วันวิสาขบูชานับเป็นวันสำคัญทางศาสนาที่มีความสำคัญมากสำหรับชาวพุทธ เพราะเป็นทั้งวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า จึงเป็นวันสำคัญที่คนแห่เข้าวัดทำบุญกันอย่างมหาศาล แต่นอกจากจะสะท้อนให้เห็นแรงศรัทธาแรงกล้าของชาวพุทธไทย ยังแฝงมาด้วยประเด็นที่ถูกมองข้ามไป นั่นคือเงินทำบุญที่ไหลเข้าวัดมหาศาล แต่ไม่เคยถูกตรวจสอบจากสรรพากรและต้องเสียภาษีเลย
หลายคนคงมีธงในใจพร้อมข้อมูลกฎหมายภาษีที่เคยรับรู้มาอยู่แล้วว่าวัดไม่รวมอยู่ในนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับ “ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล” ซึ่งนิติบุคคลที่ต้องจ่ายภาษีจะมีเรื่องพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ด้วยบทบาทของวัดตามขนบเดิมแล้ว วัดเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการพาณิชย์ จึงไม่รวมอยู่ในนิติบุคคลกลุ่มนี้ ซึ่งตามกฎหมายภาษีที่ว่ามานี้ วัดไม่เสียภาษีมันก็ถูกต้องทั้งหมด เพียงแต่ว่าบางอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่เคยและควรจะเป็น
ในปัจจุบันมีวัดทั่วประเทศไทยกว่า 43,000 วัด จากหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษาหรือศาสนาตอนเรียนประถม เชื่อว่าทุกคนคงเข้าใจเหมือนกันว่า “วัด คือศาสนสถาน อันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน” แต่ก็ยังมีบทบาทอื่น ๆ ที่ปรับตัวให้เข้ากับแต่ละสังคมและยุคสมัย ทั้งเป็นแหล่งรวบรวมศิลปะวัฒนธรรม จัดงานประเพณีต่าง ๆ เป็นสถานสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และจนถึงในปัจจุบัน อาจกลายเป็น “บริษัท” ไปด้วยแล้ว
ถ้าใครได้รับชมซีรีส์เรื่อง สาธุ ที่เข้าฉายทาง Netflix ช่วงก่อนหน้านี้ คงได้เห็นเรื่องราวของวัดในมุมธุรกิจที่ถูกตีแผ่สู่สายตาผู้ชม ซึ่งส่วนใหญ่ก็แทบไม่ต่างจากวัดบ้านที่เราได้พบเจอในชีวิตจริง พุทธพาณิชย์ที่ทำการตลาดกับความศรัทธาของลูกค้าชาวพุทธค่อนประเทศไทย เปลี่ยนแรงศรัทธาให้เป็นเม็ดเงินที่จับต้องได้เพื่อผลประโยชน์ของวัด และได้เปรียบธุรกิจประเภทอื่นอย่างมหาศาลเพราะไม่ต้องจ่ายภาษี ทั้งที่มีกิจซึ่งสร้างรายรับชัดเจน แต่ถูกเลี่ยงบาลีให้ไม่นับว่ารายรับเหล่านั้นเป็น “รายได้”
วัดมีรายรับจากหลากหลายช่องทาง การรับบริจาค ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า พอจะนับให้เป็นการบริจาคแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นรายรับโดยทั่วไปของวัด แต่สิ่งที่เทียบเคียงกับการทำธุรกิจได้อย่างชัดเจนก็มี
การเช่าบูชาวัตถุมงคล จากเดิมที่เคยทำไว้ให้ทหารพกติดตัวไปรบเพราะเชื่อว่ามีพุทธคุณแกร่งกล้า ต่อมาเริ่มแจกจ่ายผู้เลื่อมใสศรัทธาเวลาทำบุญใหญ่ แต่ในปัจจุบันพระเครื่องถูกเช่าบูชากันอย่างแพร่หลาย มีเงินสะพัดกว่าปีละ 50,000 ล้านบาท ทั้งจากที่วัดปล่อยเช่าเองและเซียนในวงการพระเครื่อง เป็นตลาดรีเซลที่ยิ่งใหญ่ก่อนอาร์ตทอยส์จะเข้ามาในไทยเสียอีก
บริการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่มีเรตราคาไว้เสนอไม่ต่างจากทีมอีเวนต์ ทั้งการเสริมสิริมงคล แก้ปีชง ต่อชะตา แก้กรรม รวมทั้งงานบวชและงานศพ ที่หลายครั้งเงินไม่ถึงก็บวชวัดนั้นไม่ได้ เงินไม่พอก็สวดก็เผาวัดนี้ไม่ได้ ทั้งที่เดิมทีเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดมีหน้าที่ช่วยเหลือพุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว
กิจนิมนต์พระสงฆ์ไปตามงานพิธีมงคลต่าง ๆ นอกวัด ไปเทศน์ ไปสอนธรรมะ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่จะไม่เรียกว่าเป็น “ค่าจ้าง” แต่เป็นเงินใส่ซองทำบุญ และกลายเป็นรายรับประเภทที่พระสงฆ์ก็ไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้ ส่วนที่เข้าวัดก็แน่นอนว่าไม่ต้องเสีย
นอกจากนี้ ช่องทางสร้างรายได้สำคัญที่วัดใหญ่ ๆ จะขาดไม่ได้เลยคือ งานวัด เปิดใช้ร้านค้าเข้ามาขายของดึงดูดให้คนมาเดินเที่ยวเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายรับจากการทำบุญช่วงเทศกาลและวันสำคัญต่าง ๆ โดยแลกกับการจ่ายเงินบำรุงวัด หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “ค่าเช่า” บางวัดเลือกใช้โมเดลแบบการประมูล โดยวัดเสนอราคาเริ่มต้นให้ก่อนสำหรับแต่ละพื้นที่ในบริเวณวัด ซึ่งแตกต่างกันไปตามทำเล ยิ่งทำเลดีร้านค้าก็จะยิ่งเสนอราคาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่มีเพดาน จากหลักหมื่นก็ไปจบกันที่หลักแสน ซึ่งในงานมีเป็นร้อยร้าน ไม่ต้องคูณก็รู้ว่าที่วัดได้ หลักล้านยังน้อยไป หรือในบางวัดก็เป็นการจองพื้นที่มาขายสิทธิ์ต่อกัน เป็นธุรกิจอีกชั้นของร้านค้าที่แฝงอยู่ในวงจรนี้
ถึงตรงนี้น่าจะพอเห็นได้ชัดแล้วว่าวัดกับธุรกิจคือสิ่งเดียวกันในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการที่วัดจัดเป็นองค์กรทางศาสนาแล้ว ประเด็นที่พร้อมหักล้างความเป็นธุรกิจทุกอย่าง และกำจัดคำว่า “แสวงหาผลกำไร” ออกไป คือการที่สุดท้ายรายรับเหล่านั้นจะถูกใช้เพื่อประโยชน์ของพุทธศาสนา แต่มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ เหรอ
สิ่งที่ทำให้ความน่าเชื่อถือเรื่องเส้นทางการเงินของวัดเป็นที่น่าสงสัยมาจากสองเรื่องหลัก อย่างแรกคือเมื่อวัดไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามกฎหมายแล้ว จะไม่ต้องยื่นรายรับรายจ่ายส่งสรรพากร แม้จะยังต้องทำบัญชีส่งให้กับสำนักพุทธรวบรวม และส่งต่อให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการไปสุ่มตรวจอีกที แต่บัญชีที่ผ่านมือไวยาวัจกรของวัดนั้นเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน เพราะด้วยรูปแบบรายรับหลากหลายช่องทางและหลักฐานการรับเงินที่มีบ้างไม่มีบ้างทำให้ตรวจสอบยาก สุดท้ายจึงขึ้นอยู่ที่วัดจะเลือกกรอกตัวเลขลงไปเท่าไร
เรื่องที่สองคือความศรัทธาที่ขัดไม่ได้ เพราะหากมีใครระแคะระคายอยากจะตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินวัด ก็อาจถูกผู้เลื่อมใสตั้งแง่ได้ว่าหมิ่นวัดและศาสนา แม้ทางสำนักพุทธจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปร้องเรียนได้โดยตรง แต่ถ้าไม่ฉาวมากก็จับยากจบยาก
เมื่อศรัทธายังบังตาจนแตะต้องไม่ได้ก็ยิ่งเกิดช่องโหว่ให้คนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากวัด คุณอาจเคยได้ยินเรื่องการเอาเงินมาฟอกในวัด เงินทอนวัด รวมถึงการบริจาคแล้วขอใบอนุโมทนาบัตรเกินเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น ล้วนเป็นการหาประโยชน์จากวัดที่เกิดขึ้นบ่อยและไม่เคยหายไป รวมถึงการที่พระสงฆ์ไม่สามารถจัดการเรื่องเงินเองได้ก็เปิดช่องให้คนในวัดยักยอกเงินได้เช่นกัน เรื่องเหล่านี้ต่างหากที่กำลังกัดกินพุทธศาสนา และทำให้พุทธศาสนิกชนเริ่มหมดศรัทธาจนหลายคนเลือกที่จะเลิกทำบุญกับวัดไปแล้ว กลายเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่าการตั้งข้อสงสัยเสียอีก
การมีมาตรการตรวจสอบอย่างจริงจัง และพิจารณาเก็บภาษีจากวัดที่เป็นพุทธพาณิชน์อาจเป็นทางออกที่ดีสำหรับปัญหานี้ อย่างที่ในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ที่มีข้อกำหนดทางภาษีอย่างชัดเจนเพื่อจัดเก็บภาษีกับองค์กรทางศาสนา
สหรัฐอเมริกามี Internal Revenue Code (IRC) หลักปฏิบัติบัติการเสียภาษีสำหรับนิติบุคคล ซึ่งก็รวมถึงองค์กรทางศาสนาอย่างโบสถ์ด้วย โดยทั่วไปจะได้รับการยกเว้นภาษีเพราะเป็นองค์กรสาธารณะกุศล แต่หากมีรายได้จากช่องทางอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาเกิน 1,000 ดอลลาร์ หรือมีคุณสมบัติไม่ครบตามหลักเกณฑ์การเป็นองค์กรทางศาสนาที่ได้รับการยกเว้นภาษี ก็จะต้องยื่นเสียภาษี
ญี่ปุ่นกำหนดให้นิติบุคคลทุกประเภทต้องเสียภาษี รวมถึงวัดด้วย ซึ่งวัดที่ญี่ปุ่นมีการดำเนินการแบบธุรกิจควบคู่ไปด้วยอย่างชัดเจน แต่ก็จะแยกเก็บจากรายได้ 34 ประเภทที่กำหนดให้ต้องเสียภาษีเท่านั้น ซึ่งรวมถึงการจำหน่ายลูกประคำ ดอกไม้ ธูป เทียน หนังสือสวดมนต์ ให้เช่าสถานที่ เก็บค่าที่จอดรถ ในภาพรวมแล้วก็ไม่ได้ต่างจากสิ่งที่วัดไทยทำอยู่เลย แต่วัดญี่ปุ่นเขาทำแบบนี้แล้วเสียภาษีอย่างถูกต้อง ตรวจสอบได้ทั้งหมด
สรุปแล้ววัดไทยได้เปลี่ยนแปลงจากที่เคยมีบทบาททางศาสนาและสาธารณะกุศลเป็นหลักสู่พุทธพาณิชย์ในปัจจุบัน แต่ยังคงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้แบบนิติบุคคล ด้วยเพราะความเชื่อและเกรงศาสนาทำให้ไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง จนเกิดช่องโหว่ให้คนเข้ามาหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากวัดได้ ส่งผลให้ความศรัทธาของชาวพุทธส่วนหนึ่งที่มีต่อวัดน้อยลง จึงอาจถึงเวลาแล้วที่วัดไทยควรมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างจริงจัง รวมทั้งเสียภาษีเงินได้จากการพาณิชย์อื่น ๆ เพื่อกอบกู้ศรัทธาและบำรุงรักษาพุทธศาสนาให้รุ่งเรื่องคู่สังคมไทยต่อไป