เป็นเวลา 17 ปีแล้วครับ หลังการรัฐประหารรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 19 กันยายน ปี 2549 โดย ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หรือ คปค. ภายใต้การนำของ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน
หนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นคลื่นกระแทก สะเทือนการเมืองไทยมานับทศวรรษ แต่ไม่ใช่แค่การเมืองเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการรับประหาร และคงไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้
ด้านเศรษฐกิจคืออีกเรื่องที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และเป็นประเด็นที่เราอยากจะมาพูดคุยกัน เพราะเรื่องนี้สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้เราจะพาไปย้อนดูภาพเศรษฐกิจในวันวาน ว่าก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร และการรัฐประหารครั้งนั้น หรือครั้งไหน ๆ ส่งผลอย่างไรภาพภาพรวมเศรษฐกิจไทยบ้าง
ช่วงก่อนรัฐประหาร เป็นช่วงการบริหารงานของ ‘รัฐบาลทักษิณ’ ถึง 2 สมัยซ้อน ซึ่งโดดเด่นด้านนโยบายเศรษฐกิจมาก เพราะประเทศไทยเพิ่งผ่านต้มยำกุ้งปี 40 มาหมาด ๆ สถาบันการเงินล้ม ธุรกิจเจ๊งยับแบบโดมิโน ต่างชาติถอนทุนจำนวนมาก ทำให้ต้องเร่งแก้ไขเรื่องนี้เป็นสำคัญอย่างเลี่ยงไม่ได้ จนเกิดเป็นชื่อเรียกนโยบายเศรษฐกิจในยุคนั้นว่า “ทักษิโณมิกส์” มาจากชื่อ “ทักษิณ” รวมกับคำว่า “อีโคโนมิกส์ (Economics)” นั่นเอง
ซึ่งนโยบายนี้ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่กำลังถดถอยได้ดีในระดับหนึ่ง ด้วยการประยุกต์เอาแนวคิดการบริหารแบบเอกชนที่ประสบความสำเร็จมาใช้กับระบบราชการ
สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นคือ “ระบบเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track Policy)” ที่มุ่งการพัฒนาเศรษฐกิจไทยควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก กระตุ้นอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อให้เกิดความแข็งแรงในทุกระดับ โดยมุ่งพัฒนาตั้งแต่ระดับล่าง เรียกกันว่าเป็นวิธีการพัฒนา “รากหญ้า สู่รากแก้ว” เข้ามาดูแลและพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือนก่อน และในขณะเดียวกันก็ผลักดันให้การส่งออกเติบโต พร้อมทั้งการลงทุนจากต่างชาติ
เศรษฐกิจในระดับรากหญ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ถือเป็นนโยบายสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนั้น สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้เศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ให้ชาวบ้านในหลาย ๆ พื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับนโยบายอื่น ๆ อย่างการพักหนี้เกษตรกร และมาตรการเจาะกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ “จับต้องได้” และเห็นผลจริง ๆ
การส่งออก ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยในยุคนั้น โดยการผลิตรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในไทยเริ่มแข็งแรง และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ควบคู่ไปกับการส่งออกของสินค้าการเกษตร ซึ่งได้ส่งเสริมการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร ทำให้โดยรวมแล้วการโดยรวมก็เป็นหนึ่งรายได้หลักของประเทศในทศวรรษนั้น
อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสมัยนั้นคือการท่องเที่ยว ที่เอาจริง ๆ ก็เพิ่งจะมีบทบาทสำคัญเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจริง ๆ จัง ๆ รัฐบาลได้เชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ากับนโยบายเศรษฐกิจขนาดเล็กระดับชุมชนอย่าง OTOP ที่เกื้อหนุนกันได้ดี ทำให้การท่องเที่ยวท้องถิ่นไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วย และในปี 41 เองก็เกิดคำขวัญเที่ยวไทยยังติดหูกันอยู่ทุกวันนี้อย่าง “มหัศจรรย์ประเทศไทย” หรือ “Amazing Thailand” ด้วย
สำหรับเรื่องการลงทุน ตลาดหุ้นไทยในตอนนั้นหลังร่วงลงมาเหลือ 300 จุดจากผลกระทบของต้มยำกุ้ง ในรัฐบาลทักษิณก็สามารถกอบกู้ตลาดหุ้นไทยขึ้นมาที่ 772 จุดได้ พร้อมปลดหนี้ IMF ได้สำเร็จก่อนเวลา นอกจากนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างการนำรัฐวิสาหกิจหลายตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และให้ผลลัพธ์ที่ดีอยู่ไม่น้อย
โดยรวมก็ถือว่าเป็นหนึ่งยุคที่หลายคนยอมรับว่าเป็นยุคหนึ่งที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ดี แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโปร่งใสและผลประโยชน์ทับซ้อน อันนำไปสู่การรัฐประหารในเวลาต่อมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการดึงเบรกมือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจตอนที่กำลังแล่นอยู่บนถนนแห่งความเจริญ
เอริก เมเยอร์สัน (Erik Meyersson) อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จาก Stockholm School of Economics ศึกษาเรื่องผลกระทบจากการรัฐประหารต่อระบบเศรษฐกิจ และพบว่าการรัฐประหารในประเทศประชาธิปไตยทำให้ GDP ต่อหัว ลดลงกว่า 1% ต่อปีได้เป็นเวลาต่อเนื่องนับสิบปี และผลในทางบวกที่เกิดกับประเทศเผด็จการก็มีเพียงเล็กน้อยอย่างไม่มีนัยสำคัญด้วยซ้ำ อีกทั้งการรัฐประหารทำให้เกิดการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในการเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ และตัดสินใจลงทุนน้อยลง
ถึงอย่างนั้นก็มีบางคนที่มองว่าการรัฐประหารให้ประโยชน์กับประเทศชาติ ซึ่งรวมถึงด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะการบริหารภายใต้รัฐบาลเผด็จการไม่ได้ยึดโยงกับความพอใจของประชาชน (เออ ก็อย่างนั้นแหละ) ทำให้มุ่งเน้นผลประโยชน์ของชาติในระยะยาวได้โดยไม่ต้องเอาใจหรือเรียกคะแนนเสียง (หา….) นั่นแหละ ซึ่งหลักฐานที่สนับสนุนความคิดเห็นฝั่งนี้คือความสำเร็จของประเทศจีน ซึ่งเอาจริง ๆ ความสำเร็จของจีนมันซับซ้อนกว่าแค่ระบอบการปกครองเยอะครับ แต่เอาง่าย ๆ เลยคือมันมีประเทศเผด็จการที่ทำได้อย่างจีนสักกี่ประเทศเชียว
ถึงอย่างไรตัวเลขและสถิติคือสิ่งที่บอกความเป็นไปได้ได้ดีที่สุด งานวิจัยของ แดรอน อาซีโมกลู (Daron Acemoglu) และเจมส์ เอ. โรบินสัน (James A. Robinson) ชี้ชัดว่าประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าและร่ำรวยกว่าประเทศเผด็จการถึง 20% ในระยะยาว มีการลงทุนมากกว่า จัดเก็บภาษีได้มากกว่า ทั้งยังมีการสนับสนุนด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่ดี ซึ่งนับว่าเป้นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศโดยรวม
พูดกันง่าย ๆ ก็คือ การรัฐประหารมัน “ไม่ช่วย” อะไรเลยในทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการปกครองด้วยประชาธิปไตยมันจะไม่ใช่ปัจจัยเดียว และไม่ระบบที่ดีที่สุดเสมอ แต่คงเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาได้ในหลากหลายมิติ ที่อาจเห็นได้จากภาพสะท้อนของเศรษฐกิจในยุคนั้น