#PopPolicy อธิบายPolicy ด้วยมุมป๊อป
หนึ่งในปัญหาที่ถูกหยิบยกมาพูดเป็นระยะในสังคมไทยคือเรื่อง “ผีน้อย” หรือคนไทยที่ลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งกระแสสังคมไทยต่อผีน้อยมักจะออกไปในเชิงลบ เนื่องจากการมีอยู่ของผีน้อย ทำให้คนไทยหลายคนที่อยากเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายต้องถูกปฏิเสธ
ในบทความนี้ผู้เขียนจะไม่เน้นการถกเถียงว่าการมีอยู่ของผีน้อยส่งผลดีหรือเสียต่อเศรษฐกิจไทยและเกาหลีอย่างไรบ้าง แต่ผู้เขียนจะพยายามใช้หลักเศรษฐศาสตร์เพื่ออธิบายการมีอยู่ของผีน้อยครับ
โอกาสน้อยนิด สู่ชีวิตต่างแดน
ถ้าพูดถึงผู้อพยพ (migrants) ซึ่งละทิ้งบ้านเกิดเพื่อไปใช้ชีวิตในต่างแดน ก็จะมี 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ผู้ลี้ภัย (Refugees) ซึ่งเลือกอพยพหนีภัยความสงครามและความวุ่นวายในบ้านเกิด และอีกประเภทก็คือผู้ย้ายถิ่นทางเศรษฐกิจ (Economic Migrants) ซึ่งเลือกออกจากประเทศบ้านเกิดเพื่อไปหางานและโอกาสเศรษฐกิจที่ดีกว่าในประเทศที่รวยกว่านั่นเอง
ซึ่งผีน้อย ซึ่งส่วนใหญ่มักไปเป็นแรงงานทักษะต่ำในเกาหลีก็ถือเป็น economic migrants แบบหนึ่ง ที่หาโอกาสสร้างชีวิตที่ดีในไทยยาก เนื่องจากค่าแรงในไทยที่ไม่ได้เพิ่มในอัตราที่เท่ากับผลิตภาพแรงงาน น้อยเกินไปที่จะมีชีวิตที่ดี หรือเพียงพอที่จะตั้งต้นชีวิตได้ ทำให้คนไทยหลายคนเลือกที่จะยอมทำผิดกฎหมาย เพื่อไปตายเอาดาบหน้าที่เกาหลี
กฎหมายแรงงานเกาหลี: ช่องโหว่ใหญ่ที่ฝืนกลไกตลาด
เป็นที่รู้กันดีว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุ และได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) (มีประชากรอายุเกิน 60 ปี เกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด) ซึ่งโครงสร้างประชากรเกาหลีที่มีคนแก่มหาศาลก็ส่งผลให้แรงงานขาดแคลน หรือถ้าพูดเป็นศัพท์เศรษฐศาสตร์หน่อยก็ต้องบอกว่า อุปทาน (Supply) ของแรงงานในเกาหลีไม่เพียงพอ
แน่นอนว่ารัฐบาลเกาหลีก็ตระหนักถึงปัญหาตรงนี้ จึงได้สร้างระบบ Employer Permit System (EPS) เพื่อให้มีการนำเข้าแรงงานจากนอกประเทศอย่างถูกกฎหมาย
แต่ตัวเงื่อนไขของ EPS เอง ก็ไม่ได้ “เอื้อ” ต่อแรงงานต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขที่แรงงานต้องผ่านการทดสอบภาษาเกาหลีก่อน ซึ่งแรงงานไทยที่อาจไม่มีทุนทรัพย์พอในการเรียนภาษาก็อาจไม่ผ่านเงื่อนไขนี้ หรือจะเป็นเรื่องของเกณฑ์อายุที่กำหนดไว้ว่าแรงงานต่างชาติถูกกฎหมายต้องอายุไม่เกิน 39 ปี ทำให้แรงงานไทยหลายคนเสียสิทธิ์ไปโดยปริยาย
และอีกเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ EPS ไม่สามารถสร้างแรงงานต่างชาติได้เท่าที่ควร คือการกำหนด “เพดาน” ในการใช้แรงงานต่างชาติถูกกฎหมาย เช่น บางโรงงานอาจมีกฎหมายกำหนดให้มีแรงงานต่างชาติไม่เกิน 5 คน แต่ในเมื่อโรงงานต้องการแรงงานสิบคน ก็เลือกที่จะเติมเต็มช่องว่างด้วยการรับ “ผีน้อย” ซึ่งในโลกทุนนิยมที่โหดร้าย ที่ผู้ผลิตเน้นทำกำไรสูงสุดเป็นหลัก การลดต้นทุนด้วยการรับแรงงานต่างชาติ ค่าแรงถูก ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการอยู่รอด
ผีน้อย : ผลผลิตของตลาดมืด
จะสังเกตได้ว่า เงื่อนไขของ EPS ที่ยุ่งยาก ส่งผลให้อุปทานแรงงาน ก็ยังไม่พอต่ออุปสงค์ หรือความต้องการแรงงานอยู่ดี
ในทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจไม่อยู่ในดุลยภาพ อุปสงค์ยังไม่เท่ากับอุปทาน ก็ถือว่ากลไกตลาดทำงานได้ไม่สมบูรณ์
และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ตลาดมึด” หรือธุรกรรมใต้ดินเพื่อมาเติมเต็มอุปสงค์ และในกรณีนี้ก็คือ การจ้างแรงงานผิดกฎหมายหรือผีน้อยนั่นเอง
แก้ต้น แก้ปลาย: พูดง่ายแต่ทำยาก
ในทางทฤษฎี การแก้ปัญหาผีน้อย ก็สามารถทำได้ทั้งจากต้นน้ำ หรือในประเทศไทย หรือจากปลายน้ำ หรือแก้ที่เกาหลีใต้ก็ได้
การแก้จากต้นน้ำ ก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นและเหลื่อมล้ำน้อยลง เพื่อให้แรงงานไทยมีค่าแรงที่ทำให้พวกเขามีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีจนไม่ต้องเดินทางไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ
แต่จากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยปัจจุบันที่ยังไม่มีการสร้างนวัตกรรมมูลค่าสูงใหม่ ๆ การจะหวังให้เศรษฐกิจโตแบบก้าวกระโดดจึงเป็นไปได้ยาก
วิธีแก้ต้นน้ำอีกทางที่พอทำได้คือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในไทย แต่แน่นอนว่านี่เป็นวิธีที่นายจ้างคงจะไม่ชอบใจ
ส่วนวิธีแก้ที่ปลายน้ำก็ต้องขึ้นกับความเมตตาของประเทศปลายทางอย่างเกาหลีใต้ ซึ่งควรผ่อนปรนกฎเกณฑ์การรับแรงงานต่างชาติถูกกฎหมายลงบ้าง ทั้งเรื่องเกณฑ์อายุ และโควตา หากเกาหลีใต้ต้องการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนอย่างจริงจัง
แต่แน่นอนว่าในทางการเมือง การรับคนต่างชาติเข้ามาทำงานก็คงไม่ได้ใจชาวเกาหลีเท่าไร เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติน้อยที่สุดในโลก โดยประชากรกว่า 96% ในประเทศเป็นคนเชื้อสายเกาหลี และชาวเกาหลีหลายคนมีความเชื่อว่าการทื่ประชากรในประเทศมีสัดส่วนชาวต่างชาติน้อย ส่งผลให้ประเทศพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและไม่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติมากนัก
และไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แต่หากกลไกตลาดในเกาหลียังไม่ทำงาน
ผีน้อย (ซึ่งอาจไม่ได้มาจากแค่ที่ไทย) ก็จะเป็นปัญหาระหว่างชาติไปเรื่อย ๆ ครับ
เขียนโดย ธนากร ไพรวรรณ์