะการตั้งกำแพงภาษี อาจไม่ใช่เพราะนโยบายอเมริกันเฟิร์สเท่านั้น
แท้จริงแล้ว ข้อมูลที่น่าสนใจและน่าตกใจพบว่า สหรัฐฯ มีหนี้สินมหาศาลกับประเทศในซีกโลกตะวันออก อย่างประเทศญี่ปุ่น และจีน ที่เป็นเจ้าหนี้รายที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ด้วยมูลค่าหนี้ที่สหรัฐฯ มีต่อญี่ปุ่นสูงถึง 1,125.9 พันล้านเหรียญดอลลาร์ มีหนี้สินต่อจีน 784.3 พันล้านดอลลาร์ จากมูลค่าการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
ดอลลาร์ สกุลเงินที่ถูกเรียกได้ว่าแข็งแกร่งที่สุดในเศรษฐกิจโลก ทว่า ภาวะการณ์ปัจจุบัน สกุลเงินดอลลาร์ ห่างไกลจากความแข็งแกร่งพอสมควร เพราะเคยถูกลดต่ำกว่าระดับ 100 จุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความวิตกกังวลจากนักลงทุนเอง และแน่นอน ความกังวลที่ว่านั่นมาจาก “สงครามการค้า” ที่ ทรัมป์ เป็นคนเริ่มก่ออีกครั้ง
หลังการห้ำหั่นกันระหว่างสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา และจีน จากสงครามครั้งใหม่ของ ทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะภาษีนำเข้าที่สหรัฐอเมริกา ตั้งกำแพงภาษีสูงขึ้น กับสินค้าหลายรายการ ข้อมูลการค้าระหว่างทั้งสองประเทศในปี 2567 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 5.85 แสนล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 20.3 ล้านล้านบาท โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีน 4.4 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพียง 1.45 แสนล้านดอลลาร์เท่านั้น
โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ยอมลดราวาศอก ยังคงขึ้นภาษีจีนเพิ่มเป็น 125% แต่เว้นระยะ 90 วันให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ตอบโตสหรัฐฯ ด้วยมาตรการภาษี ก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ความมั่นคงของดอลลาร์ดีขึ้นมากนัก เมื่อทรัมป์ ยังคงมองว่า สหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบจากประเทศคู่ค้า
และถูกจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ เป็น 125% ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2568 และทำให้สหรัฐปรับขึ้นภาษีจีนอีก 20% เป็น 145%
การตอบโต้ของจีน ภายใต้การนำของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดี ไม่ใช่แค่การขึ้นภาษีสหรัฐฯ แต่ยังมีความพยายามที่ดำเนินมาก่อนหน้านั้น คือ การลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ หรือที่เรียกว่า De-Dollarization ด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินรูปแบบใหม่ โดยการใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง เพื่อเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการค้ากับอีก 10 ประเทศในอาเซียน และอีก 6 ประเทศในตะวันออกกลางได้ โดยไม่ต้องผ่านระบบเงินดอลลาร์ แต่ยังมีความเร็วกว่าในการทำธุรกรรม
แม้ว่า แรงสั่นสะเทือนเศรษฐกิจโลกจาก ทรัมป์ 2.0 จะสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้ประกอบการ นักลงทุน ที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือประชากรโลกที่มีความกังวลต่อราคาสินค้าที่อาจจะมีการปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนด้านภาษี และค่าขนส่ง
ความกังวลจากกำแพงภาษี อาจเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น ๆ เมื่อพิจารณาจากการเจรจาที่จะต้องหยุดชะงัก แต่ธุรกิจจำเป็นต้องดำเนินต่อไป นักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจมองหาพื้นที่ใหม่สำหรับการลงทุน เพื่อหลีกหนี้ปัญหาด้านภาษีนำเข้าครั้งนี้
นี่ทำให้ภูมิภาคเอเชีย ถูกจับตามองมากขึ้นเมื่อเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีการเติบโตด้านการค้า การลงทุนที่ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ไทย และประเทศในกลุ่ม CLMV
หากเอ่ยถึงอินเดีย ประเทศที่มีทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่น่าจับตามองในช่วงที่ผ่านมา เห็นได้จากการตบเท้าเข้าไปลงทุนของบริษัทสัญชาติอเมริกัน Google, Apple, Amazon, Tesla เป็นต้น
โดยเฉพาะปี 2567 เศรษฐกิจอินเดียมีการเติบโตมากกว่า 7% ทว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เคยตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 8% แต่ล่าสุด สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เศรษฐกิจอินเดีย มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพียง 6.4% เท่านั้นในปีงบประมาณนี้ ซึ่งนั่นจะเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด
ถึงกระนั้น หากอัตราการเติบโตจะเป็นไปตามการคาดการณ์ของ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก แต่ก็ยังเป็นการขยายตัวสูงเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ปัจจัยที่สร้างผลกระทบน่าจะมาจากความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อสูงเกินเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ 4%
แต่นั่นยังเป็นเพียงการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมองว่า อินเดีย คือพื้นที่ที่ยังมีโอกาสทางธุรกิจ และช่องว่างของการเติบโต จึงไม่น่าแปลกใจหากผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลงทุนในอินเดียเพิ่มมากขึ้น เช่น ที่ บ. เอกา โกลบอล จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร ที่เลือกเข้าไปลงทุนในอินเดีย เมื่อมองเห็นศักยภาพที่จะเป็นโอกาสสำคัญทางธุรกิจ
ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐในปี 2025 สถานบันการเงินอย่าง มอร์แกน สแตนลีย์ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวซึ่งปัจจัยต้นเหตุมาจากแนวทางนโยบายด้านภาษีของ ทรัมป์ ที่จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มแรงกดดันต่อธนาคารกลางสหรัฐฯ โดย มอร์แกน สแตนลีย์ ยังคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบีย 0.25% ในเดือนมิถุนายนปีนี้ และโกลด์แมน แซคส์ บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP สหรัฐในไตรมาส 4 ของปี 2025 ว่าจะลดลงสู่ระดับ 1.7% จากเดิมที่ระดับ 2.2% และปรับเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เป็น 20% จากเดิมที่ระดับ 15%
การคาดการณ์ความถดถอยทางเศรษฐกิจ GDP ของสหรัฐฯ จากสถาบันการเงินชื่อดัง ดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนักวิเคราะห์ไทยว่า เกมสงครามการค้า ที่สหรัฐฯ เป็นผู้เริ่มต้น แม้จะมีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ สหรัฐฯ กลับมายืนเด่นเบอร์หนึ่งของผู้นำเศรษฐกิจโลกอย่างมั่นคง น่าจะเป็นการทำลายเศรษฐกิจตัวเอง ทั้งทางตรงและทางอ้อม
สุดท้ายแล้วจุดจบของเรื่องนี้อาจจะไปหยุดที่เงินดอลลาร์ กลายเป็นเงินที่ไร้มูลค่าก็เป็นไปได้….หรือไม่