เมื่อวันก่อนมีโพสต์จากลุ่มเฟซบุ๊ก Shopee My SPayLater SEasyCash Thailand ที่ถูกแชร์ออกไปอย่างมหาศาล และเป็นการเปิดโลกสำหรับใครหลายคน เพราะเจ้าของโพสต์หาคนรับจ่ายบิลค่าไฟให้ จำนวน 3,079 บาท แลกกับเงิน 2,770 บาท ซึ่งเงินที่ให้มันน้อยกว่าเห็น ๆ และยังไม่พอจ่ายบิลเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งถ้าไปดูในคอมเมนต์ก็จะเห็นว่ามีคนเข้ามาหาคนรับจ่ายแบบเดียวกันอีกจำนวนมาก ทำให้หลายคนเกิดสงสัยว่าเขาทำไปทำไม ในบทความนี้ Connect the Dots จะช่วยอธิบายให้เข้าใจทั้งระบบของการรับฝากจ่าย รวมถึงความคุ้มค่าและความเสี่ยงด้วย
[Buy Now Pay Later]
การฝากจ่ายบิลที่ว่าเขาทำกันผ่านระบบซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หรือ Buy Now Pay Later (BNPL) ที่มีบนแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ เป็นบริการสินเชื่อที่ให้เครดิตเงินแก่ผู้ใช้เพื่อใช้จ่ายซื้อของบนแอปหรือบริการที่รองรับได้ วงเงินเริ่มต้นตั้งแต่หลักพันยันหลักหมื่น และยิ่งใช้จ่ายผ่านเครดิตนี้เยอะ ก็จะสูงขึ้นไปด้วย จนอาจได้วงเงินสะสมสูงสุดหลายหมื่นบาท
ซึ่งถ้าใครเคยใช้ก็จะพอรู้ว่าระบบนี้มันมีข้อดีที่เป็นจุดเด่นคือเข้าถึงง่ายมาก ไม่ต้องตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวหรือเครดิตการเงินมากมายเหมือนการขอสินเชื่อทั่วไปหรือทำบัตรเครดิตกับธนาคาร แต่ไม่จำเป็นต้องมีสลิปเงินเดือน นั่นทำให้ใคร ๆ ก็สามารถมีเครดิตก้อนนี้ได้แม้ไม่มีรายได้ประจำ นอกจากนี้ก็ยังไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี ไม่มีภาระผูกพัน ผ่อนหมดก็จบเป็นชิ้น ๆ ไป และยังสามารถเลือกจำนวนงวดผ่อนชำระได้ตามเหมาะสม ตั้งแต่ 1-12 เดือนเลย
แต่ข้อเสียที่ชัดเจนของระบบนี้ก็มี นั่นคือข้อจำกัดในการใช้จ่าย จะสามารถใช้จ่ายซื้อของบนแพลตฟอร์มหรือบริการที่รองรับเท่านั้น ไม่สามารถถอนออกมาเป็นเงินสดเพื่อใช้จ่ายอย่างอิสระได้เหมือนสินเชื่อและบัตรเครดิต และดอกเบี้ยในบางรายการก็อาจสูงมาก ถ้าหากผิดนัดชำระก็อาจมีค่าธรรมเนียมการจ่ายล่าช้าเพิ่มเข้าไปอีก
[เหลี่ยม]
ด้วยข้อเสียหลัก ๆ อย่างการไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ ก็ทำให้หลายคนเริ่มมองหาวิธีการจากช่องโหว่ของระบบ ซึ่งช่องโหว่ที่ว่าคือการจ่ายบิลให้ “ใครก็ได้” ไม่จำเป็นต้องเป็นบิลของตัวเอง จึงมีวิธีการเปิดรับฝากจ่ายบิลด้วยเครดิตในระบบ Pay Later ที่ตัวเองมี แลกกับการที่เจ้าของบิลจะต้องให้เงินสดกับคนรับฝาก โดยจะหักเปอร์เซ็นต์ไปตามที่ตกลงกัน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 10-15% แต่ในบางครั้งก็อาจหักมากถึง 25% เลย
[ประโยชน์…?]
ประโยชน์ที่คนรับฝากจ่ายจะได้คือ ได้เปลี่ยนเครดิตในแอปที่มีมาเป็นเงินสด เพื่อนำไปใช้จ่ายอย่างอิสระนอกแพลตฟอร์ม ส่วนประโยชน์เจ้าของบิลจะได้คือ จ่ายบิลค่าบริการต่าง ๆ ในราคาที่ถูกลงตามเปอร์เซ็นที่หักไป
ดูภาพรวมก็เหมือนจะเป็นข้อตกลงแบบ วิน-วิน แต่ถ้าลองไตร่ตรองดี ๆ เราอาจพบว่ามีคนได้ไม่คุ้มเสีย เพราะแม้เจ้าของเครดิต หรือผู้รับฝากจ่ายจะได้เงินสดจากแอปออกมาใช้จ่าย แต่อย่าลืมว่าเงินก้อนนี้มาจาก “เครดิต” ซึ่งหมายความว่า “ต้องชำระคืน” ซึ่งนอกจากจะต้องจ่ายคืนในจำนวนเงินที่มากกว่าที่ได้รับมา (เพราะถูกหักเปอร์เซ็นไป) ก็อาจมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นด้วยหากผ่อนชำระหลายงวด หรือผิดนัด ทำให้ในระยะยาวแล้วมันก็ไม่คุ้มอยู่ดี และยัง “เข้าเนื้อ” อีกต่างหาก แม้จะมีคูปองส่วนลดหรือโบนัสเงินคืนบ้างแต่ก็มักมีเงื่อนการใช้จ่ายตามมาอยู่ดี
[ความเสี่ยง: หนี้บานปลาย, โกง]
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงแอบแฝงของตัวระบบ BNPL เอง ด้วยการให้เครดิตที่เข้าถึงง่ายมาก ๆ นั่นอาจทำให้คนที่มีความเข้าใจในการเงินต่ำเข้าถึงเครดิตก้อนนี้ได้ด้วย ซึ่งพวกเขาอาจใช้จ่ายเกินตัวและไม่สามารถจ่ายคืนได้ กลายเป็นหนี้เสียสะสม ต้องมาจ่ายดอกมากขึ้น บางคนค้างชำระไว้หลายเดือนจนถึงเป็นปี หรือถึงขั้นที่บางคนเข้าไปใช้เครดิตก้อนนี้แล้วไม่จ่ายคืนเลย นี่แค่บนแพลตฟอร์มที่มีข้อจำกัดในการใช้จ่ายเท่านั้น ลองคิดดูว่าเมื่อเครดิตก้อนนี้กลายเป็นเงินสดที่ใช้ได้อย่างอิสระจะบานปลายได้มากขนาดไหน
ในฝั่งของเจ้าของบิลที่ฝากจ่าย ก็ต้องรับความเสี่ยงในการถูกโกงด้วย เพราะมันคือข้อตกลงที่ไม่ผ่านระบบ จากคนสู่คนโดยตรง ซึ่งโกงกันได้ไม่ยาก แม้บางครั้งจะมีคนกลางเข้ามาช่วยรับเงินไว้ก่อนก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ดูน่ากังวลน้อยลงเลย เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ต้องจ่ายเงินก่อนอยู่ดี และด้วยความที่ไม่มีระบบรองรับเงินที่จ่ายไปแล้วจึงไม่สามารถดึงกลับมาได้ (จ่ายบิลก็จ่ายก็จ่ายไปนอกแพลตฟอร์ม ไม่เหมือนการซื้อสินค้าในแอปที่คืนเงินคืนของได้) ตามกลุ่มที่คุยกันหาคนรับจ่ายแบบนี้จึงมักมีการแจ้งเตือนคนโกงอยู่เสมอ
[สุดท้ายก็ต้องจ่าย]
โดยสรุปแล้ววิธีนี้คือการดึงเงินในอนาคตมาใช้โดยเสียค่าแลกมา และฉีกกรอบการใช้มันออกไป ทำให้ความเสี่ยงในการสร้างหนี้ และภาระที่ต้องจ่ายมากขึ้น มีข้อเสียที่มากกว่าข้อดีอย่างเห็นได้ชัด แต่ถึงอย่างนั้นคนจำนวนไม่น้อยก็ยังเลือกที่จะทำอยู่ ซึ่งเหตุผลของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป และเชื่อว่าหลายคนก็อาจมี “ความจำเป็น” บางอย่าง ที่คนไม่ทำก็อาจไม่เข้าใจ แต่ไม่ว่าใครจะทำหรือไม่ทำ ทุกคนควรมีความรู้ความเข้าใจทางการเงินให้มากพอ และประเมินตัวเองให้ได้ก่อนจะใช้จ่ายอะไร เพราะสุดท้ายแล้วจะเงินสดหรือเครดิตจากไหนเราก็ต้องหามาจ่ายอยู่ดี
เครดิตหรือสินเชื่อถ้าเราใช้อย่างฉลาดมันจะเป็นผลดีกับสภาพคล่องของเรามาก แต่ถ้าเราประมาทมันอาจทำให้การเงินเราพังเลยก็ได้