มีข่าวดีจากการประชุมครม. (คณะรัฐมนตรี) นัดแรกวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้ลดค่าไฟตั้งแต่งวดเดือนกันยายนยาวยันธันวาคมลง จาก 4.10 บาท/กิโลวัตต์ เหลือ 3.99 บาท/กิโลวัตต์ แม้ว่ากฟผ. เองจะยังแบกหนี้แสนล้านอยู่ก็ตาม
ถึงอย่างนั้นก็อาจไม่ได้ทำให้อะไร ๆ มันง่ายขึ้นนัก เพราะการที่ค่าไฟปรับลงไม่กี่สตางค์สำหรับผู้มีรายได้ไม่มากมันก็อาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เม็ดเงินที่จ่าย โดยรวมมันก็คงน้อยลงเพียงไม่กี่บาท กลับกันสำหรับผู้ที่มีรายรับสูงก็อาจไม่ได้รับผลกระทบที่หนักหน่วงเท่าจากการขึ้นหรือลงของค่าไฟ เพราะยังไงก็จ่ายไหว (ก็ถ้าไม่นับในภาคธุรกิจนะ เพราะยังไงทุกบาทคือต้นทุน) นั่นอาจดูไม่แฟร์เท่าไรสำหรับคนที่มีรายได้น้อย
แต่นั่นไม่ใช่กับ แคลิฟอร์เนีย (California) สหรัฐอเมริกา ที่เขากำลังท้าท้ายระบบสาธารณูปโภคแบบเดิม ๆ ด้วยการเก็บค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตามรายได้ของแต่ละคน ไม่ใช่แค่ว่าใช้เท่าไรจ่ายเท่านั้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งบอกเลยว่าร่างกฎหมายออกมาอย่างจริงจังแล้ว และงานนี้สะเทือนทั่วทั้งรัฐแน่นอน
ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเสนอโดยนักวิจัยจาก University of California ที่ Berkeley องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่แสวงหาผลกำไร ‘Next 10’ เสนอให้มีการแบ่งการจัดเก็บค่าพลังงานออกเป็นสองส่วน คือ ค่าบริการคงที่ตามขั้นรายได้ และ ค่าบริการผันแปรตามปริมาณที่ใช้ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา มีผลให้ California Public Utilities Commission หรือ CPUC ยืนยันการเก็บค่าธรรมเนียมแบบคงที่ตามระดับรายได้ของประชาชน
โดยกฎหมายนี้มีจุดประสงค์ให้ประชาชนสามารถจ่ายค่าพลังงานไหว และสร้างเสถียรภาพในการเก็บเงิน หรือง่าย ๆ ก็คือให้คนจ่ายค่าพลังงานได้ตามกำลังและจะได้ไม่ต้องค้างชำระนี่แหละ หวังว่าจะช่วยลดความเลื่อมล้ำในระบบค่าไฟได้ในภาวะที่ค่าไฟกำลังขึ้น
ค่าไฟขึ้นเพราะโลกร้อน?
จากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทำให้อากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลง แคลิฟอร์เนียตระหนักดี และที่ผ่านมาได้เริ่มนำการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ จนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1 ใน 4 ของพลังงานทั้งรัฐ
แต่นั่นก็ยังไม่มากพอ เพราะอุณหภูมิในแคลิฟอร์เนียยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งร้อนและแห้งจนทำให้เสี่ยงเกิดไฟป่า จากสายไฟเก่าเสื่อมสภาพของผู้ผลิตพลังงาน ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องเร่งแก้ไขอัปเกรดโครงข่ายพลังงานของพวกเขาเพื่อรับมือกับความร้อนและความเสี่ยงไฟป่า
ในปัจจุบันกลุ่มธุรกิจพลังงานที่มีนักลงทุนเป็นเจ้าของ มีผู้เล่นอยู่ 3 รายใหญ่คือ
– Pacific Gas & Electric (PG&E)
– Southern California Edison (SCE)
– San Diego Gas & Electric (SDG&E)
ซึ่งกินส่วนแบ่งตลาดกว่า 3 ใน 4 ของรัฐ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้แหละที่มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น และทำให้ค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายมันพุ่งตามด้วยนั่นเอง เฉลี่ยราว 27 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เกือบสองเท่าของค่าไฟเฉลี่ยของทั้งอเมริกา
และด้วยค่าไฟที่สูงลิ่วทำให้หลายคนที่พยายามจะช่วยโลกด้วยการลดคาร์บอน เปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฟฟ้า อาจต้องเปลี่ยนความคิด เพราะการพึ่งพาไฟฟ้าเป็นหลักอาจทำให้พวกเขาต้องจ่ายมากกว่า
เก็บเงินระบบใหม่ ใครได้ ใครเสีย?
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ร่างกฎหมายระบบค่าพลังงานใหม่ถูกเสนอ เพื่อเข้ามารับมือกับค่าไฟที่เพิ่มขึ้นอีกที แต่แม้จะเป็นระบบที่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหา ก็ใช่ว่าทุกคนจะถูกใจ เพราะมันไม่ใช่ระบบที่มีแต่คนได้ แต่มีคนเสียด้วย
ผู้สนับสนุนกฎหมายนี้ชี้ว่าระบบนี้คือสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยให้ประชากรที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงพลังงานพื้นฐานได้ เพราะที่ค่าไฟฟ้าของรัฐยังขึ้นแล้วขึ้นอีกอยู่ตลอด
ทางผู้บริหารของ SDG&E เองก็ดูจะพอใจและเห็นดีเห็นงามกับระบบนี้แหละ เขากล่าวว่า “มันจะเปลี่ยนราคาค่าไฟสำหรับผู้บริโภคไปเลย จะช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยประหยัด” และชี้ว่า “กลุ่มรายได้น้อย-ปานกลางจะประหยัดขึ้นทันที และกลุ่มรายได้สูงเองก็จะได้ผลประโยชน์ในที่สุด”
ทางผู้ผลิตอย่าง SCE ก็ได้ประเมิณแล้วว่าเมื่อมีการเก็บค่าไฟตามขั้นรายได้แบบคงที่ ปริมาณการใช้ไฟจะลดลงถึง 1 ใน 3 สอดคล้องกับที่มีรายงานว่าผู้ใช้ไฟของ SDG&E ที่จ่ายค่าไฟสูงที่สุดในทวีปอเมริกา ใช้ไฟลดลง 42 %
แต่ในขณะเดียวกันก็มีประชาชนมากมายที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้และออกมาต่อต้าน
ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าระบบนี้จะกัดกินการอนุรักษ์พลังงานและมันไม่แฟร์เลยกับคนที่พยายามใช้ไฟอย่างประหยัด บางคนออกมาบอกว่าครอบครัวของตัวเองพยายามใช้น้ำไฟอย่างประหยัดมาโดยตลอด แม้แต่ยอมอยู่โดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อจะได้จ่ายค่าไฟน้อยหน่อย แต่การเข้ามาของระบบค่าไฟแบบคงที่จะทำให้พวกเขาต้องจ่ายมากขึ้นกว่าที่เคย
ด้านนักเศรษฐศาสตร์พลังงาน Ahmad Faruqui ออกมาเตือนว่าระบบนี้อาจเหมือนเป็นการผลักภาระให้กลุ่มคนที่พยายามประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะคนที่มีรายได้สูง ซึ่งมันจะขัดกับเป้าหมายของรัฐที่พยายามอนุรักษ์พลังงาน โดยผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้สูง ถ้าจ่ายอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ต่อเดือน ค่าไฟของพวกเขาอาจพุ่งขึ้นถึง 140%
ประชาชนบางส่วนออกมาบอกว่า “อาจล้มเลิกแผนติดโซลาร์เซลล์แล้ว” เพราะนอกจากจะต้องจ่ายค่าโซเซลล์มหาศาล ก็ยังคงต้องจ่ายค่าไฟในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งหักลบอย่างไรก็ไม่คุ้ม (ที่แคลิฟอร์เนียก็มีโครงการให้ขายไฟจากแสงอาทิตย์ให้ภาครัฐด้วยเหมือนกัน เพื่อเชิญชวนให้คนหันมาใช้และผลิตพลังงานสะอาด) แต่ในฝั่งของผู้ประกอบกิจการโซลาร์เซลล์ก็บอกว่า “ถ้าใช้ระบบนี้จริงก็แย่หน่อย แต่ก็ไม่ได้กังวลอะไร เพราะในระยะยาวโซลาร์เซลล์คุ้มอยู่แล้ว”
ทั้งนี้คำถามสำคัญจากประชาชนก็คือ มันใช่เรื่องไหมที่ค่าปรับปรุงโครงข่ายพลังงานมันต้องมาบวกในค่าบริการ ทำไมไม่หักไปจากภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายอยู่แล้วล่ะ เพราะนั่นก็จ่ายตามขั้นรายได้เหมือนกัน แบบนี้น่ะมันเหมือนเพิ่มภาระให้ผู้บริโภคมากกว่า แต่ทางภาครัฐก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงเรื่องนี้แต่อย่างใด
แม้ว่าตัวระบบเองจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากพอที่จะบอกได้ว่ารายได้เท่านี้ต้องเสียเท่าไรกันแน่ แต่ตามที่โฆษกของ CPUC กล่าว จะมีการลงมติเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวในไตรมาสแรกของปี 2024 และหลังจากนั้นจะมีเวลาในการอนุมัติแผนดังกล่าว หรือร่างขึ้นใหม่ภายในเดือนกรกฎาคม 2024
จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วระบบนี้เป็นความพยายามแก้ปัญหาใหญ่ที่สุ่มเสี่ยงใช่เล่นเลย เพราะตัวระบบเองแม้ว่าจะดูดีและอาจช่วยเหลือคนกลุ่มหนึ่งได้ไม่น้อย แต่ก็อาจสร้างภาระอันหนักอึ้งให้ที่เหลือเช่นกัน ไหนจะต้นตอของปัญหาค่าไฟขึ้นที่สุดท้ายประชาชนต้องมาแบกรับแบบงง ๆ อีก
ก็ไม่แปลกใจที่จะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แล้วทุกคนคิดว่าระบบนี้เป็นอย่างไรบ้าง จะรอดไหม จะให้ผลดีอย่างที่คิดหรือเปล่า
แล้วถ้าหากประเทศไทยจะเก็บค่าไฟคงที่ตามค่าแรงแบบนี้บ้างล่ะ ซื้อไหม ลองคอมเมนต์แลกเปลี่ยนกันดูครับ