จากข่าวล่าสุดที่มี ผู้สูงอายุ อดีตพนักงาน กฟผ. วัย 81 ปี ถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน 19 ล้านบาท และใช้อุบายหลอกให้นำบ้านไปจำนองขายฝากอีก 3 ล้านบาท ทำให้ผู้สูงอายุโอนเงินจำนวนนี้ไปให้กับมิจฉาชีพ รวมทั้งสิ้น 22 ล้านบาท นี่เป็นอีกหนึ่งกรณีที่เรื่องราวถูกถ่ายทอดให้สาธารณชนได้รับทราบว่า แท้จริงยังมีการหลอกลวงในกลุ่มผู้สูงวัยอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถูกทำให้เป็นข่าว
เราจะถอดบทเรียนจากกรณีแบบนี้ได้อย่างไรบ้าง เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุถูกหลอกลวง จนเกิดการสูญเสียทรัพย์สิน และอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงวัยในไทยกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของมิจฉาชีพ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เพราะเหตุใด ผู้สูงอายุหรือกลุ่มวัยเกษียณ จึงกลายเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มมิจฉาชีพ ต้องยอมรับว่า ผู้สูงอายุไทยจำนวนไม่น้อยที่มีเงินเก็บหลังเกษียณอายุจากการทำงาน หลายแสนจนไปถึงหลักล้าน หรือหลักสิบล้าน จากการทำงานมาตลอดชีวิต บางคนหารายได้เพิ่มหลังเกษียณ ด้วยการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือการออมเงิน และรอผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ซึ่งที่แทบไม่มีความเสี่ยงเลย เรียกได้ว่าผู้สูงอายุไทยกลุ่มนี้ มีความมั่นคงหลังเกษียณประมาณ 5% ของผู้สูงอายุทั้งประเทศ แม้จะเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ แต่ทว่ากลับกลายเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ด้านเหตุผลที่ผู้สูงอายุมักจะถูกหลอกลวงง่ายกว่าคนวัยอื่น เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพจิตใจและอารมณ์ หงุดหงิดง่าย ดื้อ เอาแต่ใจ และบางรายไม่ยอมรับฟังความเห็นของคนรอบข้าง หรือในกลุ่มผู้สูงอายุบางรายที่ใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง ลูกหลานทำงานห่างไกลอยู่คนละจังหวัด หรือคนละประเทศ ทำให้มีการพูดคุยหรือติดต่อกันไม่บ่อยนัก นี่ทำให้โอกาสที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ รวมถึงการเตือนภัย น้อยลงไปด้วย
เหตุผลดังกล่าวจึงง่ายต่อเหล่ามิจฉาชีพที่จะสร้างหลุมพรางและล่อลวงผู้สูงอายุให้ตกหลุมได้ง่ายขึ้น ขณะที่ มิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มักจะใช้จิตวิทยาโน้มน้าว 2 หลัก คือ การอ้างว่ามีอำนาจ (Authority) ซึ่งแน่นอนว่า นี่เป็นการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่มีความหวั่นไหวได้ง่ายอยู่แล้ว เมื่อความกลัวกัดกินในใจแม้เพียงเล็กน้อยรวมถึงความตกใจ ทำให้สติที่มีค่อย ๆ บางลงเรื่อย ๆ และการกดดัน (Scarcity) โดยสร้างข้อจำกัดด้านเวลา หรือใช้รางวัลตอบแทนหลอกล่อ สร้างความรู้สึกเชื่อใจและไว้ใจ นี่เป็นจุดที่ทำให้อารมณ์เข้ามาอยู่เหนือเหตุผล เพราะหากเรายึดประโยคที่ว่า “ของถูกไม่ใช่ของดี ของฟรีไม่มีในโลก” คงไม่มีเหยื่อตกหลุมพรางมิจฉาชีพได้ง่าย ๆ แต่ความกดดันที่มิจฉาชีพสร้างขึ้น ทั้งการกำหนดระยะเวลาอันสั้นทำให้ผู้สูงอายุเร่งรีบโอนเงินเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่มากกว่าเงินที่เสียไป
แนวทางการป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง คือ
– เมื่อได้รับข้อมูลแปลก ๆ ให้พูดคุยกับลูกหลาน ขอคำปรึกษาจากคนในครอบครัว เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันชั้นดี
– แนะนำการเลือกรับสื่อที่น่าเชื่อถือ
– การตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากผู้รู้
– อย่าเชื่อ อย่าแชร์ในทันที
เทคนิคสำหรับบ้านไหนที่มีผู้สูงวัย ควรแนะนำด้วยเหตุผล ใช้คำพูดที่นุ่มนวล ใจเย็น อธิบายช้า หรือติดต่อ 1441 ศูนย์ AOC เพื่อเข้าปรึกษา แจ้งเบาะแส หรือแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง