ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวดังที่สะเทือนทั้งเกาะอังกฤษ คือ สภาเมืองใหญ่อังดันสองของอังกฤษอย่าง ‘เบอร์มิงแฮม (Birmingham)’ ประกาศ “ล้มละลาย” ภายใต้ “มาตรา 114” เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณเกือบ 4,000 ล้านบาท ซึ่งก็ทำให้หลายคนประหลาดใจว่า “เห้ย สภาเมืองล้มละลายได้ด้วยเหรอ”
คำถามนี้น่าจะอยู่ในความคิดของใครหลายคนครับ เพราะปกติแล้วเราจะคุ้นชินคำว่า “ล้มละลาย” ในภาคธุรกิจเสียมากกว่า แต่กับหน่วยงานบริหารของรัฐแล้ว ไม่น่าจะเจอคำนี้ได้ ถึงอย่างนั้นก็คงได้เห็นกันแล้วแหละว่า มีจริง ๆ เป็นสภาเมืองก็ล้มละลายได้เหมือนกัน เพราะการล้มละลายคือ การที่บุคคล หรือนิติบุคคล มีหนี้สินท่วมท้น มากกว่าทรัพย์สิน และเกินความสามารถในการชำระหนี้ได้ ดังนั้นองค์กรไหนหน่วยงานไหนมีการบริหารการเงิน มีค่าใช้จ่าย ก็มีสิทธิ์จะล้มละลายได้ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจเท่านั้น ซึ่งที่อังกฤษก็เป็นประเทศที่มีการบริหารแบบกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง โดยจะมีงบจากส่วนกลางและงบอีกส่วนที่ท้องถิ่นในแต่ละเมืองต้องจัดสรร เปรียบง่าย ๆ ว่าสภาเมืองเป็นองค์กรหนึ่ง ในทางปฏิบัติแล้ว เมืองก็ล้มละลายได้ แม้ในทางกฎหมายจะไม่ได้รองรับไว้ก็ตาม
แล้วเบอร์มิงแฮมล้มละลายได้อย่างไร ที่มาของการล้มละลายในครั้งนี้เรียกได้ว่าเรื้อรังครับ แต่จะมีประเด็นใหญ่ ๆ ที่เขาบอกกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เบอร์มิงแฮมล้ม คือ การจ่ายเงินชดเชยจากคดีฟ้องร้องจากพนักงานหญิงที่ได้รับค่าตอบแทนไม่เท่าเทียม ซึ่งสภาเมืองได้ต่อสู้ทางกฎหมายกับสหภาพแรงงานมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2012 จนท้ายที่สุดแล้วก็พ่ายแพ้และต้องจ่ายค่าชดเชยมหาศาลให้กับพนักงานหญิงทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เคยได้รับผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมนี้ ซึ่งที่ผ่านมาสภาได้จ่ายเงินชดเชยส่วนนี้ไปแล้วกว่า 1,100 ล้านปอนด์ หรือกว่า 48,800 ล้านบาท โดยยังเหลือที่ต้องจ่ายอีก 650-760 ล้านปอนด์ หรือ อีกกว่า 28,800-33,700 ล้านบาท ซึ่งทางเมืองก็หามาจ่ายไม่ไหวแล้ว
.
แต่ก็ใช่ว่าการเงินของเบอร์มิงแฮมจะมาล่มสลายเพียงเพราะความไม่เท่าเทียมหรอกครับ ก่อนที่ใครจะมองว่าการเรียกร้องของสหภาพแรงงานคือสิ่งที่ทำร้ายเมืองเอง ก็ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เพราะนอกจากเงินชดเชยมหาศาลแล้ว ที่ผ่านมาตั้งแต่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป หรือ EU เศรษฐกิจในประเทศก็ไม่ผูกพันธ์กับทาง EU เหมือนเคย และต้องเจอกับภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติกาลเหมือนหลายประเทศทั่วโลก อย่างอเมริกาหรือไทย ส่งผลกับดอกเบี้ยที่ต้องขยับตามเช่นเดียวกัน รวมทั้งการออกมาจาก EU ยังทำให้อังกฤษพบเจอกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และแม้ว่าจะมีการทำการค้าเสรีอยู่ แต่เมื่อไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ EU ก็ทำให้ตลาดแคบลง ภาคธุรกิจมีรายได้ลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจของอังกฤษเติบโตได้ช้ามาตลอดช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ และรัฐบาลกลางก็มีการปรับลดค่าใช้จ่าย
และแน่อนว่าจังหวะแบบนี้พรรคการเมืองสองฝั่งเขาก็ได้จังหวะสาดโคลนโยนบาปใส่กันเต็มที่เพื่อชี้ถึงสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งทางฝั่งผู้นำสภาอย่างพรรคแรงงานได้กล่าวว่า ปัญหาการเงินของสภาส่วนหนึ่งมาจากปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ในสภาท้องถิ่นที่ต้องใช้เงิน 100 ล้านปอนด์ หรือกว่า 4,400 ล้านบาทในการแก้ไข และอัตรารายได้ของภาคธุรกิจที่ลดลงสวนทางกับต้นทุนที่สูงขึ้นในการดูแลสังคมผู้ใหญ่ นอกจากนี้ในช่วงการบริหารต่อเนื่องยาวนานของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมสภาถูกตัดงบไป 1,000 ล้านปอนด์ หรือราว 44,000 ล้านบาทเลย
ในขณะที่สมาชิกฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้กล่าวโทษการบริหารจัดการงบที่ไม่ดีของสภาฝ่ายพรรคแรงงาน ที่ใช้งบประมาณมหาศาลไปกับการผลักดัน “ยุคทองของเมือง” และการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาเครือจักรภพ (Commonwealth Games) โดยใช้คำที่รุนแรงว่าสภา “โกหกประชาชนชาวเบอร์มิงแฮม” บอกว่ายุคทองที่สภากล่าวอ้างนั่นมันเป็น “ทองปลอม” (ใช้คำว่า fool’s gold หมายถึงแร่ pyrite ที่มีสีคล้ายทองแต่ไม่ได้มีค่าเหมือนทอง จึงเรียกอีกอย่างว่า “ทองของคนโง่” )
โฆษกนายกรัฐมนตรีได้ออกมาบอกว่าทางรัฐบาลได้เข้ามาสนับสนุนด้วยการให้งบประมาณ 5.1 พันล้านปอนด์ หรือกว่า 2.2 แสนล้านบาท แก่สภาท้องถิ่นต่าง ๆ และให้เพิ่มขึ้น 9% สำหรับเบอร์มิงแฮม ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นที่จะต้องจัดการงบประมาณเอง และบริหารเงินของผู้เสียภาษีทุกคนให้คุ้มค่าที่สุด
โดยการล้มละลายในครั้งนี้ส่งผลให้ทางสภาเบอร์มิงแฮมต้องลดงบประมาณในการใช้จ่ายลง ทั้งการบริการสาธารณะต่าง ๆ อย่างการทำความสะอาดถนน การดูแลรักษาสวนสาธารณะ ห้องสมุด บริการเกี่ยวกับเด็กที่อยู่นอกเหนือจากการช่วยเหลือทางสังคม และการเก็บขยะที่อาจต้องเว้นรอบเก็บนานขึ้น ยกเว้นการดูแลประชานกลุ่มเปราะบาง บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน และภาระผูกพันธ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่ยังคงต้องเป็นไปตามเดิมอยู่
สมาคมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสหราชอาณาจักร (LGA) ก็ได้ประเมิณว่าในปีงบประมาณนี้ สภาท้องถิ่นต่าง ๆ ในอังกฤษและเวลส์จะขาดแคลนเงินทุนเพิ่มอีก 2,000 ล้านปอนด์ หรือกว่า 88,000 ล้านบาท และยังมีอีกหลายเมืองที่เสี่ยงล้มละลายอีกเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ก็มีอีกหลายเมืองที่ล้มละลายล่วงหน้าไปก่อนแล้วภายใต้มาตรา 114 อย่าง โวกคิง (Woking) หรือ ครอยดอน (Croydon)
แล้วแบบนี้หน่วยงานท้องถิ่นก็ล้มละลายได้ทุกที่เลยหรือเปล่า หรืออย่างหน่วยงานท้องถิ่นไทยจะมีโอกาสล้มละลายได้ไหม ถ้าพิจารณากันตามโครงสร้างการปกครองแล้วก็ “ไม่” ครับ เพราะไทยไม่ได้ให้อำนาจท้องถิ่นในการปกครองและหางบประมาณในแบบเดียวกับที่อังกฤษ จัดสรรงบให้อย่างเดียว ง่าย ๆ คือท้องถิ่นไทยไม่ได้หาเงินได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว พอไม่ได้มีอำนาจการบริหารจัดการเองก็เลยไม่ต้องห่วงว่าจะเจ๊งครับ อย่างที่เรารู้กันดีนั่นแหละว่าหน่วยงานท้องถิ่นในไทยมักจะทำอะไรได้ช้ามาก เพราะจะใช้งบเพิ่มแต่ละทีต้องเขียนขอเข้าส่วนกลางแล้วถูกหักหัวคิวกันมาเป็นทอด ๆ อีก กว่าจะถึงก็เหลืออยู่หน่อยนึง ซึ่งก็เอ่อ… นั่นแหละครับ เอาเป็นว่าถ้าที่ไหนจะล้มละลายได้ หลัก ๆ เลยคือ เขาก็ต้องได้บริหารและแบกการเงินไว้ด้วยตัวเองครับ
โดยสรุปแล้วคือการล้มละลายของเบอร์มิงแฮมนั้นเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่การจ่ายค่าชดเชยมหาศาลให้แรงงานหญิงอย่างเดียว แต่รวมทั้งจากการบริหารงบประมาณที่อาจเกินตัวไปบ้าง สวนทางกับแนวทางของรัฐบาลกลาง และปัญหาเรื้อรังหลายอย่างที่ไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้เราเห็นว่าการบริหารของภาครัฐในมิติของการเงินก็มีความสำคัญไม่แพ้ในภาคธุรกิจเลย ส่วนในไทยเอง แม้หน่วยงานท้องถิ่นจะไม่มีทางล้มละลายอยู่แล้ว แต่เรื่องของการบริหารงบประมาณใช้จ่ายให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ ก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ว่าจะเจ๊ง หรือไม่ก็ควรทำให้ดีอยู่เสมอ