ปัจจุบันมีการพูดเรื่องประเด็น Work-Life Balance กันมากขึ้น และก็เรียกว่ามันเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดมาเรื่อย ๆ แบบที่มีใครจุดประเด็นทีก็จะมีการเถียงกันบ่อย
สิ่งที่เราอยากพูดก็คือ ประเด็นนี้เอาจริง ๆ มันมีความ “เฉพาะเจาะจง” มาก ๆ ในทางประวัติศาสตร์ และนี่ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่จะยกมาอภิปรายเพื่อจะเข้าใจ “ปัญหา” นี้แล้ว อย่างแรกเลย ถ้าถามว่า “ปัญหา” Work-Life Balance นี่เริ่มมาเมื่อไร เอาจริงๆ นี่น่าจะเป็นเรื่องที่พูดกันมาไม่น่าเกิน 20 ปีแน่ ๆ เพราะถ้าใครแก่พอและเริ่มทำงานเมื่อราว ๆ 20 ปีก่อน มันไม่มีใครพูดเรื่องนี้ จริง ๆ เรื่องพวกนี้ถูกพูดมากขึ้นเต็มที่ไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง และมันมาพร้อมกับศัพท์แสงสารพัดที่เกิดมาเพื่อบรรยายความทุกข์ระทมในการทำงาน
โดยก็ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้เอง เรา “นำเข้า” คอนเซ็ปต์พวกนี้มาจากโลกภาษาอังกฤษ หรือให้ตรงคือสหรัฐอเมริกาอีกที โดยคอนเซ็ปต์พวกนี้ไม่เป็นที่พูดถึงในยุโรปด้วยซ้ำ
แต่ก่อนจะลงลึกไปซับซ้อนกว่านี้ เราขอย้อนก่อนว่า “ปัญหา” นี้เริ่มต้นอย่างไร
คือมนุษย์ในอดีต การแยก “งาน” ออกจาก “ชีวิต” มันมากับการเกิด “ที่ทำงาน” เพราะคนในอดีต “บ้าน” กับ “ที่ทำงาน” คือที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในสังคมเกษตร หรือพวกนายช่างในสังคมยุคสมัยใหม่ตอนต้น
การแยก “บ้าน” กับ “ที่ทำงาน” ออกจากกันมันเป็นจุดแรกที่ทำให้ “ชีวิต” และ “งาน” แยกออกจากกันได้ และในทางประวัติศาสตร์ สิ่งนี้เกิดมากับการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเกิด “โรงงาน” ให้คนออกนอกบ้านมาทำงานหนักๆ เป็นเวลานาน
ขบวนการแรงงานในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ไม่ได้พูดเรื่อง Work-Life Balance แต่เค้าพูดเรื่องการจัดการเวลาทำงาน การมีวันหยุด การมีค่าแรงขั้นต่ำ และการที่ทุกวันนี้เรามีวันหยุด มีกฏหมายแรงงานคุ้มครองคือผลผลิตของการต่อสู้ของยุคนั้นทั้งนั้น
แต่ละชาติมีการต่อสู้ที่ต่างกันตามขบวนการแรงงาน ชาติภาคพื้นทวีปยุโรปมีการต่อสู้อย่างหนัก สร้างมาตรฐานสิทธิแรงงานสูงลิบ มีวันให้เลือกลาหยุดขั้นต่ำปีละ 20 วัน มีการจำกัดชั่วโมงการทำงานชัดเจน และก็มีแนวโน้มจะลดชั่วโมงทำงานลงด้วยเพื่อสู้กับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งสังคมแบบนี้ก็ไม่แปลกที่คนมันจะไม่คุยกันเรื่อง Work-Life Balance ใดๆเพราะกฎหมายแรงงานมันสร้างสมดุลให้ชีวิตในตัวอยู่แล้ว มันบังคับให้คนไม่ทำงานหนักเกินไป พร้อมกันนั้นมันก็มีระบบภาษีที่ถูกออกแบบมาให้ดูแลคนได้ทั้งชีวิต แบบจ่ายภาษีหนักๆ พอแก่ไปรัฐเลี้ยง ไม่ต้องมีการทำงานหนัก เก็บเงินลงทุนเองเพื่อจะให้ตอนแก่มีเงินใช้
แต่ที่นี้ทำไมปัญหานี้เกิดในสหรัฐอเมริกา คำตอบเร็วๆ คือเพราะสังคมมันมี “เสรีภาพในการเลือก” ที่อาจจะมากเกินไป
ในอเมริกา แต่ไหนแต่ไรมามันมีการบูชาการทำงานหนักเพื่อ “ความสำเร็จ” อยู่แล้ว สังคมที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ มีเงินจ่ายพอจะให้คนที่อยากทำงานหนักได้ทำงานหนักและได้ค่าตอบแทนที่สาสม ซึ่งอเมริกามันไม่มีระบบรัฐสวัสดิการเลี้ยงคนแก่ คืออยากมีเงินใช้ตอนแก่ก็ต้องเก็บออมเอง (แต่มันก็มีระบบลดหย่อนภาษีอะไรก็ว่าไป) วิธีคิดพื้นฐานมันคือคนต้องถูก “บังคับให้ทำงาน” ไม่งั้นคนก็จะไม่ทำงาน แต่กลับกันถ้าคนทำงานหนักก็จะมี “รางวัล” มากมายในชีวิต และระบบทำนองนี้ก็แพร่ไปพร้อมๆ กับอิทธพลของอเมริกาช่วงสงครามเย็น และก็จะบอกว่ามันเป็นบุคลิกของทุนนิยมในสไตล์อเมริกันก็ได้ ซึ่งแม้ว่าบางชาติจะมีการปรับให้รับมีมีระบบบำนาญเลี้ยงดูคนแก่แบบถ้วนหน้าอยู่บ้าง แต่หลักๆ คือแนวโน้มก็คือคนแก่ไปมากๆ ก็จะมีเงินไม่พอใช้อยู่ดี และนี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศอย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือกระทั่งเกาหลีใต้ และนี่คือเหตุผลที่มันจะมีแรงกดดันให้ “ทำงานหนัก แก่ไปจะได้มีพอใช้”
ประเด็นคือในชาติที่มีระบบเศรษฐกิจแบบให้คนเลือกจะออมเงินเพื่อจะมีชีวิตรอดตอนแก่แบบนี้ ยังไงคนมันก็เครียด คนมันก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานเก็บเงินแบบยอมเสียสุขภาพแลกเงิน ซึ่งเราก็จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มันก็มีระบบการทำงานที่ “ใช้งานคนจนตาย” กันแบบไม่แปลกอะไร และก็มีวัฒนธรรมบูชาการทำงานหนักแบบบ้าคลั่งกัน
และในบริบทแบบนี้ ก็ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้นที่จะมีคนสักคนลุกขึ้นมาบอกทุกคนว่า “เราทำงานหนักกันเกินไปแล้ว” และพอหลังปี 2008 อเมริกาเกิดวิกฤตหนักระบาดไปทั่วโลก การมองโลกแบบสดใสก็หายไป คน Gen Y คือคนรุ่นแรกๆ ของอเมริกาที่รู้สึกว่าแม้แต่ประเทศที่จ่ายเงินดีอย่างอเมริกานั้น “ทำงานหนักไปก็ไม่ได้อะไร” เพราะทำงานหนักไปสิ่งที่ได้ก็แค่จ่ายหนี้ กยศ. จ่ายค่าเช่าที่แพงหูฉี่ และไม่มีเงินเก็บด้วยซ้ำ ซึ่งทั้งหมดในทางสถิติคำอธิบายก็ชัดเจนมากๆ ว่ามันเกิดจากการที่ค่าแรงไม่ได้ขยายตัวขึ้นเท่ากับราคาสินค้าต่างๆ โดยปรากฎการณ์นี้เริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ที่อเมริกาเริ่มทำลายสหภาพแรงงานตามแนวทางแบบ “เสรีนิยมใหม่” ของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน
เราคงไม่เล่าเรื่องอเมริกาทศวรรษ 1980 ในที่นี้ แต่ประเด็นคือปัญหามันค่อยๆ สะสมมาตั้งแต่ตอนนั้น และมาระเบิดปี 2008 ทำให้คนรุ่นใหม่ “ตื่นขึ้น” และรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ได้ให้รางวัลอะไรเลย ทำงานหนักไปก็ไม่ได้รางวัลสาสม ดังนั้นขอมี Work-Life Balance ดีกว่า ซึ่งความหมายมันหลักๆ ก็คือ การเรียกร้องให้มนุษย์ระดับ “ปัจเจก” มีสมดุลในชีวิต
สิ่งที่ต้องสังเกตก็คือ ประเด็น Work-Life Balance มันถูกยกมาในเชิงปัญหาระดับปัจเจก ซึ่งเอาจริงๆ ในอดีตปัญหาทำนองเดียวกันเป็นปัญหาแบบ “รวมหมู่” ที่มีการจัดองค์กรสิทธิแรงงานและตั้งสหภาพแรงงานเรียกร้องทั้งนั้น
พูดง่ายๆ ก็คือ การเรียกร้องจนทำให้มีการจำกัดชั่วโมงทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมถึงการมีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มันก็คือการเรียกร้อง Work-Life Balance ของคนรุ่นก่อนน่ะแหละ ความต่างคือขบวนการเรียกร้องพวกนี้ไม่ได้หายไปในยุโรป มันมีการเรียกร้องวันหยุดเพิ่ม ค่าแรงเพิ่ม ดังนั้นคนยุโรปก็จะไม่มีปัญหาพวกนี้ แต่กลับกัน ในอเมริกาขบวนการแรงงานถูกทำลายไปในทศวรรษ 1980 ปัญหาพวกนี้ก็เลยเริ่มสะสม และมาระเบิดเอาในปี 2008
ใช่ครับ นี่คือการบอกว่าถ้ามีขบวนการแรงงาน มีสหภาพแรงงานที่งานแข็งขัน เราจะไม่ต้องมาคุยกันเรื่อง Work-Life Balance กัน ซึ่งนี่คือสิ่งที่คนยุโรปเป็น เพราะคนยุโรปไม่คุยเรื่องนี้ เพราะการต่อสู้ของขบวนการแรงงานมันทำให้ชีวิตการทำงานปกติมีสมดุลที่เหมาะสมไปตลอดชีวิตอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่มองว่าการทำงานและรายได้แบบนี้เหมาะสมแล้ว มันก็เลยไม่ใช่ “ปัญหา”
ดังนั้นในแง่นี้ปัญหา Work-Life Balance มันเลยเป็นปัญหาของประเทศที่ดำเนินเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตามแนวอเมริกา หรือให้ตรงก็คือเป็นประเทศที่ไม่มีขบวนการแรงงานมาถ่วงดุลการใช้งานผู้คนของระบบทุนนิยมนั่นเอง (เพราะเอาจริงๆ แม้แต่จีนก็มีปัญหานี้ แต่สิ่งที่ตลกร้ายจีนก็คือประเทศที่ไม่มี “ขบวนการแรงงาน” มาถ่วงดุลภาคธุรกิจเหมือนอเมริกาน่ะแหละ)
แต่ที่เล่ามาทั้งหมด ก็ไม่ได้หมายความว่ายุโรปจะดีไปหมด เพราะหลายประเทศ กฎหมายแรงงานแข็งจนไม่ต้องคุยกันเรื่อง Work-Life Balance ก็จริง แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่แข็งตาม สิ่งที่จะต้องคุยกันในสังคมก็คือเรื่องการไม่มีงานทำ เพราะฝั่งยุโรปนี่อัตราการว่างงานสูงกว่าอเมริกาเยอะ กฎหมายแรงงานยิ่งแข็งก็ยิ่งทำให้ต้นทุนแรงงานสูง ซึ่งถ้าไม่จัดการทางเศรษฐกิจดีๆ มันก็จะทำให้ค่าแรงสูงเกินภาคธุรกิจจะดำเนินกิจการได้ และผลก็คือมีงานน้อยเกินไป คนตกงาน
และนี่ก็นำเรากลับมาเมืองไทย ซึ่งเป็นประเทศที่อัตราว่างงานต่ำเป็นระดับโลก เป็นประเทศที่ “หางานง่าย” แบบนี้แหละที่คนมันจะคุยเรื่อง Work-Life Balance กัน เพราะสุดท้าย ลักษณะทางเศรษฐกิจของประเทศแนวนี้คืองานหาง่าย แต่รายได้น้อย ซึ่งคนอยากได้เงินเยอะๆ ก็ต้องทำเยอะ และทำได้แบบไม่มีลิมิตเพราะกฎหมายแรงงานมันไม่แข็งแรง
ซึ่งสังคมที่อนุญาติให้คนทำงานรายได้น้อยแบบเต็มที่กับชีวิตแบบนี้แหละ คนมันถึงจะคุยกันเรื่อง Work-Life Balance
เขียนโดย อนาธิป จักรกลานุวัตร