เคยไหม? นั่งทำงานอย่างตั้งใจมาทั้งวัน รู้ตัวอีกทีก็ปวดหลังแทบหัก กว่าจะหายก็หลายวัน ในบางคนก็เป็นเรื้อรังจนต้องรักษากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถิติโดยโรงพยาบาลสมิติเวช พบว่าคนไทยกว่า 80% ที่ทำงานในออฟฟิศมักมีอากาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) อาการปวดหลังนอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพแล้ว มันยังอาจส่งผลกระทบด้านการเงินไม่ใช่น้อย ๆ เลยเช่นกัน
ในสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศที่ประชากรทั่วไปกว่า 80% ต่างก็ต้องเคยประสบกับอาการปวดหลังล่าง ในสหราชอาณาจักรพบว่ามีวันลารวมที่มีสาเหตุจากอาการปวดหลังรวมกว่า 3,204,000 วันในปี 2016 และจากการสำรวจของแบ็คจอย (BackJoy) พบกว่ากว่า 600 ล้านคนทั่วโลกต่างก็เคยปวดหลังอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต นี่จึงไม่ใช่ปัญหาระดับประเทศของชาติใดชาติหนึ่ง แต่เรียกได้ว่าเป็น “ปัญหาระดับโลก”
ในสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์กว่า 5 พันล้านดอลลาร์ ใช้ไปเพื่อรักษาอาการปวดหลัง และมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ ที่ตามมาอีกกว่า 100 ล้านดอลลาร์
ในไทยเองก็เคยมีการศึกษาเมื่อปีประมาณสิบกว่าปีก่อนโดยคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าในปี 2555 มีพนักงานออฟฟิศราว 4.6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีอาการผิดปกติทางระบบกระดูก กล้ามเนื้อบริเวณคอและบ่า หลังส่วนบนและหลังส่วนล่าง ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมดประมาณ 26,681 ล้านบาทต่อปี
โดยในทุกวันนี้พนักงานบริษัทในไทยมีความต้องการใช้บริการกายภาพสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่อบิลก็สูงครั้งละ 1,00-2,000 บาทขึ้นไป แต่ทำครั้งเดียวก็ไม่ค่อยหายกัน จึงกลายเป็นเหมือนค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง รวมทุกอย่างแล้วพนักงานคนหนึ่งก็อาจต้องจ่ายหลักหมื่นหรือแสนต่อปีเพื่อมารักษาอาการปวดหลัง กลายเป็นภาษีชีวิตอีกอย่างไปแล้ว
กลับกัน เรื่องนี้ก็สะท้อนถึงโอกาสสำคัญของธุรกิจสายสุขภาพหรือประเภทเวลเนส (Wellness) ที่เติบโตขึ้นมากโดยเฉพาะหลังโควิด ที่คนทั่วไปหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และพร้อมจ่ายให้กับอะไรที่ช่วยให้พวกเขามีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
อย่างไรก็ตาม การรับมือกับอาการปวดหลังและออฟฟิศซินโดรมที่ดีที่สุด(อย่างน้อยก็กับการเงินของคุณ) ก็ยังคงเป็นการป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่ด้วยการรักษา เพราะอะไรที่เสียหายไปแล้วก็ยากที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม การตระหนักรู้ถึงภาระที่ตามมาและความสำคัญของสุขภาพให้มากพอ จะทำให้คุณรู้ว่าต้องจ่ายกับอะไรและจ่ายเมื่อไร จึงจะให้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่คุ้มค่าสำหรับคุณ อย่างเช่นว่า คุณอาจเลือกจ่ายเงินเข้าฟิตเนสหรือซื้อชุดออกกำลังกายตั้งแต่วันนี้ ดีกว่าไปจ่ายเงินค่ารักษาและกายภาพในวันที่อาการปวดหลังของคุณแย่ลง