เด็กเกิดน้อย คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก
คือปัญหาที่หลายต่อหลายประเทศเจอในตอนนี้ ยิ่งประเทศพัฒนาแล้ว ต่อให้ไม่พัฒนาขนาดประเทศโลกที่หนึ่ง ก็เจอปัญหานี้กันหลายต่อหลายประเทศ เพราะดูเหมือนคนยุคใหม่ ไม่ได้มองอนาคตว่าสดใส ชวนให้มีลูกเพื่อความสุขแบบสมัยก่อนแล้ว และประเทศไทยเราเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เจอปัญหานี้ คนอายุยืนยาวขึ้น แต่เด็กเกิดใหม่น้อยลง กลายเป็นปัญหาที่ชวนปวดหัวกันยาวๆ
แต่เมื่อพูดเรื่องนี้ขึ้นมา ก็คงไม่มีประเทศไหนถูกกล่าวถึงเท่ากับประเทศญี่ปุ่น ที่ไปสุดทางทั้งสองด้านคือ เด็กเกิดใหม่น้อย และคนอายุยืนยาวมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหากันมาตลอด
แน่นอนว่า จะไปหวังให้คนอายุสั้นลงกันหมดก็ไม่ได้ ทางเลือกคือ ต้องพยายามหาทางกระตุ้นให้เด็กเกิดใหม่ให้เยอะที่สุดนั่นแหละครับ
แต่ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลกลางอย่างเดียว เพราะญี่ปุ่นกระจายอำนาจลงระดับท้องถิ่น และท้องถิ่นแต่ละที่ก็ต้องการเพิ่มประชากรเพื่ออนาคตของท้องถิ่นตัวเอง จึงมีแนวทางและแผนการเพิ่มจำนวนประชากรที่แตกต่างกัน เพราะแน่นอนว่า แต่ละเมือง แต่ละเขต ก็มีปัญหา และจุดเด่นไม่เหมือนกัน จึงเป็นที่มาของแนวทางในการแก้ปัญหาที่ต่างกัน
ถ้าจะให้ไล่ทั้งประเทศญี่ปุ่น คงไม่ไหว เพราะเมืองเล็กๆ ในต่างจังหวัด ก็มีวิธีการสารพัดของเขา คราวนี้เลยขอลดสเกลลงมาหน่อย คือ เน้นโตเกียว และเขตโทชิมะที่ผมอาศัยอยู่ตอนนี้ก่อนครับ
ที่บอกว่า ต้องพูดถึงเขตโทชิมะ เพราะว่า ที่ญี่ปุ่น เขาแยกกันบริหารงานระดับเขตครับ และแต่ละเขตก็แข่งกันพยายามจูงใจให้คนมาอาศัยอยู่ในเขตของตัวเอง เพื่อที่จะเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น ดังนั้น ก็กลายเป็นประโยชน์ของประชาชนที่หน่วยงานรัฐพยายามแข่งขันกันเพื่อดึงให้คนมาอยู่ ทำให้ได้สวัสดิการอะไรต่อมิอะไร และเป็นการกระตุ้นหน่วยงานรัฐให้ทำงานหนักอีกด้วย เพราะนี่คือปัญหาของหน่วยงานโดยตรง ไม่ใช่ทำงานไปวันๆ ไม่ได้คิดพยายามอะไร ไม่งั้นภาษีที่เก็บได้ก็ลดลง ส่งผลถึงงบประมาณโดยตรงครับ
และแนวทางการกระตุ้นให้คนสร้างครอบครัวและมีลูกได้ดีสุด (เท่าที่รัฐจะทำได้) ก็คงหนีเรื่อง สวัสดิการ ไม่พ้นครับ
ก่อนอื่นเรื่องต้องขอออกตัวก่อนว่า สาเหตุที่ผมเลือกย้ายกลับมาที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2019 ก็เพราะว่าต้องการเลี้ยงลูกที่ญี่ปุ่น เพราะดูสวัสดิการ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ แล้ว น่าจะเหมาะกว่าที่กรุงเทพครับ พอชั่งน้ำหนักนั่นนี่ได้แล้ว ก็ตัดสินใจย้ายกลับมานี่แหละครับ
แต่ก่อนไปเรื่องโตเกียว ตอนแรกผมอาศัยอยู่ที่บ้านภรรยาที่จังหวัดกิฟุก่อน แต่ตอนนั้น เรื่องการฝากครรภ์ และการคลอด ก็ได้สวัสดิการที่ดีมากๆ ครับ คือไปเช็คแต่ละครั้ง ค่าใช้จ่ายก็น้อยมาก และยิ่งตอนคลอดคือ คลอดที่โรงพยาบาลเอกชน ที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านนี้โดยเฉพาะ และหลังคลอดก็พักที่โรงพยาบาลเกือบหนึ่งสัปดาห์ในห้องแยก มีการสอนการให้นมเด็ก อธิบายนั่นนี่ละเอียดมาก
แต่ ตอนออกจากโรงพยาบาล มีค่าใช้จ่ายรวมๆ ประมาณหมื่นบาทไทยเท่านั้นครับ เพราะรัฐเขาช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการคลอดไปซะเยอะเลยครับ ลองคิดดูว่า ถ้าคลอดในโรงพยาบาลเอกชนในเมืองไทย ก็เหนื่อยแล้วล่ะครับ
นอกจากนี้แล้ว โชคดีที่ทั้งบ้านภรรยาผมที่กิฟุ และที่เขตโทชิมะที่ผมอยู่ตอนนี้ ทั้งสองที่ คือ ถ้าเกิดป่วยหรือเป็นอะไรขึ้นมา ได้รับการยกเว้นค่ารักษาพยาบาลและค่ายาทั้งหมดครับ ของเขตโทขิมะคือ ซัพพอร์ตจนเรียนจบมัธยมปลายครับ แค่นี้ก็แทบจะกราบแล้ว เพราะถ้าต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลนี่ จะพาลูกไปรักษาแต่ละครั้งคงหนักใจครับ นี่ลูกชายผมก็มัปัญหาระบบทางเดินหายใจหน่อย คือแพ้อากาศง่าย ไปหาหมอแบบสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ก็ไปได้แบบไม่ต้องคิดอะไรเลย จ่ายยาทีก็ฟรีหมดครับ (แต่แน่นอนว่าผู้ปกครองก็ต้องจ่ายเงินเข้าระบบประกันสุขภาพของรัฐครับ) ผมเคยคุยเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงานที่อยู่ต่างจังหวัด พอบอกว่า ค่ารักษาลูกฟรี เขาได้แต่อึ้งกับ เพราะที่เขาอยู่คือแค่ได้ส่วนลดเท่านั้น
แต่ เรื่องการเลี้ยงเด็กก็ไม่ได้มีแค่เรื่องการคลอดหรือการรักษาพยาบาลเท่านั้น เพราะชีวิตคนๆ นึงยังอีกยาวครับ ดังนั้น เขาก็พยายามที่จะมีสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้การเลี้ยงดูเด็กจนโตไม่ลำบากมากนัก จนแบ่งเป็นหมวดได้
เงินอุดหนุนการเลี้ยงดูเด็ก
ที่เขตโทชิมะ จะถ้าคุณมีลูก จะมีเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่เกิด จนอายุ 3 ขวบ ตกเดือนละ 15,000 เยน โอนเข้าบัญชีทุก 4 เดือน และหลังจากนั้นจะได้เดือนละ 10,000 เยน จนเรียนจบระดับมัธยมต้น ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ แต่ถ้ามีลูก 3 คนขึ้นไป คนที่สามจะได้เดือนละ 15,000 เยน จนเรียนจบระดับประถม ก่อนจะปรับเป็น 10,000 เยนจนจบมัธยม
พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับมีเงินค่าขนมให้เด็กไปตลอดจนเรียนจบการศึกษาภาคบังคับนั่นแหละครับ
สถานเลี้ยงดูเด็ก และการศึกษา
หนึ่งในปัญหาใหญ่ของสังคมญี่ปุ่น ที่ทำให้คนไม่ค่อยอยากมีลูกคือ นอกจากพอมีลูกแล้ว หลายครั้งฝ่ายภรรยา ก็ต้องลาออกจากงานมาเพื่อเลี้ยงลูก ทำให้รายได้รวมครอบครัวลดลง ทั้งที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น
ถ้าเป็นยุคฟองสบู่ ที่เงินเดือนพนักงานบริษัทสูงพอเลี้ยงทั้งครอบครัวได้ โดยที่ฝ่ายภรรยาเป็นแม่บ้านเต็มตัว ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่พอยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจไม่ดีเหมือนเดิม ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกันทำงานหาเงิน จะมีลูกแล้วต้องออกจากงานมาเลี้ยงก็ดูเป็นตัวเลือกที่ไม่ดึงดูดเลย ทำให้รัฐบาลสมัยอดีตนายกฯ ชินโซะ อาเบะ ต้องการให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น จึงผลักได้ให้เพิ่มปริมาณ สถานเลี้ยงดูเด็กเล็ก หรือ เนิร์ซเซอรี่ ที่สามารถฝากเด็กตั้งแต่เช้าจนเย็นขนาดทุ่มนึงได้ เพื่อให้ทั้งสองคนไปทำงานได้
แต่ปัญหาคือ คนมาทำงานสถานรับเลี้ยงดูเด็กน้อย เพราะงานหนักแต่รายได้ไม่ค่อยดี ทำให้ไม่สามารถเปิดได้อย่างที่คาดหวัง ทำให้มีครอบครัวต้องรอคิวเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กไม่น้อย ซึ่งเขาก็จะมีคะแนนพิจารณาหลายอย่าง เช่น รายรับของครอบครัว หรือถ้าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็จะได้รับโอกาสก่อน แต่ไม่ว่าจะกรณีไหน เงื่อนไขคือ ต้องทำงานทั้งคู่ครับ เพราะเขาจะมีการเช็คเรื่องการทำงานตลอด
และจุดเด่นของเขตโทชิมะในตอนที่ผมย้ายมาคือ ใน 23 เขตของโตเกียวชั้นใน มีแค่เขตโมชิมะ และสุกินามิ ที่ไม่มีเด็กต้องรอเข้าเนิร์ซเซอรี่ พูดง่ายๆ คือ มีจำนวนพอ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าเข้าได้เลยนะครับ ก็ต้องมีการยื่นเอกสารและรอเรียก และเขาจะจัดให้ว่าจะได้เข้าเนิร์ซเซอรี่ไหน แต่เพราะเข้าได้นี่แหละครับ ทำให้ทั้งผมและภรรยาก็ทำงานได้ทั้งคู่
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ช่วงอายุ 0 ถึง 3 ขวบ เขาจะพิจารณาจากรายรับครอบครัวครับ แต่ช่วงอายุ 3 ถึง 5 ขวบ ก่อนเข้าประถม คือ ฟรี และตรงนี้คือรวมค่าอาหารกลางวันและกิจกรรมต่างๆ ในตัวนะครับ จัดว่าช่วยได้เยอะเลย (ส่วนโรงเรียนอนุบาล เหมาะกับครอบครัวที่ไม่ต้องออกไปทำงานหรือเป็นแม่บ้านเต็มตัว เพราะต้องรับลูกกลับตั้งแต่ประมาณบ่ายสามโมงครับ) ทุกวันนี้ผมก็ยังทึ่งที่เขาจัดบริการตรงนี้ให้ฟรี จนรู้สึกว่า จ่ายภาษีไปก็ได้บริการดีๆ กลับมาจริงๆ ครับ
นอกจากนี้แล้ว ถ้าเรียนระดับประถมและมัธยมต้น ในโรงเรียนรัฐ ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับแล้ว ก็ไม่มีค่าเล่าเรียน จะมีก็แต่ค่าตำรา อุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรม รวมถึงค่าอาหารกลางวัน ซึ่งจัดว่าไม่น้อยเลย แต่ เขาเพิ่งประกาศเมื่อปีก่อนว่า จะละเว้นค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนในเขต ฟรีหมด ครับ ผมเห็นทีแรกยังแทบไม่เชื่อสายตาเลย
นอกจากนี้แล้ว เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทางกรุงโตเกียว ได้ประกาศว่า สำหรับระดับมัธยมปลาย ให้เด็กเรียนได้เรียนฟรี ไม่มีค่าเล่าเรียนหมด ไม่ว่าจะโรงเรียนของรัฐหรือของเอกชน โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องรายได้ผู้ปกครอง เรียกได้ว่า เฮกันหมดครับ นอกจากนี้แล้ว ถ้าใครมีลูก 3 คน (อีกแล้ว) คนที่สามจะได้เรียนมหาวิทยาลัยฟรีอีก แต่เท่าที่ดูสัมภาษณ์ หลายคนก็บอกว่า ไม่ได้ง่ายเลยนะเนี่ย
สภาพแวดล้อม
ที่เขตโทชิมะเขาพยายามให้สวัสดิการขนาดนี้ เพราะที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของเขตดูน่ากลัว ไม่น่าอาศัย คนลดลงเรื่อยๆ ทำให้เขาต้องการพยายามปรับภาพลักษณ์ใหม่หมด เป็นเขตที่เป็นมิตรต่อครอบครัวรุ่นใหม่มากขึ้น
จากสวนสาธารณะใหญ่ใกล้สถานี ที่บรรยากาศไม่ค่อยดี มีคนไร้บ้านอาศัยเยอะ เขาก็ตัดสินใจ โค่นต้นไม้ใหญ่ตรงกลางออก เพื่อให้โล่ง (แต่ต้นไม้ด้านข้างยังเก็บไว้นะครับ) และปรับสภาพเป็นสนามหญ้าใหญ่ๆ มีเครื่องเล่นเด็กด้านหนึ่ง และมีร้านกาแฟและอาหารง่ายๆ อีกด้านหนึ่ง กลายเป็นสวนฮอดฮิต ที่ใครว่างก็ไปนั่งเล่นได้ มีการจัดงานกิจกรรมต่างๆ ที่นี่อยู่ประจำ นอกจากสวนนี้แล้ว เขาก็ยังจัดพื้นที่ให้เด็กได้เล่นให้มาก และกำลังปรับปรุงพื้นที่รอบสถานีใหม่ ให้กลายเป็นถนนคนเดินเป็นหลักไป เป็นโครงการระยะยาวครับ
นอกจากนี้แล้ว ด้วยความที่บ้านคนญี่ปุ่นพื้นที่น้อย ในแต่ละ หมู่ ก็จะมีสวนสาธารณะของหมู่นั้นๆ ครับอาจจะเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน แต่ก็มีเครื่องเล่นเด็กไว้ด้วย พวกสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่มีสนามเด็กเล่น ก็จะพาเด็กเดินไปเล่นตามสวนสาธารณะเหล่านี้ และจะมีสวนใหญ่ไว้ใช้ร่วมกันในแต่ละพื้นที่อีก
และเขตก็ยังจัดกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กได้ร่วมตลอดนะครับ มีงานอีเวนต์ประจำ บางทีจัดคอนเสิร์ต หรืองานแสดงละครจากนิทานเด็ก จัดในหอประชุมของเขตนั่นแหละครับ แล้วถ้าผู้ปกครองเหนื่อย หรือติดธุระ แต่พาลูกไปด้วยไม่ได้ เขาก็มีบริการจัดหาคนช่วยเลี้ยงดูเด็กระยะสั้น ซึ่งหลักๆ ก็เป็นผู้สูงอายุที่เกษียณแล้วในเขต ที่ขึ้นทะเบียนไว้ ถ้าต้องการความช่วยเหลือก็ติดต่อเขต แล้วเขาก็จะแนะนำคนให้ ให้เจอกันก่อนทำความรู้จัก แล้วก็นัดวันเวลา แล้วถึงวันก็พาไปฝากไว้ ก็มีค่าใช้จ่ายรายชั่วโมง แต่ก็ไม่ได้แพงมากครับ นอกนั้นก็มีค่าใช้จ่ายตามจริง เช่นถ้าพาขึ้นรถไฟไปไหน เราก็จ่ายคืนให้เท่านั้นครับ (อ้อ เด็กญี่ปุ่นขึ้นรถไฟฟรีจนกว่าจะเรียนประถมนะครับ)
นี่ไล่มาซะยาว ถ้าเอาจริงๆ แยกบทความยังได้เลยครับ เพราะนี่แค่เขตเดียว ที่นี่มีคนเขียนเรื่องนี้เยอะมาก เพราะเป็นเรื่องสำคัญครับ แล้วใครอยากได้แนวทางไหนก็เลือกเขตนั้น อย่างเช่นถ้าอยากจะให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยดังๆ นี่ ส่วนใหญ่เขาจะย้ายไปเขตบุงเคียว เพราะเป็นเขตที่มีจุดเด่นคือเรื่องการศึกษานี่แหละครับ แล้วถ้าไปต่างจังหวัดนี่ยิ่งมีเยอะครับ ของพวกนี้แต่ละท้องถิ่นเขาก็ต้องแข่งกันเพื่ออนาคตของตัวเอง
นี่แหละครับ การจะมีลูกทั้งที มันเรื่องใหญ่ ถ้ารัฐเข้าใจ และเอาครอบครัวเด็กเป็นศูนย์กลาง ก็จะมีนโยบายกระตุ้นแบบนี้ออกมา รวมถึงการกระจายอำนาจที่ทำให้ท้องถิ่นต้องแข็งขันกันเองอีกด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะเฉื่อยชากันไป นี่ขนาดญี่ปุ่นพยายามขนาดนี้ ตัวเลขยังไม่ค่อยกระเตื้องเลยครับ ส่วนนึงคงไม่ใช่แค่ปัญหาคนไม่อยากมีลูก แต่ยุคนี้ ขนาดแต่งงานมีคู่ คนยังไม่ค่อยสนใจเลย ตรงนี้ก็เป็นปมต่อไปที่ต้องแก้ไขกันล่ะครับ
เขียนโดย ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล