เรียกได้ว่าพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศหรือโอลิมปิกที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ใน Paris Olympics 2024 ถูกพูดถึงในวงกว้าง การทั้งคิดนอกกรอบ ไม่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมของการจัดการแข่งขันในแบบที่ผ่านมา มีที่มาจากสาเหตุสำคัญคือฝรั่งเศสไม่ได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติมานานถึง 100 ปี นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ “Thierry Reboul” นักจัดงานอีเวนต์ชื่อดัง ต้องสร้างความแปลกใหม่ เขานำเสนอแนวคิดต่อ Tony Entanguet ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน คือ แทนที่จะจัดพิธีเปิดในสนามเหมือนทุกปี “ทำไมเราไม่จัดข้างนอก?”
นั่นทำให้ฝรั่งเศส จัดพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกในแม่น้ำแซนต์ นักกีฬาแต่ละประเทศเข้าร่วมพาเหรดด้วยขบวนเรือ ที่ล่องผ่านสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จุดท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง หอไอเฟล มหาวิหารนอเทรอดาม พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ต้องถือว่านี่เป็นการสอดแทรก Soft Power ของฝรั่งเศสได้อย่างแยบยล
แม้จะมีดราม่าอยู่บ้างจากฉากการล้อเลียนภาพเขียนชื่อดัง The Last Supper ของลีโอนาร์โด ดาวินชี ซึ่งเป็นภาพพระกระยาหารมื้อสุดท้ายในช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตของพระเยซูคริสต์ ที่สร้างความไม่พอใจให้กับคริสตศาสนิกชนทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีการแสดงที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ซึ่งอยู่ในการแสดงชุดที่ 3 ชื่อ Liberty (เสรีภาพ) ที่เล่าเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่เปิดด้วยการประหารชีวิต มารี อองตัวแนต (Marie Antoinette) พระราชินีแห่งฝรั่งเศสด้วยกิโยตินในช่วงยุคปฏิวัติ
จากประวัติศาสตร์ มารี อ็องตัวแนตต์ (Marie Antoinette) เป็นเจ้าหญิงออสเตรียที่ต้องอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แต่พระนางไม่ได้รับความรัก จึงทำให้พระนางใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยเพื่อชดเชยความรู้สึกขาดความรัก แม้ฝรั่งเศสจะอยู่ในภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ จนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส
แต่ต้องยอมรับว่า การทุ่มทุนของฝรั่งเศสที่สูงถึง 4,600 ล้านบาท กับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่ฉีกทุกกฎเกณฑ์ ถูกพูดถึงไม่ว่าจะในแง่ไหนก็ตาม หากมองในมุมของนักการตลาดแล้วละก็ ปารีสโอลิมปิก 2024 ถือว่าสอบผ่านเรื่องการนำเสนอ Soft Power ให้ชาวโลกได้รู้จัก
เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาของการแสดงที่นานถึง 3 ชั่วโมง 45 นาที ระยะะทางการแสดง 6 กิโลเมตร นักกีฬาเข้าร่วม 10,500 คน ผู้ชมในพื้นที่คาดกว่าไม่ต่ำกว่า 300,000 คน นี่ยังไม่นับผู้ชมที่รับชมพิธีเปิดผ่านการถ่ายทอดสด และการ Live สดผ่านช่องทาง Social Media ทุกแพลตฟอร์ม
เวทีประชัน Soft Power ของทุกชาติที่เข้าร่วมโอลิมปิก
หากจะกล่าวว่า มหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ เป็นเวทีโลกที่เหล่านักออกแบบจะได้แสดงฝีมือการออกแบบชุดให้นักกีฬาประจำชาติของตัวเองก็ว่าได้ หลายประเทศเรียกว่า “ใส่เต็ม” และได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดี และคุ้มค่าที่สุด ซึ่งดูจะหนีไม่พ้น “มองโกเลีย”
ชุดประจำชาติมองโกเลีย ถูกพูดถึงอย่างมาก ทั้งความโดดเด่น เก๋ไก๋ แต่ยังคงเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างดี ชุดถูกออกแบบโดยแบรนด์ Michel & Amazonka (มิเชลและอมาซองกา) ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของมองโกเลีย ที่มีเวลาการออกแบบเพียง 3 เดือน เนื่องจากผู้ชนะการประกวดชุดสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของมองโกเลียประกาศถอนตัว ทำให้แบรนด์ Michel & Amazonka เข้ามาทำหน้าที่แทน
ซึ่งชุดนี้ได้แรงบันดาลใจจากชุด Deel ชุดแต่งกายของชาวมองโกเลียในเทศกาลนาดัม เทศกาลกีฬาประจำชาติของมองโกเลีย แต่ละชุดใช้เวลาในการตัดเย็บเฉลี่ย 20 ชม. และการตอบรับจากผู้คนทั่วโลก ผ่านบทความและการโพสต์บนโลกโซเชียล ทำให้แบรนด์นี้มีชื่อเสียงในระดับโลกไปเป็นที่เรียบร้อย
อีกชาติที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้คือ มาเลเซีย ที่มีชุดสำหรับนักกีฬาที่โดดเด่นไม่แพ้กัน ทั้งความสวย เป็นชุดที่เรียบง่าย แต่ให้ความสง่า ดูเรียบหรู ถูกออกแบบและตัดเย็บจากแบรนด์ท้องถิ่น Rizma Ruzaini ได้แรงบันดาลใจากชุดดั้งเดิมของมาเลเซียที่ชื่อว่า The Malaya
ชุดประจำชาติของนักกีฬาไทยที่ถูกตีตก เสียโอกาส Soft Power ไทย?
ขณะที่ชุดประจำชาติที่ให้นักกีฬาไทยสวมใส่ เมื่อถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์กลับถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งที่นี่เป็นโอกาสที่ไทยจะนำเสนอ Soft Power ของไทย อย่างผ้าไหมไทย ที่หากอยู่บนเวทีแฟชันระดับโลกกลับได้รับความสนใจจากดีไซเนอร์ทั่วโลก
แต่การดีไซน์ชุดพิธีการโอลิมปิกสำหรับนักกีฬาไทย กลับขาดความสร้างสรรค์ ทำให้ความงดงามของผ้าไทยถูกลดทอนไปโดยปริยาย แม้การเลือกสี และลายผ้าก็ไม่อาจช่วยลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้
ขณะที่หลายชาติที่ออกแบบชุดให้นักกีฬาสวมใส่ในพิธีเปิด จะยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของชาติ แต่การดีไซน์ ใส่ลูกเล่นลงไปในบนชิ้นงาน กลับยิ่งทำให้ชุดถูกพูดถึง พร้อมกับคำชมที่มีให้กับแบรนด์ผู้ออกแบบ
ถึงเวลาที่รัฐนาวาไทยต้องจริงจังกับอุตสาหกรรมศิลปะ การแสดง?
รัฐบาลมีโครงการสนับสนุน Soft Power ทั้ง 11 สาขา 54 โครงการ ภายใต้งบประมาณกว่า ห้าพันล้านบาท ยังไม่รวมค่าจัดงาน Soft Power อีก 90 ล้านบาท และงาน World Water Festival
คำถามอาจอยู่ที่ รัฐบาลมีความเข้าใจในงานที่มีความละเอียดอ่อน เช่น งานเกี่ยวกับศิลปะการแสดง งานดีไซน์ อย่างแท้จริงหรือไม่ จะดีกว่าไหม หากภาครัฐมีคนทำงานที่เข้าใจในอุตสาหกรรมนี้อย่างแท้จริง ก่อนที่จะให้การสนับสนุน ให้ความสำคัญ และเหนืออื่นใด คือภาครัฐต้องมองให้เห็นว่า นี่เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ควรสนับสนุน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้กลับเข้าประเทศไทยได้ไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมอื่น