ตั้งแต่ Pop Mart ร้านขายของเล่นสะสมที่เรียกว่า “อาร์ตทอย (Art Toys)” เข้ามาเปิดสาขาในไทย ความนิยมของอาร์ตทอยก็พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมูลค่าของคอลเล็กชันต่าง ๆ ด้วย นั่นทำให้อาร์ตทอยกลายเป็นเหมือนสินทรัพย์การลงทุนยุคใหม่ที่หลายคนซื้อเอาไว้เก็งกำไร หรือใครมีทุนหน่อยก็กว้านซื้อมาบวกราคาขายกันจนร่ำรวย แต่นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกวิธีในการหาผลประโยชน์จากอาร์ตทอยสายเทา ที่หลายคนไม่ได้ตระหนักว่ามัน “ผิด”
หลังอาร์ตทอยมีกระแสนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงจำนวนมาก ร้านทองหลายร้านจึงเล็งเห็นโอกาสในการดึงดูดผู้มีกำลังซื้อสูงและหลงใหลในของเล่นราคาแพง ให้เข้าร้านมาซื้อของที่แพงยิ่งกว่าได้ ด้วยการหยิบเอาดีไซน์ของอาร์ตทอยที่ผู้คนชื่นชอบ มารวมเข้ากับสินค้าดั้งเดิมของร้านอย่างทองคำ กลายเป็น “อาร์ตทอยทองคำ” ที่ส่วนมากจะทำออกมาในรูปแบบของจี้ ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งมูลค่าและความชอบ ขายกันตั้งแต่ 5-6 พันบาท จนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับดีไซน์และน้ำหนักทอง
อาร์ตทอยทองคำดูเป็นสินค้าดี ๆ ที่น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านทอง จากการจับกระแสอาร์ตทอยได้ เหมือนการนำลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนดังมาผลิตสินค้าคอลเล็กชันพิเศษ แบบที่หลายธุรกิจชอบทำกัน ไม่ว่าจะเป็น 7-11 ที่ออกสินค้าลายการ์ตูนดังอย่าง พาวเวอร์พัฟเกิร์ล (Powerpuff Girls) ชินจัง การ์ตูนดิสนีย์ (Disney) ฯลฯ เรียกว่า Collaborative Marketing โดยเจ้าของแบรนด์ก็จะมีโอกาสในการกระตุ้นยอดขาย จากผู้บริโภคที่ชื่นชอบตัวละครเหล่านั้น และบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เองก็จะได้ผลประโยชน์เป็นค่าเช่าลิขสิทธิ์หรือส่วนแบ่งรายได้จากยอดขาย ตามแต่ที่ได้ตกลงกัน แต่ปัญหาสำคัญของอาร์ตทอยทองคำคือ มัน “ละเมิดลิขสิทธิ์” ดีไซน์ตัวละครเหล่านั้น ซึ่งผู้เสียหายก็คือ Pop Mart ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อาร์ตทอยจำนวนมาก
ถ้าสังเกตตามโซเชียลมีเดียของร้านทองที่ขายอาร์ตทอยทองคำ ในคอนเทนต์โปรโมตจะไม่มีการกล่าวถึงเรื่องลิขสิทธิ์จาก Pop Mart เลย แต่จะเลี่ยงไปใช้คำว่า “ทองคำแท้” ที่มีคำว่า “แท้” อยู่ด้วย เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ว่ามีบางอย่างที่เป็นของแท้ในสินค้าตัวนี้ ซึ่งสิ่งที่แท้คือทอง แต่ไม่ใช่อาร์ตทอย โดยผู้เขียนเองก็ได้เคยสอบถามร้านทองบางร้านแล้ว แต่ก็ไม่มีการตอบกลับในประเด็นดังกล่าว
อีกทั้งถ้าใครมีโอกาสได้ลองหยิบจับหรือดูของจริงที่ร้านแล้ว จะพบว่าอาร์ตทอยทองคำที่วางขายตามร้านทองไม่มีโลโก้ลายลิขสิทธิ์จาก Pop Mart อยู่บนจุดไหนของสินค้าเลย ทั้งที่โดยปกติสินค้าลิขสิทธิ์แท้จากทาง Pop Mart จะต้องมีโลโก้สกรีนไว้ทุกตัว นอกจากนี้ ถ้าเข้าไปดูบนเว็บไซต์หรือสื่อช่องทางใดของ Pop Mart ก็ตาม เราจะไม่เจออาร์ตทอยทองคำ หรือความเกี่ยวข้องกับสินค้าอยู่ในนั้นเลย
นั่นหมายความว่าร้านทองเหล่านี้น่าจะไม่ได้นำดีไซน์ของตัวละครอาร์ตทอยของ Pop Mart มาใช้เชิงพาณิชย์อย่างถูกลิขสิทธิ์ และไม่ได้รับผลประโยชน์ทางใดจากสินค้าดังกล่าวเลย การซื้ออาร์ตทอยทองคำเหล่านี้จึงไม่ต่างจากการอุดหนุน “ของปลอม”
ดังนั้นใครที่บอกว่าตัวเองเป็นแฟน Pop Mart ชอบลาบูบู้ (Labubu) ชอบน้องมอลี่ (Molly) หรือชอบครายเบบี้ (Cry Baby) แต่ซื้อทองอาร์ตทอยเก็บไว้แค่เพราะชอบ อาจต้องลองพิจารณาดูใหม่ ว่านี่ไม่ใช่วิธีการแสดงความหลงใหลต่อแบรนด์ที่ถูกต้องและน่าภูมิใจนัก
ส่วนในฝั่งของร้านทอง ก็ควรตระหนักได้แล้วว่านี่ไม่ใช่วิธีการหากินกับความชอบของคนที่ถูกต้อง และมันไม่ถูกกฎหมายด้วยซ้ำ ถ้าทาง Pop Mart เห็นสมควรว่าต้องฟ้องขึ้นมาเมื่อไร ค่าเสียหายคงไม่ใช่น้อย ๆ เพียงแต่ในตอนนี้มันไม่ได้กระทบกับการขายสินค้าหลักของแบรนด์โดยตรง จึงยังลอยนวลได้หน้าตาเฉย แต่ถ้าหากจะยังดึงดันต่อไป อาจต้องเตรียมรับความเสี่ยงให้ได้ด้วย
สุดท้ายนี้ถ้าคุณเป็นแฟน Pop Mart และชื่นชอบในสินค้าสุดสร้างสรรค์ของแบรนด์ ก็ขอให้ช่วยกันอุดหนุนของแท้จากช็อปจะดีกว่า ทางแบรนด์เองก็มีสินค้าหลากหลายประเภทให้เลือกซื้อสะสม ไม่ใช่แค่อาร์ตทอย แต่ยังมีเข็มกลัด พวงกุญแจ และ รวมถึงจี้อาร์ตทอยด้วย ส่วนอะไรที่แบรนด์ไม่มีก็ไม่ต้องสรรหา ถ้ามันจะต้องได้มาโดยแบรนด์เสียประโยชน์ เพราะนั่นอาจเป็นการทำร้ายแบรนด์ที่คุณรักโดยไม่รู้ตัว