ประโยคดังกล่าว คงเป็นที่คุ้นหูของคนไทยหลายคน เนื่องจากเป็นประโยคเล่นคำที่เอาไว้ท่องแข่งกันตั้งแต่เด็ก แต่หลายคนกลับไม่รู้ว่ายานัตถุ์ทั้งสองยี่ห้อมีอยู่จริง และที่สำคัญคือไม่ได้แก้ทั้งฝีทั้งหิดเลย
ยานัตถุ์ คือ ยาแผนโบราณที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิงของจีน คาดว่าเข้ามาในไทยช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถูกจัดให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน มีลักษณะเป็นยาผง ใช้โดยการเป่าหรือสูดเข้าในจมูก ผ่านกล้องยานัตถุ์ที่เป็นท่อรูปตัวยู (U) จึงเรียกว่ายานัตถุ์ จากคำว่า “นัตถุ์” ที่แปลว่าจมูก
ส่วนสรรพคุณจริงของยานัตถุ์ ไม่สามารถช่วยเรื่องฝีหรือหิดเลย เนื่องจากทั้งฝีและหิดเป็นโรคผิวหนัง แต่ยานัตถุ์ช่วยเรื่องระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ศีรษะลงไป ช่วยแก้อาการปวดหัว บรรเทาหวัดคัดจมูก ทำให้หายใจสะดวกขึ้น
ในด้านของสองหมอติดปากอย่าง “หมอมี” และ “หมอชิต” ก็เป็นยี่ห้อที่มีอยู่จริง และในปัจจุบันก็ยังอยู่คู่ตลาดในรูปแบบที่ร่วมสมัย
หมอมี มีชื่อจริงว่า นายบุญมี เกษมสุวรรณ ผู้ชำนาญด้านยาในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยปรุงยาใน “โอสถศาลา” ร้านยาในสังกัดของกรมพยาบาลเมื่อปี 2434 ต่อมาในปี 2441 หมอมีได้หันมาเปิดธุรกิจส่วนตัว “ ห้างขายยาบุญมีดิสเปนซารี” ปรุงยาแผนโบราณหลากหลาย ยาปัถวี ยาอุทัย ยานัตถุ์ ฯลฯ รวมทั้งยังนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในยาที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ ยานัตถุ์หมอมี ที่ได้ยินกันมากว่า 100 ปี
ในปัจจุบันได้ขยายกิจการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาขนาดใหญ่ จดทะเบียน บริษัท หมอมี จำกัด ในปี 2525 ปรับตัวตามยุคสมัยอยู่ตลอด โดยในปัจจุบันก็เข้ามาเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ด้วย ทั้งการปรับบรรจุภัณฑ์ให้ดูร่วมสมัย และชูสินค้าที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าในแต่ละช่วงวัย รวมถึงการทำการตลาดกับอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่อีกด้วย ช่วยให้หมอมีกลายเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่ไม่เลือนหายไป และคงอยู่ได้อย่างแข็งแรง จากงบการเงินปี 2565 มีรายได้รวมกว่า 67 ล้านบาท ทำกำไรกว่า 8.8 ล้านบาท
หมอชิต มีชื่อจริงว่า นายชิต นภาศัพท์ เคยทำงานในห้างเต็กเฮงหยู ก่อนจะย้ายไปทำงานที่ห้างขายยาเพ็ญภาค เมื่อปี 2462 เมื่อแต่งงานแล้วก็ได้แยกมาตั้งร้านของตัวเอง เป็นที่รู้จักในชื่อร้านขายยาตรามังกร และได้เริ่มปรุงยานัตถุ์จากตำราโบราณของบรรพบุรุษ จนเมื่อวางขายก็เป็นที่นิยมไปทั่ว จากร้านขายยาก็กลายเป็นห้างขายยาตรามังกร ภายหลังก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อหมอชิตแทน
มีการจดทะเบียน บริษัท ยานัดถุ์หมอชิต จำกัด ในปี 2485 ยาวนานกว่า 81 ปี จากงบการเงินปี 2565 มีรายได้รวมกว่า 52 ล้านบาท ทำกำไรกว่า 6.7 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจยาที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน
ปัจจุบันทั้งยานัตถุ์หมอมีและยานัตถุ์หมอชิตยังหาซื้อได้ตามร้านขายยาแผนโบราณ แต่ไม่เป็นที่นิยมนักเนื่องจากมียาแผนปัจจุบันหลายตัวที่ช่วยบรรเทาอาการได้ดีกว่าและสะดวกกว่า